"ซิลเวอร์เกต แบงก์"เลิกกิจการ ตอกย้ำความเปราะบางของตลาดคริปโต

09 มี.ค. 2566 | 09:39 น.

"ซิลเวอร์เกต แบงก์"เป็นกิจการล่าสุดในแวดวงคริปโต ที่ยังคงล้มต่อๆกันเป็นโดมิโนหลังจากการล้มละลายของ FTX อดีตกระดานเทรดคริปโตรายใหญ่ของโลกเมื่อปลายปีที่ผ่านมา

 

ซิลเวอร์เกต แคปิตอล ผู้ปล่อยสินเชื่อรายสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมคริปโตเคอร์เรนซี ได้ประกาศแผนเลิกกิจการ ธนาคารซิลเวอร์เกต แบงก์ (Silvergate Bank) ซึ่งเป็นธุรกิจในเครือเมื่อวันที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมา เซ่นพิษอุตสาหกรรม คริปโตเคอร์เรนซี ที่ยังคงทรุดตัวต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา (2565)

ทั้งนี้ ซิลเวอร์เกตฯ ประกาศว่า บริษัทจะยุติการดำเนินงานและขายสินทรัพย์ของธนาคารซิลเวอร์เกต แบงก์ เพื่อชำระหนี้ การประกาศดังกล่าวฉุดให้ราคาหุ้นของซิลเวอร์เกต แคปิตอล ดำดิ่งลงกว่า 43% ในการซื้อขายหลังตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กปิดทำการเมื่อวันพุธ (8 มี.ค.)

ธนาคารซิลเวอร์เกต แบงก์ (Silvergate Bank) จ่อเลิกกิจการ เซ่นพิษการล้มละลายของ FTX

รายงานข่าวระบุว่า ซิลเวอร์เกต แบงก์ ถือเป็น 1 ใน 2 ของธนาคารหลักที่ให้บริการสำหรับบริษัทที่ดำเนินการด้านคริปโต (อีกหนึ่งธนาคารคือ ซิกเนเจอร์ แบงก์ ซึ่งตั้งอยู่ในนิวยอร์ก)โดยซิลเวอร์เกต แบงก์ มีสินทรัพย์ประมาณ 11,000 ล้านดอลลาร์ นับว่ายังเป็นรองเมื่อเทียบกับธนาคารซิกเนเจอร์ฯ ที่มีสินทรัพย์มากกว่า 114,000 ล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม ซิลเวอร์เกต แบงก์ ได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤตล้มละลายของบริษัทเอฟทีเอ็กซ์ (FTX)ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่

"เราเชื่อว่าการระงับการดำเนินงาน (ของธนาคารซิลเวอร์เกตฯ)และทำการชำระหนี้ถือเป็นหนทางที่ดีที่สุด เมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ในอุตสาหกรรมคริปโต และการกำกับดูแลกฎระเบียบในช่วงนี้"ถ้อยแถลงของซิลเวอร์เกต แคปิตอล ระบุ

ทั้งนี้ ซิลเวอร์เกตฯ เปิดเผยในแผนเลิกกิจการธนาคารและการชำระหนี้ว่า เงินฝากทั้งหมดจะถูกชำระคืน "แบบเต็มจำนวน" ให้กับลูกค้าของธนาคาร

สำนักข่าวซีเอ็นบีซี สื่อใหญ่ของสหรัฐรายงานว่า การประกาศเรื่องการชำระหนี้ครั้งนี้มีขึ้นไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ หลังจากที่ซิลเวอร์เกต แบงก์ ประกาศระงับเครือข่ายการชำระเงินคริปโต (Silvergate Exchange Network - SEN) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในบริการหลักของทางธนาคาร

ภายใต้แผนปิดกิจการและชำระหนี้ดังกล่าวนั้น ซิลเวอร์เกตฯประกาศว่า จะให้บริการที่เกี่ยวข้องกับเงินฝากทั้งหมดต่อไปในขณะที่บริษัททยอยยุติการดำเนินงาน โดยหากมีความคืบหน้าเพิ่มเติมจะแจ้งให้ลูกค้าทราบในภายหลัง

