ทศวรรษแห่งความฝัน “พลังสตรีในรัฐสภาอินเดีย” แต่ใช่ว่าจะเปลี่ยนแปลงง่ายๆ

23 ก.ย. 2566 | 08:42 น.

“พลังสตรีในรัฐสภาอินเดีย” หลังรัฐสภาอินเดียเพิ่งผ่านร่างกฎหมายสำคัญโดยจะสงวนที่นั่ง 1 ใน 3 ในสภาผู้แทนราษฎร แต่ใช่ว่าจะเปลี่ยนแปลงง่ายๆ แม้การความเท่าเทียมระหว่างเพศเป็นสิ่งสำคัญในการบรรลุ "เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน" ภายในปี 2030

การมีส่วนร่วมและความเป็นผู้นำที่เท่าเทียมกันของผู้หญิงในชีวิตทางการเมืองและชีวิตสาธารณะ  ถือเป็นสิ่งสำคัญในการบรรลุ "เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน" ภายในปี 2030 แต่ตามข้อมูลแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงมีบทบาทน้อยในทุกระดับของการตัดสินใจทั่วโลก และการบรรลุความเท่าเทียมทางเพศในชีวิตทางการเมืองยังห่างไกลจากความเป็นจริง 

แต่เมื่อเร็วๆ นี้มีประเด็นที่น่าสนใจและถือว่าเป็นความคืบหน้าสำหรับ "รัฐสภาอินเดีย" ที่ได้ผ่านร่างกฎหมายสำคัญโดยจะสงวนที่นั่ง 1 ใน 3 หรือประมาณ 33% ในสภาผู้แทนราษฎรและสมัชชาของรัฐสำหรับผู้หญิง ถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญสำหรับกลุ่มสิทธิที่รณรงค์เพื่อให้มีการนำเสนอเพศสภาพที่ดีขึ้นในทางการเมืองมานานหลายทศวรรษ

ร่างพระราชบัญญัติสงวนสิทธิสตรีได้รับเสียงสนับสนุนเกือบเป็นเอกฉันท์จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยมีเพียง 2 คนเท่านั้นที่ลงคะแนนไม่เห็นด้วย คาดว่าการผ่านสภาสูงจะเป็นไปอย่างราบรื่นด้วยการสนับสนุนทางการเมืองในวงกว้าง 

ร่างกฎหมายดังกล่าวได้รับการเสนอโดย "พรรคภารติยะ ชนตะ (BJP)" ซึ่งนำโดย นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ในการประชุมรัฐสภาสมัยพิเศษเมื่อต้นสีปดาห์ที่ผ่านมา โมดีกล่าวในรัฐสภาหลังจากที่ร่างกฎหมายผ่านไปแล้ว โดยเรียกว่า "กฎหมายประวัติศาสตร์" แต่ก็มีบางคนแสดงท่าทีว่าอาจต้องใช้เวลาหลายปีกว่าโควตาจะถูกนำมาใช้

 

 

CNN รายงานว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวถูกอภิปรายกันในรัฐสภานานถึง 8 ชั่วโมง มีการต่อสู้กันอย่างดุเดือดระหว่างพรรค BJP และพรรค National Congress ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ว่าใครควรได้รับเครดิตร่างกฎหมายนี้ 

ความพยายามผ่านร่างกฎหมายมีถึง 6 ครั้ง ที่ต้องหยุดชะงักลงในรอบหลายทศวรรษนับตั้งแต่มีการประกาศใช้ครั้งแรกในปี 1996 โดยบางครั้งก็มีการต่อต้านอย่างรุนแรงจากฝ่ายนิติบัญญัติ มูลายัม ซิงห์ ยาดาฟ ซึ่งในขณะนั้นเป็นมุขมนตรีของรัฐอุตตรประเทศ ซึ่งเป็นรัฐทางตอนเหนือ ที่มีประชากรมากที่สุดของอินเดีย เสนอแนะในปี 2010 ว่าไม่ควรผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว เพราะจะทำให้ผู้ชายต้องเป่านกหวีดใส่เพื่อนร่วมงานหญิงในรัฐสภา

