ปิดฉากอาเซียนซัมมิต กดดัน "เมียนมา" สร้างความคืบหน้าแผนสันติภาพ

14 พ.ย. 2565 | 01:43 น.

การประชุมผู้นำอาเซียน (อาเซียนซัมมิต) ปิดฉากลงวานนี้ (13 พ.ย.) ผู้นำอาเซียนย้ำ เมียนมาต้องเดินหน้าปฏิบัติตามแผนสันติภาพ ไม่เช่นนั้น จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมประชุมใดๆของอาเซียนอีก ท่ามกลางความวุ่นวายทางการเมืองและสังคมในเมียนมาทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

 

ผู้นำชาติสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ออกคำเตือนให้ เมียนมา เดินหน้าปฏิบัติตามแผนสันติภาพ โดยระบุว่า หลังจากที่อาเซียนมี ฉันทามติ 5 ข้อเพื่อสันติภาพของเมียนมา ออกมาเมื่อปีที่แล้ว (2564) ปรากฏว่า มีความคืบหน้า “เพียงเล็กน้อย” เท่านั้น ขณะที่ความวุ่นวายทางการเมืองและสังคมในเมียนมาทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

 

อาเซียนจึงเรียกร้องให้เมียนมาสร้างความคืบหน้าเกี่ยวกับแผนสันติภาพดังกล่าว โดยจะต้องมี “ตัวชี้วัดที่ชัดเจน ปฏิบัติได้จริง โดยมีกำหนดเวลาที่แน่นอน” ทั้งนี้ อาเซียนจะทบทวนเกี่ยวกับตัวแทนของเมียนมาที่เข้าร่วมประชุมในทุกระดับของอาเซียน หลังจากห้ามผู้นำทหารของเมียนมาเข้าร่วมการประชุมระดับสูงมาตั้งแต่ปีที่แล้ว และในช่วงการประชุมอาเซียนซัมมิตที่กัมพูชา ที่นั่งของเมียนมาก็ถูกเว้นว่างไว้

 

 

ผู้นำอาเซียนถ่ายภาพร่วมกันที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา

 

เรตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซีย ระบุว่า แถลงการณ์ของอาเซียนในครั้งนี้ส่งข้อความที่ชัดเจนหรืออาจเป็นได้ถึง "คำเตือน" ถึงรัฐบาลทหารของเมียนมา

 

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศของเมียนมา ได้แสดงท่าทีต่อต้านแถลงการณ์ของอาเซียน โดยระบุว่า รัฐบาลทหารเมียนมาจะไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของอาเซียน พร้อมทั้งยกข้ออ้างว่า การระบาดของโควิด-19 และการที่ต้องรับมือกับกองกำลังติดอาวุธ(เพื่อต่อต้านรัฐบาลทหาร) เป็นอุปสรรคใหญ่ที่กีดขวางการสร้างความคืบหน้าตามแผนสันติภาพ

 

ทั้งนี้ เมียนมาเผชิญความสับสนวุ่นวายทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ นับตั้งแต่ที่กองทัพได้โค่นอำนาจรัฐบาลพลเรือนที่นำโดยนางออง ซาน ซู จี เมื่อปีที่ผ่านมา และปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างรุนแรงมาจนถึงขณะนี้

 

ก่อนหน้านี้ อาเซียนซึ่งมีธรรมเนียมปฏิบัติในการไม่แทรกแซงกิจการภายในของชาติสมาชิก ไม่ได้ออกมาตรการลงโทษเมียนมาเหมือนชาติตะวันตก และไม่ขับไล่เมียนมาออกจากอาเซียนด้วย แต่อาเซียนเลือกที่จะประณามการใช้ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาลทหารเมียนมา เช่น การประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย และการโจมตีทางอากาศที่คร่าชีวิตผู้คนอย่างน้อย 50 คน

 

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานอ้างอิงนายแพทริค พงษ์สาธร จากองค์กร Fortify Rights ระบุว่า การที่อาเซียนยังคงไม่ระงับการเข้าร่วมของรัฐบาลทหารเมียนมาในกิจกรรมต่าง ๆของอาเซียน แสดงให้เห็นว่ายังไม่มีชาติอาเซียนใดลุกขึ้นมาเป็นผู้นำในประเด็นดังกล่าว และยังเป็นการอนุญาตโดยนัยให้รัฐบาลทหารเมียนมา “ก่ออาชญากรรมต่อไปได้”

 

