เมื่ออำนาจเครมลินถูกท้าทาย “กบฏแวกเนอร์” สะท้อนจุดอ่อนของบัลลังก์ปูติน

25 มิ.ย. 2566 | 22:42 น.

การก่อกบฏท้าทายอำนาจเครมลินโดยนายเยฟเกนี พริโกชิน หัวหน้ากลุ่มทหารรับจ้าง แวกเนอร์ กรุ๊ป (Wagner Group) และกองกำลังของเขาซึ่งบุกยึดเมืองสำคัญทางชายแดน พร้อมเคลื่อนกำลังพลมุ่งหน้าสู่กรุงมอสโก สร้างความแตกตื่นให้กับรัสเซียเป็นอย่างมากช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

แต่สุดท้ายเหตุการณ์ไม่บานปลาย กลุ่มกบฏแวกเนอร์ สามารถบรรลุข้อตกลงสงบศึกกับ รัสเซีย โดยมีนายอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ประธานาธิบดีเบลารุสเป็นคนกลางไกล่เกลี่ย แม้จะไม่เกิดการปะทะชโลมเลือดในกรุงมอสโก แต่เหตุการณ์ครั้งนี้สร้างความเสื่อมเสียให้กับ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้นำที่พร้อมจะลงโทษผู้ที่กล้าท้าทายอำนาจของเขาอย่างไม่ปราณี ที่สำคัญคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจมีผลเขย่าบัลลังก์ของปูตินในระยะยาว

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า การก่อกบฏแบบสายฟ้าแลบของ นายเยฟเกนี พริโกชิน ผู้นำกองกำลังนักรบรับจ้างเอกชนของรัสเซียรายนี้ ทำให้มีการตั้งคำถามถึงความสามารถของปธน.ปูตินในการนำกองทัพรัสเซียทำสงครามในยูเครน และอาจเป็นการ “เปิดช่อง” ให้ผู้ที่ไม่พอใจปูตินกลุ่มอื่น ๆ ลุกขึ้นมาท้าทายการยึดครองอำนาจตลอดช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาของเขา

รายงานข่าวระบุว่า หลังจากที่นายอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ผู้นำเบลารุส เข้ามาเป็นตัวกลางจัดเจรจาไกล่เกลี่ยลดความตึงเครียดระหว่างนายพริโกชินและปูติน ฝ่ายปูตินยอมยกเลิกการตั้งข้อหาก่อการกบฎให้กับพริโกชินและกองกำลังนักรบรับจ้างแวกเนอร์ของเขาทั้งหมด ไม่ต้องรับโทษคดีความทางอาญาแต่อย่างใด โดยนายพริโกชินจะเดินทางไปพำนักในเบลารุส ขณะที่นักรบแยกย้ายกลับเข้าฐาน

นายเยฟเกนี พริโกชิน หัวหน้ากลุ่มทหารรับจ้าง แวกเนอร์ กรุ๊ป

แน่นอนว่า หลังเหตุการณ์กบฏสายฟ้าแลบครั้งนี้ หลายฝ่ายตั้งคำถามเกี่ยวกับความมั่นคงของปธน.ปูติน และการกุมอำนาจของเขาในระยะยาว หนึ่งในผู้ที่เห็นว่า เรื่องนี้ไม่ธรรมดาและส่งนัยยะสำคัญ คือนายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเขาชี้ให้เห็นว่า เมื่อ 16 เดือนก่อน ปธน.ปูติน ตั้งท่าจะยึดกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน แต่ว่าในวันนี้ ปูตินกลับเป็นฝ่ายที่ต้องมาป้องกันกรุงมอสโก เมืองหลวงของรัสเซีย จากกองกำลังที่นำโดยอดีตคนสนิทของตน ซึ่งก็คือนายพริโกชินกับกองกำลังนักรบรับจ้างของเขาที่เคยเคียงบ่าเคียงไหล่กับกองทัพรัสเซียในการสู้รบบุกยูเครน

“ผมคิดว่าเราได้เห็นรอยร้าวที่เพิ่มมากขึ้นของรัสเซีย” นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ กล่าว

