หุ้นอาลีบาบาทะยานรับข่าว "แจ็ก หม่า" สละบังเหียน "แอนท์ กรุ๊ป"

09 ม.ค. 2566 | 04:52 น.

หุ้นอาลีบาบา รวมทั้งหุ้นของหลายบริษัทที่ "แอนท์ กรุ๊ป" เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ พุ่งขึ้นในการซื้อขายที่ตลาดหุ้นฮ่องกงเช้านี้ (9 ม.ค.) หลังมีข่าว "แจ็ก หม่า" สละอำนาจควบคุมบริษัท

 

หลังจาก การปรับโครงสร้างบริษัทแอนท์ กรุ๊ป (Ant Group) ซึ่งเป็น บริษัทฟินเทค ยักษ์ใหญ่ของจีนที่อยู่ในเครืออาลีบาบา ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็มีข่าว นายแจ็ก หม่า ผู้ก่อตั้งแอนท์ กรุ๊ป ได้สละอำนาจควบคุมบริษัท ความเคลื่อนไหวดังกล่าวส่งผลให้ราคาหุ้นอาลีบาบา (NYSE:BABA) พุ่งขึ้นมากกว่า 5% ในช่วงเช้านี้ (9 ม.ค.) ที่ตลาดฮ่องกง โดยระหว่างการซื้อขายครึ่งเช้า ราคาหุ้นอาลีบาบาพุ่งสูงสุดถึง 8.3% สู่ระดับ 110 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อหุ้นก่อนปรับลดลงมาเล็กน้อย ส่วนราคาในตลาดนิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ (6 ม.ค.) ซึ่ง 1 หุ้นในสหรัฐเทียบเท่า 8 หุ้นในฮ่องกง ปิดตลาดที่ 107.40 ดอลลาร์สหรัฐ หมายความว่าการพุ่งขึ้นของราคาหุ้นในฮ่องกงเวลานี้ น่าจะทำให้ราคาหุ้นอาลีบาบาในสหรัฐอยู่ที่ระดับราวๆ 112.32 ดอลลาร์แล้ว

 

ขณะที่หุ้นบริษัทอื่นๆ ที่แอนท์ กรุ๊ป เข้าไปถือหุ้นมากกว่า 5% ต่างก็ปรับตัวขึ้นยกแผงในช่วงเช้านี้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นหุ้นบริษัทลองไชน์ เทคโนโลยี กรุ๊ป, หุ้นจี๋หลิน เจิ้นหยวน, หุ้นเซี่ยงไฮ้ โกลเด้น บริดจ์ อินโฟเทค, หุ้นออร์บเบค อิงค์ และหุ้นฮัดซัน เทคโนโลยีส์

 

แจ็ก หม่า

 

ทั้งนี้ การสละสิทธิในการควบคุมกิจการแอนท์ กรุ๊ป ของแจ็ก หม่า (จากเดิมที่เคยมีสิทธิออกเสียงในแอนท์ฯมากกว่า 50% ตอนนี้ลดลงเหลือ 6% ตามประกาศของบริษัท) เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปรับโครงสร้างบริษัท ซึ่งอาจจะส่งผลให้แอนท์ กรุ๊ป มีโอกาสที่จะกลับมาทำ IPO ได้อีกครั้ง หลังจากที่ต้องยกเลิกไปเมื่อเดือนพ.ย. 2563 โดยในช่วงเวลานั้น มีการประเมินถ้าว่า  IPO ครั้งนั้นสำเร็จ จะสามารถระดมทุนได้กว่า 37,000 ล้านดอลลาร์ซึ่งนับว่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์ 

 

การปรับโครงสร้างของแอนท์ กรุ๊ป ใกล้จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยบริษัทคาดว่าอาจจะต้องเสียค่าปรับกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายกำราบ-ปราบปรามบริษัทเทคโนโลยีของรัฐบาลจีนที่เมื่อเร็วๆนี้ เริ่มเห็นสัญญาณเชิงบวก โดยแนวทางปฏิบัติของทางการที่มีต่อภาคธุรกิจเทคโนโลยี เริ่มมีความยืดหยุ่นและนุ่มนวลขึ้นเนื่องจากเศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญความยากลำบาก และรัฐบาลก็ต้องการแรงหนุนจากการเติบโตของธุรกิจภาคเทคโนโลยีเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย

 

