การสู้รบอิสราเอล-ฮามาสขยายวง! 5 เรื่องต้องรู้เมื่อสงครามเข้าสู่วันที่หก

12 ต.ค. 2566 | 00:41 น.

การสู้รบระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ซึ่งเป็นกลุ่มปาเลสไตน์ติดอาวุธ ย่างเข้าสู่วันที่หกแล้วในวันนี้ (12 ต.ค.) สถานการณ์สงครามยังทวีความรุนแรงและมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย รวมทั้งแนวโน้มที่ว่าการเผชิญหน้าด้วยความรุนแรงในครั้งนี้อาจยืดเยื้อและขยายวงกว้าง

 

ต่อไปนี้เป็น 5 เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับ สถานการณ์สงครามระหว่างอิสราเอล และ กลุ่มติดอาวุธฮามาส ที่เริ่มมาตั้งแต่เช้าตรู่วันเสาร์ที่ 7 ต.ค. 2566 จนถึงขณะนี้ (12 ต.ค.) ย่างเข้าสู่วันที่หกแล้ว มีผู้เสียชีวิตของทั้งสองฝ่ายมากกว่า 2,200 ราย

1.การสู้รบเริ่มขยายวง อิสราเอลโดนโจมตี 3 ด้าน

นอกจากการสู้รบกับกลุ่มฮามาส ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศอิสราเอล เขตฉนวนกาซาและเวสต์แบงก์ มีรายงานว่าเมื่อวันพุธ (11 ต.ค.) “กลุ่มติดอาวุธเฮซบอลเลาะห์” ในเลบานอน ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของอิสราเอลได้ใช้จรวดที่มีความเเม่นยำสูงจู่โจมไปยังที่มั่นของอิสราเอล เพื่อเป็นการตอบโต้การที่ฝ่ายอิสราเอลได้สังหารสมาชิกของกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ 3 คนก่อนหน้านี้

การโจมตีของกลุ่มเฮซบอลเลาะห์เลบานอน ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธที่เป็นพันธมิตรกับปาเลสไตน์ และได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน ทำให้กองทัพอิสราเอลต้องระดมยิงจรวดโจมตีกลับไป นับเป็นการเปิดศึกอีกด้าน ทางทิศเหนือของอิสราเอล ขณะนี้ยังไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการปะทะของทั้งสองฝ่าย

อิสราเอลกำลังเผชิญศึก 3 ด้าน ทั้งกับกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา และกลุ่มติดอาวุธในเลบานอนและซีเรีย

กองทัพอิสราเอลเปิดเผยล่าสุดวานนี้ (11 ต.ค.) ว่าได้โจมตีฐานที่มั่นของเฮซบอลเลาะห์ ด้วยปฏิบัติการทางอากาศ หลังจากฐานที่ตั้งทางทหารของอิสราเอลในเมืองอาหรับ อัลอารามชี ตกเป็นเป้าถูกระดมยิงด้วยปืนต่อต้านรถถังของฝ่ายตรงข้ามตลอดทั้งวัน สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ความรุนเเรงที่เกิดขึ้นล่าสุดย้อนภาพความทรงจำของฤดูร้อนเมื่อ 17 ปีก่อน ซึ่งในครั้งนั้น กลุ่มเฮซบอลเลาะห์ที่มีอิหร่านหนุนหลังและกองทัพอิสราเอล ได้ปะทะกันอย่างรุนเเรงเป็นสงครามยืดเยื้อถึง 1 เดือน ส่วนความเคลื่อนไหวบริเวณแนวชายแดนอิสราเอล-เลบานอนในขณะนี้ พบว่า เฮซบอลเลาะห์ได้ระดมกำลังและอาวุธตามเเนวชายเเดนเลบานอนในลักษณะเตรียมเข้าสู่ภาวะสงคราม ทำให้กองทัพอิสราเอลต้องหันมาสนใจพิกัดความขัดเเย้งในบริเวณตอนเหนือของประเทศด้วยเช่นกัน ระหว่างที่ทางใต้กำลังทำศึกกับกลุ่มฮามาส

เรื่องยังไม่จบเพียงเท่านั้น เมื่อแนวชายแดนทางด้านตะวันออกของอิสราเอลบริเวณที่ราบสูงโกลานด้านติดกับซีเรีย เริ่มมีปัญหาเช่นกันเมื่อกองทัพอิสราเอลระบุว่า ถูก “กองกำลังไม่ทราบสังกัด” เปิดฉากยิงเข้าใส่ด้วยปืนเล็กทำให้อิสราเอลต้องยิงตอบโต้กลับไปด้วยปืนครกและปืนใหญ่

