ดราม่าร้อน! ลิซ ทรัสส์ อดีตนายกฯอังกฤษควรได้เบี้ยเลี้ยงปีละ 5 ล.ไหม อ่านเลย

25 ต.ค. 2565 | 00:15 น.

ดราม่าร้อน! ลิซ ทรัสส์ อดีตนายกฯอังกฤษควรได้เบี้ยเลี้ยงปีละ 5 ล้านไหม อ่านเลยที่นี่มีคำตอบ หมอเฉลิมชัยสรุปประเด็นไว้ให้แล้ว

ลิซ ทรัสส์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ กำลังกลายเป็นดราม่าร้อน หลังจากที่ทำงานมาได้เพียง 44 วัน

 

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

ดราม่าร้อน !! เบี้ยเลี้ยงรายปีของอดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ลิซ ทรัสส์ ปีละ 5 ล้านบาท รับตลอดชีวิต แลกกับการทำงาน 44 วัน

 

หลังจากนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ลิซ ทรัสส์ (Liz Truss) ได้ประกาศลาออกจากการดำรงตำแหน่ง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม 2565

 

เป็นการปิดฉากการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ที่สั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ คือ 44 วัน ด้วยสาเหตุจากปัญหานโยบายทางด้านเศรษฐกิจและการคลัง ที่สร้างความปั่นป่วนให้กับประเทศอังกฤษอย่างมาก

 

ทำให้มีผู้ไม่เห็นด้วย ทั้งพรรคฝ่ายรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน และประชาชนทั่วไป

ทำให้พรรคอนุรักษ์นิยม จะต้องเร่งหาหัวหน้าพรรคคนใหม่ ซึ่งจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ไปพร้อมกัน โดยไม่ต้องมีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่แต่อย่างใด
โดยที่พรรคฝ่ายค้านคือพรรคแรงงาน ได้ออกมาเรียกร้องให้มีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ในทันที

 

ก็มีดราม่าร้อนตามมา ทั้งในอังกฤษเองและทั่วโลกว่า นายกรัฐมนตรี "ลิซ ทรัสส์" ควรจะสละสิทธิ์ ไม่รับเบี้ยเลี้ยงประจำปี จำนวน 5 ล้านบาทต่อปี หรือเดือนละ 400,000 บาท เพราะทำงานมาเพียง 44 วัน ไม่ควรจะรับเบี้ยเลี้ยงดังกล่าว ซึ่งจะจ่ายไปตลอดชีวิต

 

คงต้องมาทำความเข้าใจกันว่า เงินดังกล่าวนั้นคือ เงินอะไรกันแน่ เป็นเงินบำนาญ เป็นเงินเดือนค่าตอบแทน หรือเป็นเบี้ยเลี้ยงที่จ่ายในกรณีใด

 

เมื่อทราบข้อเท็จจริงทั้งหมดแล้ว การที่จะมีความคิดเห็นว่า นายกรัฐมนตรี ลิซ ทรัสส์ สมควรจะได้รับเงินดังกล่าวหรือไม่ ก็จะมีข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์พอที่จะพิจารณา

 

อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษทุกท่าน เมื่อพ้นตำแหน่งแล้ว ก็จะได้รับเงินบำนาญ ซึ่งในสมัยก่อนจะได้รับ 50% ของเงินเดือนเดือนสุดท้าย ในระดับเดียวกับสามผู้ทรงอำนาจของอังกฤษได้แก่ นายกรัฐมนตรี ประธานสภาล่างหรือสภาผู้แทนราษฎร(Speaker of the Commons) และประธานสภาสูงหรือวุฒิสภา (Lord Chancellor)

 

ตอนหลังได้ยกเลิก และให้มารับบำนาญอยู่ในกฎเกณฑ์เดียวกันกับบำนาญของกลุ่มรัฐมนตรี และสมาชิกรัฐสภา ซึ่งจะมีความแตกต่างกันไป ตามตำแหน่งหน้าที่ และอายุงานที่ทำมา

 

