เจาะลึกแผ่นดินไหวตุรกี-ซีเรีย เสียชีวิตใกล้แตะ 4,000 ราย

07 ก.พ. 2566 | 01:08 น.

เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในตุรกี-ซีเรีย ที่ขณะนี้ยอดผู้เสียชีวิตพุ่งจากหลักร้อยทะลุ 3,800 รายภายในวันเดียว ขณะหน่วยกู้ภัยยังคงระดมค้นหาผู้รอดชีวิต

 

เหตุการณ์แผ่นดินไหว 2 ครั้งซ้อนในวันเดียวกันความรุนเเรง 7.5-7.8 แมกนิจูด และอาฟเตอร์ช็อคเป็นบริเวณกว้างในพื้นที่คาบเกี่ยว ประเทศตุรกี (ปัจจุบันชื่อใหม่ ตุรเคีย) และ ซีเรีย เมื่อช่วงเช้าวันจันทร์ (6 ก.พ.) ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนรวมกันในสองประเทศกว่า 3,800 รายแล้วในขณะนี้ โดยแบ่งเป็น

  • เสียชีวิตในตุรกี 2,379 ราย
  • ในซีเรีย 1,444 ราย

ขณะที่ผู้ได้รับบาดเจ็บรวมเกินหลักหมื่นคน เจ้าหน้าที่ระบุว่า ยอดผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากเชื่อว่ายังมีคนจำนวนมากที่น่าจะติดอยู่ในซากอาคารที่ถล่มลงมาหลายแห่ง  

นี่คือเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของตุรกี ซึ่งตั้งอยู่บนรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง โดยย้อนไปเมื่อปี 1999 หรือพ.ศ. 2542 มีผู้เสียชีวิตเกือบ 18,000 คนจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวความรุนเเรงเท่า ๆ กันกับครั้งนี้

เรารู้อะไรบ้างจากอดีตเกี่ยวกับเรื่องนี้

  • ตุรกี เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในเขตที่เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยตั้งอยู่บนยอดแผ่นเปลือกโลกอานาโตเลียน (Anatolian Plate) ซึ่งเป็นแผ่นเปลือกโลกที่ค่อย ๆ หมุนทวนเข็มนาฬิกาและเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกอยู่เรื่อย ๆ โดยเคลื่อนตัวประมาณ 1 นิ้วต่อปี การชนกันของแผ่นเปลือกโลกแอฟริกาและแผ่นเปลือกโลกยูเรเชียอาจส่งผลให้เกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง
  • ผู้เชี่ยวชาญเตือนมานานแล้วว่า แผ่นดินไหวขนาดใหญ่อาจทำลายล้างเมืองหลวงอิสตันบูลของตุรกี ซึ่งปล่อยให้มีการสร้างสิ่งปลูกสร้างเป็นวงกว้างโดยไม่มีมาตรการป้องกันความปลอดภัย
  • ตุรกีเคยเผชิญแผ่นดินไหวครั้งใหญ่สุดในอดีตเมื่อปี 1999 ซึ่งเกิดแผ่นดินไหวถึงสองครั้ง คือเดือนส.ค.แผ่นดินไหวขนาด 7.6 เกิดขึ้นที่อิสตันบูล มีผู้เสียชีวิต 17,500 ราย จากนั้นเดือนพ.ย.ปีเดียวกัน ไหวซ้ำอีกครั้งขนาด 7.2 บริเวณภูมิภาคดุซเช มีผู้เสียชีวิตอีก 845 ราย
  • ต่อมาปี 2011 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.2 ที่เมืองแวน ทางภาคตะวันออก มีผู้เสียชีวิตกว่า 644 คน
  • ส่วนครั้งล่าสุดนี้ 6 ก.พ.2023 แผ่นดินไหวขนาด 7.8 สามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้ไกลถึงเลบานอน ที่อยู่ห่างออกไป 300 กิโลเมตร และนับเป็นแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดที่ตุรกีและซีเรียเคยเผชิญมาในรอบกว่า 100 ปี นับตั้งแต่มีการบันทึกสถิติมา

