เลาะเส้นทางสายไหมยุคใหม่ พบจีนเพิ่มการลงทุน 63% ตามแนว BRI

03 ก.พ. 2566 | 13:51 น.

โครงการพัฒนาตามแนว"หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" (BRI) ของจีน มีชาติพันธมิตรร่วมลงทุนกว่า 147 ประเทศ ฝ่ายจีนเองลงทุนเพิ่ม 63%  เน้นด้านเทคโนโลยีและแบตเตอรี่รถไฟฟ้า

 

จากข้อมูลในรายงานชิ้นล่าสุดของศูนย์การพัฒนาและการเงินเพื่อความยั่งยืน ในสังกัดมหาวิทยาลัยฟู่ตั้นแห่งมหานครเซี่ยงไฮ้  เปิดเผยว่า จีน ได้ลงทุนในประเทศต่าง ๆ ตาม แนวเส้นทางสายไหมยุคใหม่ หรือ โครงการ "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" (BRI) เพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2562 โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจากการก่อตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่แห่งใหม่ๆ เพื่อป้อนให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า

รายงานระบุว่า การลงทุนของจีนใน 147 ประเทศตามแนวเส้นทาง BRI เพิ่มสูงขึ้น 63% คิดเป็นมูลค่ารวม 32,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยมีบริษัทคอนเทมโพรารี แอมเพอเร็กซ์ เทคโนโลยี ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติจีน จับมือกับเมอร์เซเดส-เบนซ์ กรุ๊ป เอจี วางแผนจะลงทุนกว่า 7,000 ล้านดอลลาร์ในโรงงานที่ประเทศฮังการี นับเป็นโครงการเดี่ยวที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาประเทศตามแนว BRI ตั้งแต่เริ่มต้นในปี 2556

แนวเส้นทางสายไหมยุคใหม่ หรือ โครงการ "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" (BRI) ของจีน ทั้งทางบกและทางทะเล

 

นอกจากโครงการลงทุนด้านเทคโนโลยีแล้ว จีนยังลงทุนรองลงมาในด้านพลังงาน โดยรายงานระบุว่า จีนมีการลงทุนในโครงการต่าง ๆ ด้านพลังงานไปแล้ว 9,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนเกี่ยวกับน้ำมัน ก๊าซ และพลังงานสะอาด

นายคริสตอฟ เนโดพิล กรรมการผู้ก่อตั้งศูนย์การพัฒนาและการเงินเพื่อความยั่งยืนระบุว่า บริษัทต่าง ๆ ของจีนยังได้ลงนามในข้อตกลงด้านการก่อสร้างกว่า 15,000 ล้านดอลลาร์สำหรับภาคพลังงาน และอีก 12,000 ล้านดอลลาร์สำหรับโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง เช่น ท่าเรือ ถนน และทางรถไฟ อีกด้วย

รายงานระบุว่า ในบรรดาประเทศตามแนว BRI นั้น ประเทศฮังการีได้รับการลงทุนจากจีนมากที่สุด ตามมาด้วยซาอุดีอาระเบียกับสิงคโปร์

ส่วนรัสซีย แองโกลา ศรีลังกา เนปาล และเปรู ยังไม่มีการลงนามทำข้อตกลงการลงทุนหรือการก่อสร้างใหม่

ขณะที่การลงทุนในปากีสถานลดลง 34% และประเทศในแอฟริกาทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราก็ลดลงในระดับเลขสองหลักเช่นกัน

เม็ดเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นการลงทุนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า

เป็นที่สังเกตว่า การลงทุนในภาคการก่อสร้างลดลง 27% ในขวบปีที่ผ่านมา (2565) มีมูลค่ารวม 35,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับว่าเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่ที่มีการริเริ่มโครงการ BRI ตามเจตนารมณ์ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน

นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมา การให้กู้ของจีนที่ปล่อยให้กับประเทศตามรายทางของแนวเส้นทาง BRI ชะลอตัวลงระหว่างปี 2563-2564 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดหนักของโควิด-19 ทำให้หลายประเทศในแอฟริกาและที่อื่น ๆ เช่นปากีสถานและศรีลังกา ต้องผิดนัดชำระหนี้หรือขอเจรจาปรับโครงสร้างหนี้   

 

ข้อมูลอ้างอิง