แต่ในส่วนที่เป็นดราม่านี้ ไม่ใช่บำนาญ และไม่ใช่เงินเดือนค่าตอบแทน

หากแต่เป็นเบี้ยเลี้ยงที่จ่ายเพื่อความจำเป็น ในการที่อดีตนายกรัฐมนตรีจะปรากฏตัวหรือปฏิบัติภารกิจสาธารณะ ในฐานะเป็นอดีตผู้นำประเทศ ให้สมศักดิ์ศรีและมีความสง่างาม ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

 

  • เงินก้อนดังกล่าวเรียกว่าเบี้ยเลี้ยงเพื่อปฏิบัติภารกิจสาธารณะหรือ PDCA : The Public Duty Costs Allowance ประกาศใช้เมื่อเดือนมีนาคม 1991 หรือพ.ศ. 2534 ในสมัยนายกรัฐมนตรี จอห์น เมเจอร์ มีเป้าหมายเพื่อให้อดีตนายกรัฐมนตรี ยังสามารถปรากฏตัวหรือทำงานสาธารณะ ในบทบาทที่สมเกียรติ จะจ่ายให้ตามที่มีค่าใช้จ่ายจริงในการทำหน้าที่ดังกล่าว

 

  • เงินเบี้ยเลี้ยง (Allowance) ดังกล่าว จึงไม่ใช่เงินบำนาญ (Pension) ที่จะได้โดยอัตโนมัติ เพราะในส่วนของเงินบำนาญ ก็จะมีกันทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือสมาชิกรัฐสภาของอังกฤษ

 

  • การจ่ายเงินดังกล่าวนั้น เป็นกรอบวงเงินสูงสุดปีละ 115,000 ปอนด์ หรือราว 5,000,000 บาทต่อปี หรือ 400,000 บาทต่อเดือน แต่จะเบิกได้มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับรายละเอียดของค่าใช้จ่ายจริง  และจะไม่มีการเบิกล่วงหน้า

 

  • อดีตนายกรัฐมนตรีทุกท่านที่จะเบิกเงินดังกล่าว จะต้องมีหลักฐานการใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือนของทีมงาน ค่าใช้จ่ายของสำนักงาน ค่าเดินทางไปปฎิบัติหน้าที่ต่างๆ โดยจะต้องเตรียมเอกสารหลักฐานไม่ว่าจะเป็นใบเสร็จรับเงิน หรือสลิปค่าใช้จ่ายบัตรเครดิต ไว้ให้สำนักงานคณะรัฐมนตรีตรวจสอบได้

 

  • ถ้าอดีตนายกรัฐมนตรี ไปดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในรัฐสภา ซึ่งจะมีเงินเบี้ยเลี้ยงประจำตำแหน่ง ก็จะงดเงินเบี้ยเลี้ยงดังกล่าว

 

  • ในกรณีที่ไปรับตำแหน่งบทบาทในภาคสาธารณะ ซึ่งมีค่าตอบแทน ทางสำนักงานคณะมนตรีผู้รับผิดชอบ จะทำการปรับลดเบี้ยเลี้ยงดังกล่าวลงตามความเป็นจริง

 

  • จะมีการทำรายงานต่อสาธารณะให้ทราบเป็นรายปี (Annual Report) ว่านายกอดีตนายกรัฐมนตรีแต่ละท่านนั้น ได้เบิกเบี้ยเลี้ยงรายปีดังกล่าวคนละเท่าไหร่

 

  • ในช่วงที่ผ่านมา อดีตนายกรัฐมนตรีไม่ว่าจะเป็นนายจอห์นเมเจอร์ ,โทนี่ แบลร์ , กอร์ดอน บราวน์ , เดวิด คาเมรอน และเทเรซ่า เมย์ ก็ล้วนแต่ได้เบิกเบี้ยเลี้ยงดังกล่าว แตกต่างกันไป บางคนก็เบิกเต็มจำนวน บางคนก็เบิกประมาณครึ่งเดียว เช่น อดีตนายกรัฐมนตรี เทเรซ่า เมย์ เบิกไปเพียงครึ่งเดียว