ตุรกีตั้งอยู่บนแผ่นเปลือกโลกที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง แต่นี่คือครั้งที่รุนแรงที่สุด

ประกาศ "พื้นที่ภัยพิบัติระดับ 4"

ข้อมูลจากหน่วยสำรวจทางธรณีวิทยาของสหรัฐ (U.S. Geological Survey) พบว่า แผ่นดินไหวครั้งล่าสุดวานนี้ (6 ก.พ.) มีความลึก 17.7 กม. และเพียง 10 นาทีหลังเกิดแผ่นดินไหวครั้งแรก ก็มีอาฟเตอร์ช็อกรุนแรงขนาด 6.7 ตามมา โดยแผ่นดินไหวครั้งแรกความรุนแรงขนาด 7.8 เกิดขึ้นเมื่อเวลา 04.17 น.ของเช้าวันจันทร์ ตามเวลาท้องถิ่น ท่ามกลางสภาพอากาศหนาวเย็น มีทั้งฝนและหิมะตกลงมา ศูนย์กลางแผ่นดินไหวใกล้เมืองกาซีอันเท็ป (Gaziantep) ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกี ไม่ไกลจากชายแดนด้านที่ติดกับซีเรีย เมืองดังกล่าวมีประชากรราว 2 ล้านคน

แรงสั่นสะเทือนสัมผัสได้ไกลถึงกรุงไคโรของอียิปต์ ส่วนในซีเรีย ประชาชนที่กรุงดามัสกัสรีบวิ่งออกทางตามท้องถนน และที่ลิเบีย ชาวกรุงเบรุตตื่นขึ้นเพราะรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือน

ต่อมาในวันเดียวกัน ยังเกิดแผ่นดินไหวครั้งที่ 2 ความรุนแรงขนาด 7.5 มีศูนย์กลางห่างจากเขตเอลบิสถาน ในเมืองคาห์รามันมารัส ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองกาซีอันเท็ปไปทางเหนือประมาณ 128 กิโลเมตร เจ้าหน้าที่ศูนย์จัดการหายนภัยและสถานการณ์ฉุกเฉินในตุรกี ระบุว่า เหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.5 ที่เกิดขึ้นครั้งหลัง ไม่ใช่อาฟเตอร์ช็อก หรือแผ่นดินไหวต่อเนื่องที่เกิดตามมาจากแผ่นดินไหวใหญ่ครั้งแรก แต่เป็นการเกิดแผ่นดินไหวครั้งที่สอง

หลังจากนั้น ยังเกิดเเรงสั่นสะเทือนตามมาอย่างน้อย 60 ครั้ง ซึ่งบางครั้งแรงเกือบจะเท่ากับความรุนเเรงของแผ่นดินไหว 

ในบรรดาเมืองที่ได้รับความเสียหายหนักในเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้

  • ในส่วนของตุรกี ได้แก่ เมืองกาซีอันเท็ป และเมืองดิยาบาเกียร์ (Diyarbakir) ที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือไปกว่า 330 กิโลเมตร
  • ขณะที่ในซีเรีย พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนเเรงคือ บริเวณเมืองอเลปโป ฮามา และเมืองอิดลิบ

 

ความช่วยเหลือกำลังหลั่งไหลเข้าสู่ตุรกี เจ้าหน้าที่ยังคงเร่งค้นหาผู้รอดชีวิต

ประธานาธิบดีเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ผู้นำตุรกี แสดงความเสียใจต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว และกำชับให้เจ้าหน้าที่เร่งให้ความช่วยเหลือต่อประชาชน ขณะที่นายสุไลมาน ซอยลู รัฐมนตรีกิจการภายในประเทศของตุรกี ได้ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติและเตือนภัยแผ่นดินไหวที่ระดับ 4 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด เขายังเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศด้วย โดยขณะนี้ การเสนอความช่วยเหลือด้านการเงินและการเเพทย์ได้หลั่งไหลมาจากนานาชาติแล้ว ซึ่งรวมทั้งจากสหภาพยุโรป (อียู) และองค์การสนธิสัญญาแอตเเลนติกเหนือ (นาโต) เป็นต้น