แซม แบงค์แมน-ฟรีด ผู้ก่อตั้งและอดีตซีอีโอ FTX กำลังถูกดำเนินคดี

ความเปราะบางของวงการหลัง FTX ล้มละลาย

ก่อนหน้าการประกาศแผนยุติกิจการธนาคารซิลเวอร์เกต ซึ่งถือเป็นการปิดกิจการรายล่าสุดของบริษัทที่อยู่ในแวดวงคริปโต มีข่าวใหญ่ที่สะเทือนวงการคริปโตเคอร์เรนซีในช่วงเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา (2565) จนกลายเป็นเหมือนสัญญาณอันตรายที่หลายคนมองว่าอาจเป็นการเข้าใกล้ “วันสิ้นโลก” ของวงการคริปโตเมื่อแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนและตลาดซื้อขายเงินดิจิทัลรายใหญ่อันดับสองของโลก (เป็นรองแต่เพียงไบแนนซ์) อย่าง FTX ยื่นล้มละลายเมื่อวันที่ 11 พ.ย.

โดยก่อนหน้านั้นเพียง 1 วัน บริษัทเพิ่งระงับการถอนเงินและการสมัครสมาชิกใหม่ หลังจากลูกค้าแห่ถอนเงิน 6 พันล้านดอลลาร์จากแพลตฟอร์มในเวลาเพียง 3 วัน ขณะที่นายแซม แบงค์แมน-ฟรีด ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ FTX ในขณะนั้น ส่งบันทึกหาพนักงานว่ากำลังเร่งหาเงินทุนแหล่งใหม่มาอุ้มบริษัท และมีข่าวออกมาในวันเดียวกันว่าทาง FTX ได้ยักย้ายนำเงินของลูกค้าไปให้ Alamenda Research บริษัทที่เขาตั้งขึ้นมา กู้เงินเพื่อนำไปลงทุนจำนวนมาก 

เมื่อ FTX ประกาศยื่นล้มละลายในวันที่ 11 พ.ย.2565 แบงค์แมน-ฟรีด ก็ลาออกจากการเป็นซีอีโอของบริษัท เขาถูกจับกุมในเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา และตกเป็นผู้ต้องหาคดีฉ้อโกงและอื่นๆ ซึ่งขณะนี้เขากำลังอยู่ระหว่างการต่อสู้คดี

ในเอกสารคำร้องของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ SEC ที่ยื่นต่อศาลเมื่อวันที่ 3 ม.ค.ที่ผ่านมา นายแบงค์แมน-ฟรีด ถูกกล่าวหาว่า นับตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา เขาระดมทุนได้มากกว่า 1,800 ล้านดอลลาร์จากบรรดานักลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซี จากกระดานซื้อขายคริปโต FTX โดยโฆษณาว่า เป็นช่องทางที่ปลอดภัยในการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล 

SEC กล่าวหาว่า แบงค์แมน-ฟรีด ถ่ายโอนเงินลงทุนของลูกค้าไปยังกองทุนส่วนตัวของเขาที่มีชื่อว่า Alameda Research โดยไม่แจ้งให้ลูกค้าทราบ นอกจากนี้ ยังผสมปนเปเงินทุนต่าง ๆ ของลูกค้าในกองทุนดังกล่าวและนำไปลงทุนส่วนตัว รวมทั้งซื้ออสังหาริมทรัพย์ราคาแพงและบริจาคให้นักการเมืองโดยไม่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อลูกค้าและนักลงทุนใน FTX แต่อย่างใด

หลังการยื่นล้มละลายของ FTX ผลพวงความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ส่งกระทบต่อแพลตฟอร์มคริปโตอื่นๆ ที่เชื่อมโยงกันจำนวนมาก ทำให้เกิดวิกฤตสภาพคล่อง และหลายรายก็ต้องประกาศล้มละลายตามๆกันไป รวมทั้ง บล็อกไฟ (BlockFi) แพลตฟอร์มให้บริการสินเชื่อคริปโต ประกาศล้มละลายปลายเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา และ เจเนซิส โกลบอล แคปิตอล (Genesis Global Capital) บริษัทปล่อยกู้คริปโตเคอร์เรนซีอีกรายของสหรัฐ ก็ยื่นล้มละลายตามกันไปติดๆ เมื่อเดือนม.ค.2566