 

  • ในปีที่แล้ว ประชาชนชาวอังกฤษต้องจ่ายภาษีเพื่อเป็นเบี้ยเลี้ยงให้อดีตนายกรัฐมนตรีปฎิบัติหน้าที่ในสาธารณะ เป็นเงิน 571,348 ปอนด์ คิดเป็นเงินไทยราว 24.57 ล้านบาท

 

  • นอกจากนั้น อดีตนายกรัฐมนตรียังสามารถเสนอขอวงเงินได้อีก 10% ของเบี้ยเลี้ยงดังกล่าว เพื่อมาจ่ายเป็นบำนาญหรือค่าตอบแทนให้กับทีมงานของตนเองได้ด้วย

 

  • สมาชิกรัฐสภาของอังกฤษ มีเงินเดือนค่าตอบแทนปีละ 84,144 ปอนด์ คิดเป็นเงินไทย 3.6 ล้านบาทหรือ 300,000 บาทต่อเดือน นอกจากนั้นสมาชิกรัฐสภา ยังสามารถเบิกค่าใช้จ่ายของสำนักงาน ค่าจ้างบุคลากรทำหน้าที่ช่วยงาน ค่าเช่าบ้านในเขตลอนดอน ค่าเดินทางระหว่างเขตเลือกตั้งเข้ามาสู่รัฐสภา และยังจะได้รับเงินเหมาจ่ายค่าอุปกรณ์เครื่องเขียนและไปรษณีย์อีกปีละ 9000 ปอนด์ด้วย
     

เงินดังกล่าวจะถือว่ามากหรือน้อย ก็แล้วแต่มุมมอง

 

แต่อดีตนักการเมืองของอังกฤษ หลังจากพ้นตำแหน่งไปแล้ว จะได้รับเงินจำนวนมากกว่านั้นหลายเท่า เช่น เคยมีอดีตรองนายกฯได้รับเงินถึง 430 ล้านบาทจากบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง อดีตประธานวุฒิสภาท่านหนึ่ง ได้รับเงินตอบแทน 27.95 ล้านบาทต่อปี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศมีรายได้ 33 ล้านบาทต่อปีจากการทำงานหลังจากพ้นตำแหน่งแล้ว

 

นอกจากนั้นยังมีระบบการกลั่นกรองเบื้องต้น สำหรับอดีตนายกรัฐมนตรีว่า เมื่อพ้นตำแหน่งแล้วจะไปหางานทำ จะต้องแจ้งให้ทางคณะกรรมการ ACOBA ซึ่งจะมาตรวจสอบว่า งานที่ไปทำนั้น ถ้าเป็นของเอกชน บริษัทดังกล่าวเคยได้รับประโยชน์จากการตัดสินใจของอดีตนายกรัฐมนตรีหรือไม่

 

แต่ก็เป็นเพียงการทำความเห็นเท่านั้น ในทางปฏิบัติอดีตนายกมนตรีจะไม่ฟังคำทักท้วงหรือข้อเสนอแนะของ ACOBA ก็ได้

 

จึงสรุปได้ว่า

  • นายกรัฐมนตรีลิซ ทรัสส์ มีสิทธิ์ที่จะได้รับเงินเบี้ยเลี้ยงรายปีดังกล่าว แม้จะมีอายุการทำงานเพียง 44 วัน
  • การรับเบี้ยเลี้ยงดังกล่าวนั้น สามารถรับเป็นรายปี ไปได้ตลอดชีวิต
  • กรอบวงเงินนั้น เป็นขั้นสูงสุด ส่วนการจะเบิกเบี้ยเลี้ยงเท่าใด จะต้องแสดงเอกสารหลักฐานการใช้จ่ายจริง ที่มีการกำหนดรายละเอียดไว้ชัดเจน
  • มีการรายงานการใช้จ่ายดังกล่าวต่อสาธารณะให้ประชาชนได้รับทราบทุกปีด้วย