ที่บอกว่าโควตาอาจใช้เวลาหลายปีจึงจะมีผล ก็มาจากหลายเหตุผล เพราะมีกระบวนการบางอย่างที่จำเป็นต้องเกิดขึ้นก่อนเพื่อวางขอบเขตการเลือกตั้งของอินเดียใหม่ที่จะครบกำหนดในเดือนพฤษภาคม ปี 2024 การแบ่งเขตการเลือกตั้งใหม่หลังการสำรวจสำมะโนประชากรอินเดีย ซึ่งไม่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2011 โดย รัฐมนตรีมหาดไทยอินเดีย อมิต ชาห์ (Amit Shah) กล่าวว่า มีแนวโน้มว่ากฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้ในปี 2029

แม้โควต้าสตรีจะไม่มีผลใช้บังคับก่อนการเลือกตั้งระดับชาติในปีหน้า แต่การผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวในรัฐสภาถูกมองว่าเป็นการส่งเสริม โมดีและพรรคของเขาก่อนการเลือกตั้งซึ่งเขาจะลงสมัครรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3 

แม้ว่าอินเดียจะมีความก้าวหน้าในประเด็นสิทธิสตรีช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่อินเดียยังคงเป็นประเทศที่มี "ปิตาธิปไตย" (Patriarchy) อย่างลึกซึ้ง ซึ่งหมายถึง "ระบบชายเป็นใหญ่" ทำให้สังคมอินเดียถูกมองว่าเป็นมีความเหลื่อมล้ำทางเพศมากที่สุดแห่งหนึ่งบนโลก 

นับตั้งแต่อินเดียได้รับเอกราชในปี 1947 มีนายกรัฐมนตรีหญิงหนึ่งคน "อินทิรา คานธี" ดำรงตำแหน่งผู้นำของประเทศสองครั้งก่อนการลอบสังหารในปี 1984 ตามมาด้วย ดรูปาดี เมอร์มู นักการเมืองหญิงจากชนเผ่าสันธาล ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของอินเดีย กลายเป็นชนเผ่าคนแรกของอินเดียที่ได้ดำรงตำแหน่งนี้ 

ทศวรรษแห่งความฝัน “พลังสตรีในรัฐสภาอินเดีย” แต่ใช่ว่าจะเปลี่ยนแปลงง่ายๆ

แต่หากมองกว้างมากกว่านั้น จากข้อมูลของ UN Women ทั่วโลก สัดส่วนโดยรวมของที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรที่ผู้หญิงครอบครองนั้นอยู่ที่ประมาณ 26 % เพิ่มขึ้นจาก 11 % ในปี 1995

ปัจจุบันมีเพียง 6 ประเทศเท่านั้นที่สามารถมีสตรีได้ 50 % ขึ้นไปในรัฐสภาในสภาเดี่ยวหรือสภาล่าง สาธารณรัฐรวันดา 61 % ตามมาด้วยคิวบา 53 % นิการากัว 52%  เม็กซิโก 50 % นิวซีแลนด์ 50 % และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 50%

อีก 23 ประเทศเข้าถึงหรือเกิน 40 % รวมถึง 13 ประเทศในยุโรป 6 ประเทศในแอฟริกา 3 ประเทศในละตินอเมริกาและแคริบเบียน และ 1 ประเทศในเอเชีย - ติมอร์เลสเต

ไต้หวัน ซึ่งไม่นับรวมอยู่ในข้อมูลของสหประชาชาติมีตัวแทนผู้หญิงในสภานิติบัญญัติสูงเป็นอันดับ 2 ในเอเชีย รองจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 

ข้อมูล 

India’s lower house votes to reserve a third of seats for women

Women in parliament: Which countries are making progress?

Facts and figures: Women’s leadership and political participation

Taiwan has highest percentage of female lawmakers in East Asia: GEC

Indian parliament sets aside 33% of seats for women

India agrees to reserve a third of parliament seats for women. But the change could still take years