"ปูติน"ลงนามสะบั้นความร่วมมือด้านนิวเคลียร์กับสหรัฐอย่างเป็นทางการ

01 มี.ค. 2566 | 07:15 น.

ปธน.ปูติน ผู้นำรัสเซียลงนามในกฎหมายระงับความร่วมมือกับสหรัฐในสนธิสัญญา New START ว่าด้วยการควบคุมอาวุธนิวเคลียร์อย่างเป็นทางการแล้ววันนี้ (1 มี.ค.)

 
ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ลงนามในกฎหมายระงับความร่วมมือของ รัสเซีย ใน สนธิสัญญาควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ "New START" ที่เคยทำไว้กับสหรัฐ อย่างเป็นทางการแล้วในวันนี้ (1 มี.ค.) สร้างความวิตกมากขึ้นเกี่ยวกับการสั่งสมอาวุธนิวเคลียร์ และความเสี่ยงที่จะมีการนำอาวุธนิวเคลียร์มาใช้ในยูเครน  

กฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในทันที และการตัดสินใจให้ความร่วมมือในสนธิสัญญา New START ซึ่งถูกระงับชั่วคราว จะยาวนานแค่ไหนและจะกลับมาร่วมมือกันอีกหรือไม่และเมื่อไหร่ ล้วนขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประธานาธิบดีปูติน

ก่อนหน้านี้ ปธน.ปูตินได้แถลงนโยบายประจำปี (State of the Nation Address) ต่อสมัชชาแห่งชาติรัสเซียเมื่อวันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา ในโอกาสดังกล่าวปธน.ปูตินได้ประกาศระงับความร่วมมือของรัสเซียในสนธิสัญญา New START กับสหรัฐ เพราะเห็นว่าสหรัฐมองรัสเซียเป็นศัตรู ทั้งยังร่วมกับพันธมิตรชาติตะวันตกกระพือไฟสงครามในยูเครน

ปธน.ปูติน ลงนามกม.ระงับความร่วมมือของรัสเซียในสนธิสัญญา New START กับสหรัฐ เพราะเห็นว่าสหรัฐมองรัสเซียเป็นศัตรู

ต่อมา สภาสหพันธ์ หรือวุฒิสภารัสเซีย และสภาดูมา หรือสภาผู้แทนราษฎรของรัสเซีย ต่างก็มีมติเอกฉันท์ให้การรับรองประกาศดังกล่าวของประธานาธิบดี

ทั้งนี้ สหรัฐและรัสเซียลงนามในข้อตกลง "New START" ในปี 2553 ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวจำกัดให้แต่ละประเทศมีหัวรบนิวเคลียร์ไม่เกิน 1,550 หัวรบ ข้อตกลงนี้จะหมดอายุลงในปี 2569

สหรัฐและรัสเซียลงนามในข้อตกลง "New START" เมื่อปี 2553 (สมัยของปธน.โอบามา และปธน.เมดเวเดฟ)

ด้านนายดมิทรี เมดเวเดฟ อดีตประธานาธิบดีรัสเซีย ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติรัสเซีย ได้ให้ความเห็นเมื่อเร็วๆนี้ เกี่ยวกับสถานการณ์สู้รบในยูเครน และความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามนิวเคลียร์ว่า การที่สหรัฐและชาติตะวันตก จัดส่งอาวุธให้ยูเครนอย่างต่อเนื่องนั้น "มีความเสี่ยงที่จะเกิดหายนะด้านนิวเคลียร์ระดับโลก" นี่ถือเป็นการใช้คำขู่ครั้งล่าสุดเรื่องการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในสงครามยูเครน

คำพูดของเมดเวเดฟมีขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดีปูติน ผู้นำรัสเซียออกมาเตือนเรื่องนิวเคลียร์เมื่อปลายเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งในครั้งนั้น เขายังกล่าวด้วยว่าการเผชิญหน้าของรัสเซียกับกลุ่มชาติตะวันตก คือการต่อสู้ที่มีอยู่เพื่อความอยู่รอดของรัสเซียและประชาชนชาวรัสเซีย