แอนท์ กรุ๊ป

หันกลับมาดูการปรับโครงสร้างของแอนท์ กรุ๊ป

ภาพนายแจ็ก หม่า ปรากฏตัวเยือนไทยเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดขึ้นไล่เลี่ยหลังข่าวการสละอำนาจควบคุมแอนท์ กรุ๊ป ของเขา หลายคนสะท้อนมุมมองว่าเขาอาจสบายใจมากขึ้นที่สามารถปลดภาระและเดินหน้าทำธุรกิจใหม่ๆ ขณะที่แอนท์ฯเองก็ปรับโครงสร้างไปและอาจกลับมาทำ IPO ได้อย่างเบาตัวมากขึ้น

 

ทั้งนี้ แอนท์ กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทฟินเทคที่ให้ บริการอาลีเพย์ (Alipay) แอปชำระเงินผ่านมือถือในจีนที่มีผู้ใช้มากกว่า 1,000 ล้านคน กำลังเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเพื่อตอบสนองต่อการตรวจสอบด้านกฎระเบียบจากรัฐบาลจีน โดยผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทรวมถึงนายแจ็ก หม่า ได้ตกลงที่จะไม่ร่วมมือกันลงคะแนนเสียง แต่จะโหวตโดยเป็นอิสระ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็เท่ากับว่าจะไม่มีผู้ถือหุ้นรายใดสามารถควบคุมแอนท์ฯ ได้อย่างสมบูรณ์

 

ขณะเดียวกัน แถลงการณ์ของแอนท์ฯ ระบุว่า บริษัทกำลังเพิ่มกรรมการอิสระคนที่ 5 ในคณะกรรมการบริษัท เพื่อให้กรรมการส่วนใหญ่มีความเป็นอิสระ ด้วยเหตุนี้ จะไม่มีสถานการณ์ที่ผู้ถือหุ้นโดยตรงหรือโดยอ้อม จะมีอำนาจควบคุมแอนท์ กรุ๊ป ร่วมกันหรือแต่เพียงผู้เดียวอีกต่อไป

 

อาจยังไม่ได้เห็น IPO เร็วๆนี้ 

นายแอนดรูว์ คอลลิเออร์ กรรมการผู้จัดการของโอเรียนท์ แคปปิทัล รีเสิร์ช ให้ความเห็นว่า การที่แจ็ก หม่า สละอำนาจการควบคุมแอนท์ฯ ซึ่งเป็นบริษัทที่เขาก่อตั้งขึ้น แสดงให้เห็นว่าผู้นำจีนตั้งใจที่จะลดทอนอิทธิพลของนักลงทุนเอกชนรายใหญ่ เชื่อว่าแนวโน้มนี้จะยังคงกัดเซาะภาคส่วนธุรกิจที่มีผลิตภาพมากที่สุดของเศรษฐกิจจีนต่อไป ขณะที่นายดันแคน คลาร์ก ประธานบริษัทที่ปรึกษาการลงทุน BDA China กล่าวว่า “ด้วยเศรษฐกิจจีนที่ย่ำแย่อย่างหนักของจีน รัฐบาลจึงส่งสัญญาณว่าจะเน้นไปที่การเติบโต ซึ่งเทคโนโลยีและภาคเอกชนก็เป็นปัจจัยสำคัญต่อความมุ่งมั่นดังกล่าว อย่างน้อยนักลงทุนแอนท์ฯ ก็จะได้มีเวลาในการหาทางออก หลังจากเผชิญความไม่แน่นอนมาเป็นเวลานาน”

 

การปรับโครงสร้างองค์กรของแอนท์ กรุ๊ป ครั้งนี้ นอกจากจะทำให้บริษัทมีความเป็นอิสระมากขึ้นแล้ว การทำงานยังแยกออกจากอาลีบาบา ทำให้แอนท์ฯมีโอกาสแสวงหาช่องทางธุรกิจใหม่ๆของตัวเอง โดยไม่เกี่ยวข้องกับอาลีบาบา แต่หากถามว่าจะกลับไปทำ IPO ได้เมื่อไหร่ นักวิเคราะห์มองว่าอาจไม่ใช่เร็ว ๆนี้

 

เพราะกฎระเบียบในการจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์จีน หากบริษัทที่มีการเปลี่ยนแปลงอำนาจควบคุมจะยังไม่สามารถเข้าตลาดได้ทันที หากเป็นตลาดหุ้น A-share จะต้องรอ 3 ปี ตลาด STAR ซึ่งเป็นเหมือน Nasdaq ของเซี่ยงไฮ้จะต้องรอ 2 ปี และหากเป็นตลาดฮ่องกงต้องใช้เวลารอ 1 ปี