“แอร์โดอาน” ว่าที่ประธานาธิบดีตุรกีสมัยที่ 3 กับข่าวฉาวตลอด 20 ปี

29 พ.ค. 2566 | 08:13 น.

“เรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน” ประธานาธิบดีของตุรกี ประกาศชัยชนะหลังเลือกตั้งรอบ 2 เมื่อ 28 พ.ค. จ่อนั่งเก้าอี้ผู้นำตุรกียาวนานที่สุด 3 ทศวรรษ รวมตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มาทำความรู้จักเขาให้มากขึ้น และที่มาของเสียงวิจารณ์ “โกงเลือกตั้ง-เผด็จการที่สุด”

การเลือกตั้งประธานาธิบดีตุรกี เมื่อวันอาทิตย์ ( 28 พ.ค.)  ผลการนับคะแนนไม่เป็นทางการ ปรากฎว่า "นายเรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน" หัวหน้าพรรค Justice and Development Party (AKP) วัย 69 ปี ได้คะแนนเหนือกว่า “นายเคมาล คิลิชดาโรกลู” คู่แข่งผู้นำฝ่ายค้าน โดยนายแอร์โดอานได้คะแนนไป 52.16% แม้ยังต้องรอผลอย่างเป็นทางการ แต่ค่อนข้างชัดเจนว่าใครเป็นผู้ชนะ 

นายคิลิชดาโรกลู ผู้นำฝ่ายค้านที่ยังคงไม่ออกมายอมรับความพ่ายแพ้อย่างชัดเจน โดยกล่าวว่า นี่เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ยุติธรรมที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา 

การเลือกตั้งประธานาธิบดีตุรกีครั้งนี้ เคยหยุดชะงักและเลื่อนมาหลายครั้ง เดิมทีกำหนดวันที่ 18 มิ.ย. 2565 แต่รัฐบาลได้เลื่อนการเลือกตั้งออกไป เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ตรงกับการสอบของมหาวิทยาลัย การแสวงบุญฮัจญ์ วันหยุดฤดูร้อน รวมถึงผลกระทบจากแผ่นดินไหว

การเลือกตั้งครั้งนี้ "นโยบายหาเสียงหลัก" ของพรรคส่วนใหญ่ คือ การฟื้นฟูประเทศ จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รวมถึง "เรื่องเศรษฐกิจ" เพราะค่าครองชีพในประเทศสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว 

จำนวนมีผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งตุรกีมีทั้งหมด 64 ล้านคน โดย 60.9 ล้านคนในตุรกี และ 3.2 ล้านคนในต่างประเทศ 

เส้นทางการเมืองเกือบ 3 ทศวรรษของ “แอร์โดอาน” 

ก่อนลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในปี 2557 เขามาจากภูมิหลัง "การเมืองอิสลามมิสต์ (Islamist)" ซึ่งเป็นประชาธิปไตยอนุรักษนิยม เขาส่งเสริมอนุรักษนิยมทางสังคมและนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม

จุดเริ่มต้นก่อนเข้าสู่เส้นทางการเมือง แอร์โดอันเคยเล่นฟุตบอลให้กับทีมคาซิมบาซา ก่อนได้รับเลือกตั้งเข้ามาดำรงตำแหน่ง “นายกเทศมนตรีอิสตันบูล” ตั้งแต่ปี 2537-2541 ภายใต้สังกัด "พรรคสวัสดิการอิสลามมิสต์ "

จากนั้นในปี 2544 เขาก่อตั้ง "พรรคความยุติธรรมและการพัฒนา (AKP)"  ซึ่งเป็นอนุรักษนิยมสายกลาง  และนำพรรคชนะการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2545, 2550 และ 2554  ได้เป็น "นายกรัฐมนตรี 3 สมัย"  ก่อนลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในปี 2557 

แอร์โดอาน ดำรงตำแหน่ง "ประธานาธิบดีมาแล้ว 2 สมัย"  ตั้งแต่ปี 2557 -ปัจจุบัน รวม 9 ปี  และเคยเป็นนายกรัฐมนตรีมา 3 สมัย ตั้งแต่ปี 2540 -2557 รวม 17 ปี  ทั้งนี้เมื่อนับรวมตำแหน่งผู้นำประเทศ ทั้ง 2 ตำแหน่ง เขาอยู่ในอำนาจถึง 26 ปี หากนับที่เขาชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้ ที่มีวาระตำแหน่งอีก 5 ปี เขาจะครองอำนาจบริหารตุรกี "ยาวนานถึง 3 ทศวรรษ" มากที่สุดในประวัติศาสตร์

 

ผู้นำตุรกีที่ถูกโลกประณามมากที่สุด?