นานาชาติเร่งให้ความช่วยเหลือ

นายยาเนซ เลนาร์ชิช กรรมาธิการด้านการจัดการภาวะวิกฤตของอียู ทวีตข้อความทางทวิตเตอร์ระบุว่า ทีมกู้ภัยจากเนเธอร์แลนด์และโรมาเนีย ได้ออกเดินทางไปยังตุรกีแล้ว โดยศูนย์ประสานการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินของอียู จะเป็นผู้ดูแลการจัดส่งเจ้าหน้าที่กู้ภัย ภายหลังผู้นำตุรกีได้ร้องขอความช่วยเหลือจากอียู

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลหลายประเทศที่เป็นสมาชิกอียู ทั้งประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส และนายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ ของเยอรมนี ก็แสดงความตั้งใจที่จะให้ความช่วยเหลือ ในขณะที่ เบลเยียม โปแลนด์ สเปน และฟินแลนด์ ก็ประกาศว่าพร้อมที่จะส่งทีมเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือ

ด้านนายกรัฐมนตรีมาร์ค รุตต์ ของเนเธอร์แลนด์ เปิดเผยว่า ทีมกู้ภัยจากเนเธอร์แลนด์จะไปร่วมปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยในตุรกีและซีเรีย พร้อมแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ขณะเดียวกัน ผู้นำรัฐบาลเซอร์เบียและสวีเดนให้คำมั่นว่าพวกเขาจะส่งทีมกู้ภัย พร้อมสิ่งของบรรเทาทุกข์ไปช่วยเหลือประชาชนทั้งในตุรกีและซีเรีย

นายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐประจำทำเนียบขาว ระบุผ่านทางทวิตเตอร์วานนี้ (6 ก.พ.) ว่า สหรัฐมีความห่วงใยต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวในตุรกี และพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่

ขณะที่รัฐบาลรัสเซียแถลงว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย จะสนทนาทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ผู้นำตุรกี เพื่อหารือเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือต่อตุรกี หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงครั้งนี้ โดยนายดมิทรี เพสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน กล่าวว่า รัสเซียมีเทคโนโลยีและมีความพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือตุรกี หากได้รับการร้องขอ โดยจะขึ้นอยู่กับความจำเป็นของตุรกี

ไม่มีรายงานคนไทยได้รับผลกระทบ

นางกาญจนา ภัทรโชค โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงว่าได้รับรายงานจากนายอภิรัตน์ สุคันธาภิรมย์ ณ พัทลุง เอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา ว่าในเบื้องต้น ยังไม่พบว่ามีคนไทยที่ได้รับผลกระทบการเหตุการณ์แผ่นดินไหวดังกล่าว และสถานเอกอัครราชทูตฯ กำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบเพิ่มเติมกับทางการตุรกี ซึ่งจะรายงานให้กระทรวงฯ ทราบต่อไป

ทั้งนี้ ศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ห่างจากชุมชนคนไทยที่นครอิสตันบูล และกรุงอังการา เมืองหลวงของตุรกีค่อนข้างมาก ในขณะที่มีคนไทยอาศัยอยู่จำนวนไม่มากในพื้นที่แผ่นดินไหว อาทิ ในเมืองกาซีอันเท็ป ที่เป็นจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว

นางกาญจนา กล่าวว่าคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ สามารถติดต่อสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการาได้ตลอด 24 ชั่วโมงที่เบอร์ +90 (533) 641 5698 หรือทาง facebook ของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา

 

ข้อมูลอ้างอิง