ภาวะสงครามยังคงทวีความรุนแรงและต่อเนื่อง

เรื่องนี้ทำให้ประธานาธิบดี​โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ซึ่งเป็นมหาอำนาจชาติพันธมิตรของอิสราเอล ต้องออกมาเตือนไม่ให้บรรดากลุ่มต่างๆที่เป็น “ปฏิปักษ์ของอิสราเอล” ฉวยโอกาสมาซ้ำเติมอิสราเอลจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ และขยายวงของสงครามไปสู่ส่วนอื่น ๆ ของตะวันออกกลาง

2. อิสราเอลตั้ง “รัฐบาลเอกภาพฉุกเฉิน” รับมือไฟสงคราม

เพื่อเป็นการรับมือกับภาวะสงครามที่ส่อเค้ารุนแรงและยืดเยื้อ นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ผู้นำอิสราเอล ได้ประกาศจัดตั้ง “รัฐบาลเอกภาพฉุกเฉิน” ที่มีแกนนำฝ่ายค้านเข้าร่วมด้วยหลายคน เพื่อความสมานฉันท์ในการรับมือกับภาวะสงครามที่เขตฉนวนกาซาซึ่งเป็นศูนย์ปฏิบัติการของกลุ่มฮามาส ที่กองทัพอิสราเอลได้ปิดล้อม ตัดน้ำตัดไฟ ตัดการลำเลียงเชื้อเพลิง-อาหาร และระดมโจมตีทางอากาศเพื่อเตรียมการบุกทางภาคพื้นที่เป็นลำดับต่อไป รวมทั้งเพื่อรับมือการปะทะกับกลุ่มอื่นๆตามแนวชายแดนทั้งทางทิศเหนือและตะวันออกที่ส่อเค้าขยายวง

ทั้งนี้ รัฐบาลเอกภาพฉุกเฉินที่นายเนทันยาฮูเรียกว่า “คณะรัฐมนตรียามสงคราม” ซึ่งเป็นการจับมือของฝ่ายรัฐบาลกับบรรดาฝ่ายค้าน รวมทั้งนาย เบนนี เเกนต์ส หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านในปัจจุบัน ซึ่งเป็นนักการเมืองสายกลางและเคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานข่าวการจัดตั้งรัฐบาลเอกภาพเเห่งชาติครั้งนี้ โดยอ้างอิงข้อมูลจากเเถลงการณ์ร่วมที่พรรค National Unity ของนายแกนต์ส แจกให้กับสื่อ

นายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูประกาศตั้ง "รัฐบาลเอกภาพฉุกเฉิน" เพื่อรับมือไฟสงคราม

 

3.แบ็คอัพสำคัญ: สหรัฐส่งอาวุธล็อตแรกถึงอิสราเอล เสริมเขี้ยวเล็บสู้ฮามาส

นายเอลี โคเฮน รัฐมนตรีต่างประเทศอิสราเอล แสดงความขอบคุณประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ หลังจากที่อาวุธล็อตแรกที่สหรัฐส่งให้กับอิสราเอลเพื่อใช้ในการทำสงครามกับกลุ่มฮามาสเดินทางมาถึง

รายงานข่าวระบุว่า เครื่องบินของสหรัฐ ซึ่งเป็นพันธมิตรเหนียวแน่นของอิสราเอล เดินทางมาถึงฐานทัพอากาศทางใต้ของอิสราเอลเมื่อวันพุธ (11 ต.ค.) พร้อมกับอาวุธยุทโธปกรณ์ลอตแรกเพื่อเสริมขีดความสามารถของอิสราเอลในการต่อสู้กับกลุ่มฮามาส

กองทัพอิสราเอลทวีตวานนี้ (11 ต.ค.) ระบุอาวุธล็อตแรกของสหรัฐที่ส่งมาช่วยเสริมเขี้ยวเล็บ ได้เดินทางมาถึงแล้ว

ข่าวระบุว่าทางด้านน่านน้ำ เรือบรรทุกเครื่องบินยูเอสเอส เจอร์ราลด์ อาร์ ฟอร์ด ของสหรัฐ พร้อมด้วยกองเรือลาดตระเวนและเรือพิฆาต ได้เดินทางมาถึงทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออกแล้วเพื่อพร้อมให้การสนับสนุนอิสราเอล โดยกองเรือของสหรัฐอยู่ในระยะที่จะสามารถสนับสนุนทางอากาศหรือทางเลือกการโจมตีระยะไกลให้กับอิสราเอล หากมีการร้องขอ 