“ผมคิดว่าเราได้เห็นรอยร้าวที่เพิ่มมากขึ้นของรัสเซีย” นายบลิงเคนให้สัมภาษณ์ในรายการ Meet the Press ของสถานีโทรทัศน์เอ็นบีซี และให้ความเห็นว่า ยังเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่า “รอยร้าว” ที่เกิดขึ้นแล้วนี้ จะนำไปสู่อะไร แต่แน่นอนว่าปูตินมีคำถามที่ต้องตอบอีกมากมายในอนาคตข้างหน้า

ส่วนการวิเคราะห์เชิงลึกว่า การก่อกบฏสายฟ้าแลบที่เกิดขึ้นและจบลงอย่างรวดเร็วของกลุ่มแวกเนอร์จะส่งผลอย่างไรต่อสงครามในยูเครนบ้าง คำตอบคือเรื่องนี้ยังไม่ชัดเจน แต่ที่แน่ ๆคือ การก่อการของนายพริโกชิน ทำให้มีการดึงนักรบสองกลุ่มออกจากสมรภูมิยูเครน คือทหารรับจ้างแวกเนอร์ และนักรบเชเชนที่ถูกส่งไปสกัดนักรบกลุ่มแวกเนอร์อีกที

การเกิดกบฏครั้งนี้ ยังทำให้ชาวยูเครนมีความหวัง เช่นเดียวกับที่นักวิเคราะห์บางคนมองว่า การสู้กันเองของรัสเซีย จะเป็น “โอกาสทอง” ของทหารยูเครนที่กำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการสู้กลับ เพื่อยึดคืนพื้นที่บางส่วนที่ถูกทหารรัสเซียยึดครองเอาไว้

ส่วนคำถามที่ว่า หลังจากนี้แล้ว จะเกิดอะไรขึ้นกับกลุ่มแวกเนอร์ที่พริโกชินเป็นเจ้าของ ซึ่งที่ผ่านมานั้น กลุ่มนักรบรับจ้างแวกเนอร์ได้ถูกส่งไปในหลายประเทศเพื่อต่อสู้และรักษาผลประโยชน์ให้กับรัสเซีย

คำตอบก็คือ ภายใต้ข้อตกลงที่เกิดขึ้นเมื่อสุดสัปดาห์ ซึ่งหยุดยั้งไม่ให้พริโกชินเคลื่อนกำลังพลไปถึงกรุงมอสโกได้สำเร็จ กองกำลังแวกเนอร์ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกบฏครั้งนี้ จะได้รับข้อเสนอให้ทำสัญญาโดยตรงกับกองทัพรัสเซีย และทำให้พวกเขาต้องตกอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของกองทัพ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่สร้างความไม่พอใจให้กับพริโกชินมาโดยตลอด

นายฟิลลิปส์ โอ’ไบรอัน ศาสตราจารย์ด้านยุทธศาสตร์ศึกษา แห่งมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูวส์ ในสก็อตแลนด์ แสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ข้อตกลงระหว่างพริโกชินและปูติน ดูเป็นการจัดการ “อย่างเร่งรีบ” เพื่อที่จะปกป้องพริโกชิน เงิน และครอบครัวของเขา แต่ไม่มีใครรู้ว่าข้อตกลงนั้นจะช่วยรักษาแวกเนอร์กรุ๊ปไว้ได้หรือไม่ ไม่แน่ชัดว่ามีทหารรับจ้างจำนวนมากน้อยแค่ไหนที่จะเดินทางไปเบลารุสกับพริโกชิน และมีอีกเท่าไหร่ที่จะต้องถูกบังคับให้ต้องทำสัญญากับกองทัพรัสเซีย

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (24 มิ.ย.) กองกำลังของพริโกชินได้บุกเข้าควบคุมฐานทัพทางตอนใต้สองแห่งของรัสเซีย จากนั้นก็มุ่งหน้าเคลื่อนพลสู่กรุงมอสโกโดยห่างเพียง 200 กิโลเมตร ก่อนที่จะมีการเจรจาหย่าศึก

ขณะที่กรุงมอสโกได้เตรียมรับมือกับการมาถึงของนักรบรับจ้างแวกเนอร์โดยการติดตั้งจุดตรวจพร้อมกับรถหุ้มเกราะและกองกำลังทางตอนใต้ของกรุงมอสโก โดยมีการดึงเอาทหารเชเชนประมาณ 3,000 นายจากสมรภูมิรบในยูเครนมาเพื่อเตรียมรับมือ