ตลอดช่วง 5 ปีแรก ที่แอร์โดอานเข้ามาเป็นประธานาธิบดี เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์ ว่า เป็นผู้นำที่ "เผด็จการ โกงเลือกตั้ง กำจัดฝ่ายตรงข้ามทุกวิถีทาง และจำกัดเสรีภาพสื่อมากที่สุด” ทั้งนี้สรุปไทม์ไลน์ได้ดังนี้

  • ในปี 2556 "เกิดการประท้วงครั้งใหญ่" ในตุรกี  เพราะประชาชนมองว่านโยบายเขาเป็นเผด็จการ เขากล่าวโจมตีผู้ประท้วงและสั่งตำรวจสลายการชุมนุม มีผู้เสียชีวิต 22 คน บาดเจ็บจำนวนมาก รัฐบาลต่างประเทศและองค์การสิทธิมนุษยชนประณามเหตุดังกล่าว 
  • ปี 2556 ปีเดียวกัน "มีกรณีอื้อฉาวทุจริต" มูลค่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำไปสู่การจับกุมคนใกล้ชิดของแอร์โดอัน และตัวเขาเองก็ถูกกล่าวโทษด้วย
  • รัฐบาลเขายังถูกวิจารณ์ว่า “จำกัดเสรีภาพสื่อมากที่สุด” โดยละเมิดสิทธิมนุษยชนและปราบปรามสื่อมวลชนและสื่อสังคมออนไลน์ ในปี 2559 และ 2560 มีนักหนังสือพิมพ์ถูกขังในประเทศตุรกีมากที่สุดในโลก
  • ปี 2559 มีความพยายาม"รัฐประหาร" โดย "กลุ่มทหารนอกแถวของตุรกี" แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ นำไปสู่การกวาดล้างผู้เกี่ยวข้อง มีผู้ถูกจับกุมคุมขังจำนวนมากถึง 77,000 คน ทั้งทหาร ผู้สื่อข่าว ทนายความ ตำรวจ นักวิชาการ และนักการเมืองชาวเคิร์ต จุดนี้ ความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกเริ่มตึงเครียดมากขึ้น
  • ปี 2560 แอร์โดอาน เสนอทำประชามติเพื่อ "แก้ไขรัฐธรรมนูญ" ซึ่งจะยกเลิกตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” เปิดทางให้ประธานาธิบดีมีอำนาจเด็ดขาดในการ “แต่งตั้ง-ปลดรัฐมนตรี และผู้พิพากษา” รวมไปถึงมีเอกสิทธิ์คุ้มครองจากการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีใดๆ  


ผลงาน“แอร์โดอาน” ผดันตุรกีสู่ความทันสมัย

ทั้งนี้ แม้มีกระแสข่าวด้านลบจำนวนมาก หลังการมาทำหน้าที่ประธานาธิบดีสมัยแรก แต่แอร์โดอานยังได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอีกสมัยในปี 2561 เขารับตำแหน่งประธานาธิบดีพ่วงประมุขแห่งรัฐ และหัวหน้ารัฐบาลด้วย 

ทั้งนี้ในมุมของการสร้างความก้าวหน้าให้ตุรกี เขาพยามพัฒนาประเทศ "ไปสู่ความทันสมัย" ด้วยเช่นกัน โดยพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานขนานใหญ่ ชื่อโครงการไว้ว่า “เครซี่โปรเจกต์” และการยื่นเสนอเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) แต่ก็ไม่ได้รับการพิจารณาเข้าเป็นสมาชิก 

ทั้งนี้ แนวทางการบริหารประเทศของเขา "ไม่เคร่งครัดในแบบฉบับของมุสลิม" แต่เปิดกว้างกับชาวมุสลิมอนุรักษ์นิยมที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ และทำให้เศรษฐกิจของประเทศก้าวไปสู่ความรุ่งเรือง ทำให้ตุรกีเป็นที่ยอมรับในเวทีโลกมากขึ้น