นอกจากนี้ ทำเนียบขาวยังเปิดเผยว่า เรือบรรทุกเครื่องบินลำที่ 2 ของสหรัฐ พร้อมจะให้การสนับสนุนอิสราเอลในทันที หลังจากกองเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรก (ยูเอสเอส เจอร์ราลด์ อาร์ ฟอร์ด) ถูกส่งเข้าประจำการในภูมิภาคแล้ว นายจอห์น เคอร์บี โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ กล่าวว่า เรือบรรทุกเครื่องบินยูเอสเอส ดไวท์ ดี ไอเซนฮาว จะเดินทางถึงทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเร็วๆ นี้ ในภารกิจที่วางแผนไว้ล่วงหน้าและมั่นใจว่าจะพร้อมประจำการได้ทันทีถ้าจำเป็น

เคอร์บี ยังเปิดเผยด้วยว่า สหรัฐมีความกังวลใหญ่หลวงต่อกรณีที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนยิงจรวดโจมตีเข้าใส่ทางภาคเหนือของอิสราเอล "เรากำลังจับตาเรื่องนี้ด้วยความกังวล มีจรวดบางลูกถูกยิงโจมตีมาจากเลบานอนเข้าสู่ชายแดนทางเหนือของอิสราเอล ซึ่งแน่นอนว่ามันมาจากฮิซบอลเลาะห์"

เรือบรรทุกเครื่องบินยูเอสเอส เจอร์ราลด์ อาร์ ฟอร์ด ของสหรัฐ พร้อมให้ความช่วยเหลืออิสราเอลในการสู้รบ

 

4.ซาอุฯยันร่วมมือพันธมิตรป้องกันสงครามบานปลาย

รัฐบาลซาอุดีอาระเบีย ประเทศมหาอำนาจในตะวันออกกลาง ออกแถลงการณ์วานนี้ (11 ต.ค.) ระบุว่า ซาอุดีอาระเบียจะใช้ความพยายามร่วมกับพันธมิตรทั้งในและนอกภูมิภาคเพื่อป้องกันการลุกลามของสถานการณ์การสู้รบระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส แถลงการณ์ยังระบุว่า ซาอุดีอาระเบียจะยังคงสนับสนุนให้ชาวปาเลสไตน์ได้รับสิทธิตามกฎหมาย และบรรลุสันติภาพอย่างยั่งยืน

ขณะที่ประธานาธิบดีเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ผู้นำตุรกี กล่าวว่า ตุรกีพร้อมที่จะเป็นคนกลางเจรจาไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์เพื่อยุติสงครามระหว่างทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้ ปธน.เออร์โดกันยังได้สนทนาทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีอิสราเอลและปาเลสไตน์เพื่อหารือสถานการณ์ที่เกิดขึ้น "ตุรกีพร้อมทำในสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อยุติความขัดแย้ง และรื้อฟื้นสันติภาพโดยเร็วที่สุด" 

ทั้งนี้ ตุรกีให้การรับรองรัฐอิสราเอลตั้งแต่ปีพ.ศ. 2492 และสนับสนุนการตั้งรัฐปาเลสไตน์ โดยตุรกีมีความสัมพันธ์ทางการทูตทั้งกับอิสราเอลและปาเลสไตน์

5.สรุปยอดผู้เสียชีวิตของทั้งสองฝ่าย

ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 11 ต.ค. 2566 (ซึ่งเป็นวันที่ห้าของการสู้รบ) เผยแพร่โดยโฆษกกองทัพอิสราเอล ระบุว่า จำนวนผู้เสียชีวิตในอิสราเอลจากการโจมตีของกลุ่มฮามาสเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 1,200 ราย ขณะที่จำนวนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บพุ่งทะลุ 2,700 ราย นอกจากนี้ กองกำลังป้องกันตนเองของอิสราเอล (IDF) ยังเปิดเผยว่า มีการพบร่างของนักรบฮามาสราว 1,500 ศพทางตอนใต้ของอิสราเอล

จำนวนผู้เสียชีวิตทั้งฝ่ายอิสราเอลและปาเลสไตน์พุ่งขึ้นเหนือระดับ 2,200 รายเมื่อวันพุธ (11 ต.ค.2566)

ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขปาเลสไตน์เปิดเผยว่า ยอดผู้เสียชีวิตในเขตฉนวนกาซาและเขตเวสต์แบงก์ ได้พุ่งขึ้นแตะ 1,078 รายจากการโจมตีของอิสราเอล และบาดเจ็บอีก 5,314 ราย