"การอัดฉีดอาวุธของชาติตะวันตกให้แก่ยูเครน ยังคงดำเนินต่อไป และนั่นก็เป็นการขัดขวางทุกโอกาสในการฟื้นฟูการเจรจาสันติภาพ"
นายเมดเวเดฟย้ำชัดกับหนังสือพิมพ์อิซเวสเตียสื่อท้องถิ่นของรัสเซีย ว่า การอัดฉีดอาวุธของชาติตะวันตก (ให้แก่ยูเครน) ยังคงดำเนินต่อไป และนั่นก็เป็นการขัดขวางทุกโอกาสในการฟื้นฟูการเจรจาสันติภาพ

"ศัตรูของเรากำลังทำเช่นนั้นอยู่และไม่สนใจว่าเป้าหมายของพวกเขาจะนำไปสู่ความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง และยังนำไปสู่การสูญเสีย การล่มสลาย และวันสิ้นโลก พวกเขาลืมไปแล้วว่าในช่วงหลายสิบปีก่อนหน้านี้พวกเขามีชีวิตเช่นไร ตราบจนกระทั่งเห็นอาคารกลายเป็นซากปรักหักพังอันเนื่องมาจากกัมมันตรังสี" คำกล่าวของเมดเวเดฟเหมือนคำขู่ และเมื่อผนวกกับการประกาศระงับความร่วมมือในการควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ของปูติน ก็ยิ่งทำให้ความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงของสงครามนิวเคลียร์ที่อาจเกิดขึ้น มีมากขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม มีผู้เห็นแย้งว่า คำขู่ของรัสเซียเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์และท่าทีแข็งกร้าวของปูติน อาจจะเป็นความมั่นใจที่ "มากเกินไป"

นายวิลเลียม เบิร์นส์ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐ (CIA) กล่าวว่า ประธานาธิบดีปูติน ผู้นำรัสเซีย มั่นใจมากเกินไปว่ากองทัพรัสเซียมีศักยภาพที่จะ "บดขยี้" ยูเครนจนยอมจำนนได้

นายเบิร์นส์ให้สัมภาษณ์ในรายการ "Face the Nation" ของสถานีโทรทัศน์ซีบีเอสที่ออกอากาศเมื่อเร็วๆนี้ว่า หัวหน้าหน่วยข่าวกรองของรัสเซียได้แสดงให้เห็นถึง "ความอวดดีและความโอหัง" ในการพบกันเมื่อเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนถึงตัวปธน.ปูตินเองที่เชื่อว่า จะสามารถบดขยี้ชาวยูเครน และกดดันพันธมิตรยุโรปให้อ่อนแอลง เบิร์นส์ยังมองด้วยว่า รัสเซียคิดผิดที่เชื่อว่า เมื่อรอให้เกิดความเหนื่อยล้าทางการเมืองแล้ว นานาชาติจะหมดความสนใจที่จะต่อต้านรัสเซียในที่สุด

ผู้อำนวยการ CIA ของสหรัฐ ยังกล่าวถึงการพบปะสนทนากับหัวหน้าหน่วยข่าวกรองของรัสเซียว่า "น่าท้อใจ" เขายังได้เตือนถึงผลที่ตามมาหากรัสเซียจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ในยูเครนด้วย

"ปธน.ปูตินตั้งใจจะทำสงครามต่อไป แม้จะเกิดความสูญเสียมากมาย เกิดข้อบกพร่องทางยุทธวิธี และเกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจและชื่อเสียงของรัสเซียก็ตาม" นายเบิร์นส์ กล่าวและว่า

"ผมมองว่า ตอนนี้ปธน.ปูตินมั่นใจมากเกินไปว่าจะสยบยูเครนได้ เมื่อถึงเวลาหนึ่ง เขาจะต้องเผชิญกับราคาที่ต้องจ่ายมากขึ้นในรูปของโลงศพที่ถูกส่งกลับบ้านในพื้นที่ที่ยากจนที่สุดของรัสเซีย ที่ทหารเกณฑ์มากมายจากที่นั่นถูกใช้เป็นตัวเบี้ยในกระดานสงครามนี้" 

แต่ที่สำคัญก็คือ ปธน.ปูตินประเมินความตั้งใจของสหรัฐในการสนับสนุนยูเครนต่ำเกินไป โดย ผอ.CIA กล่าวว่า จากประสบการณ์ของเขา ผู้นำรัสเซียน่าจะมองว่าสหรัฐเป็น "พวกสมาธิสั้นและจะหันไปสนใจประเด็นอื่นในที่สุด"แต่ความจริงไม่เป็นอย่างนั้น