  • อาเซียนกับวาระโลก

นอกจากนี้ ผู้นำชาติอาเซียนยังหารือถึงความตึงเครียดอื่น ๆ ในภูมิภาค รวมถึงประเด็นคาบสมุทรเกาหลีและไต้หวัน กับผู้นำชาติต่าง ๆ ที่เป็นประเทศคู่เจรจากับอาเซียนด้วย เช่น นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ของจีน และประธานาธิบดียูน ซอก-ยอล ของเกาหลีใต้

 

ขณะที่ปธน.โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ย้ำความเป็น “หุ้นส่วนสำคัญ” ของสหรัฐต่ออาเซียน โดยระบุว่า อาเซียนเป็นหัวใจสำคัญของยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของฝ่ายบริหารสหรัฐ ในขณะที่เขาเองพยายามที่จะตอบโต้อิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของจีน (ไบเดนมีกำหนดเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำประเทศเศรษฐกิจ 20 ประเทศ หรือ จี 20 ที่อินโดนีเซียในวันจันทร์ที่ 14 พ.ย.นี้ ซึ่งเขามีกำหนดพบหารือกับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ผู้นำจีนด้วย)

 

ปธน.ไบเดน กล่าวว่า สมาชิกอาเซียนเป็นแก่นกลางในยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของรัฐบาลสหรัฐ พร้อมเน้นว่าพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์แบบครอบคลุมจะทำให้สหรัฐและชาติสมาชิกอาเซียนมีความใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นในด้านความร่วมมือ ในการจัดการกับความท้าทายต่างๆ ตั้งแต่ภาวะโลกร้อน ความมั่นคงทางอาหาร และภัยคุกคามด้านความมั่นคง รวมถึงการสร้างอินโด-แปซิฟิก ที่เสรีและเปิดกว้าง มีเสถียรภาพ ความรุ่งเรือง ยืดหยุ่นและมั่นคง

 

ปธน.ไบเดนยังได้กล่าวถึงโครงการต่างๆ ที่สหรัฐกำลังทำงานร่วมกับภูมิภาคนี้ ซึ่งรวมถึงการวิจัยยานยนต์ไฟฟ้า พลังงานสะอาด การเชื่อมต่อที่ดีขึ้น และการพัฒนาที่ยั่งยืน ผู้นำสหรัฐยังหารือเกี่ยวกับการประสานงานเพื่อเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลเมียนมาให้เดินหน้าแผนสันติภาพด้วย

 

สมเด็จฯฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ส่งมอบค้อนสัญลักษณ์ประธานอาเซียนคนต่อไปให้กับปธน.โจโค วิโดโด แห่งอินโดนีเซีย

 

  • ส่งมอบตำแหน่งประธานอาเซียนปีหน้าให้อินโดนีเซีย

ด้าน นายกฯ ฮุน เซน ของกัมพูชา ในฐานะเจ้าภาพอาเซียน เมื่อปิดฉากการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 40 และ 41 ลงแล้ว ก็ได้ส่งต่อ “ค้อน” ที่เป็นสัญลักษณ์ของตำแหน่งประธานอาเซียนในปีหน้า (2566) ให้กับนายโจโค วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย โดยนายวิโดโดย้ำว่า อาเซียนไม่ควรเป็นตัวแทนของชาติมหาอำนาจ และจะไม่ยอมให้เกิดสงครามเย็นครั้งใหม่ในเอเชีย ท่ามกลางความตึงเครียดที่สหรัฐและจีน กำลังแข่งขันกันเพื่อสร้างอิทธิพลในอาเซียน และหลายรัฐบาลยอมรับว่าถูกกดดันให้เลือกข้าง

 

อาเซียนต้องเป็นภูมิภาคที่สงบสันติ และเป็นเสาหลักให้กับเสถียรภาพของโลก ยึดมั่นปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ และต้องไม่เป็นตัวแทนของมหาอำนาจชาติใด” ปธน.วิโดโด กล่าวหลังรับตำแหน่งประธานอาเซียน

 

นอกจากนี้ อาเซียนยังตกลงในหลักการเพื่อยอมรับติมอร์ตะวันออกเป็นชาติสมาชิกประเทศที่ 11 ทั้งนี้ ติมอร์ตะวันออก ซึ่งเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีอายุน้อยที่สุดในเอเชีย เริ่มเข้ามีส่วนร่วมกับอาเซียนเมื่อปี 2002 แต่สมัครสมาชิกอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2011 (พ.ศ.2554)