นอกจากนี้ กองกำลังรัสเซียพร้อมอาวุธยังได้ติดตั้งจุดตรวจในบริเวณชานเมืองตอนใต้ของกรุงมอสโก และมีการขุดบางส่วนของทางหลวงเพื่อชะลอการเคลื่อนที่ของกองกำลังแวกเนอร์อีกด้วย แสดงถึงความพร้อมระวังภัยและป้องกันตนเองของมอสโกในระดับเข้มข้น

สำนักข่าวเอพีได้บันทึกภาพวีดีโอในเมืองรอสตอฟ-ออน-ดอน (Rostov-on-Don) ของรัสเซียที่แสดงให้เห็นว่าผู้คนในเมืองส่งเสียงเชียร์กองกำลังของแวกเนอร์กรุ๊ปขณะที่ถอนกำลังออกไป บางคนได้วิ่งเข้าไปจับมือกับนายพริโกชินที่นั่งอยู่ในรถ SUV ซึ่งภาพเหล่านี้อาจสร้างความกังวลให้กับประธานาธิบดีปูติน

หลังจากที่กองกำลังแวกเนอร์ได้ถอนตัวออกไปแล้ว สถานการณ์ในกรุงมอสโกก็กลับมาสู่ความปกติอีกครั้ง

ในเวลาต่อมา สำนักข่าวรัสเซียได้รายงานว่า กองกำลังแวกเนอร์ทั้งหมดได้ถอนตัวออกจากภูมิภาคลิเปตสค์​ (Lipetsk) ที่อยู่ระหว่างกรุงมอสโกและเมืองรอสตอฟไปแล้วด้วย

ช่วงบ่ายวันอาทิตย์ (25 มิ.ย.) หลังจากที่กองกำลังแวกเนอร์ได้ถอนตัวออกไปแล้ว สถานการณ์ในกรุงมอสโกก็กลับมาสู่ความปกติอีกครั้ง มีการนำเอาจุดตรวจออกไป แต่บริเวณจัตุรัสแดงยังห้ามไม่ให้คนเข้า

สถาบันสงครามศึกษา (Institute for the Study of War) ของสหรัฐ ซึ่งติดตามสงครามยูเครนมาตั้งแต่ต้น ได้เตือนว่า “รัฐบาลกรุงเครมลินกำลังเผชิญกับดุลยภาพที่ไม่มั่นคงเป็นอย่างมาก” และยังกล่าวว่า “ข้อตกลงที่เกิดขึ้นเป็นการแก้ปัญหาในระยะสั้นเท่านั้น ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาระยะยาว”

ก่อนหน้านี้ พริโกชินได้พยายามเรียกร้องให้รัสเซียขับนายเซอร์เกย์ ชอยกู ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของชอยกูในการทำสงครามของรัสเซียในยูเครนมาโดยตลอด ล่าสุดพริโกชินยังอ้างว่า การก่อกบฏของเขา เป็นการตอบโต้ที่ฐานที่มั่นของนักรบแวกเนอร์กรุ๊ปในยูเครนถูกกองทัพรัสเซียโจมตีเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา แต่สำนักข่าวกรองของสหรัฐฯ รายงานว่า นายพริโกชินนั้นได้ซ่องสุมกำลังใกล้กับชายแดนรัสเซียมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว

โดยมีความเป็นไปได้ว่า แรงจูงใจในการก่อกบฏของพริโกชิน อาจเกิดจากการที่กระทรวงกลาโหมของรัสเซียได้ออกมาประกาศโดยได้รับความเห็นชอบจากปธน.ปูติน ผู้นำรัสเซียว่า ทหารรับจ้างของบริษัทเอกชนทั้งหมด ซึ่งรวมทั้งนักรบของแวกเนอร์ กรุ๊ป จะต้องทำสัญญาเข้ามาอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพรัสเซียภายในวันที่ 1 ก.ค.ที่จะถึงนี้  ซึ่งที่ผ่านมา นายพริโกชินได้คัดค้านและปฏิเสธที่จะทำตามคำสั่งนี้มาโดยตลอด

ข้อมูลอ้างอิง