ส่องโปรไฟล์ 'หวาง หยาง' ตัวเก็งนายกฯ จีนคนต่อไป

14 ต.ค. 2565 | 18:05 น.

การประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 16 ต.ค.นี้แล้ว นอกจากคาดหมายการต่ออายุวาระการดำรงตำแหน่งปธน.ของนายสี จิ้นผิง เป็นสมัยที่3 ยังคาดว่าจะมีการปรับตำแหน่งในครม. ทำให้แสงไฟสาดส่องไปที่นายหวาง หยาง ที่อาจจะก้าวขึ้นมาเป็นนายกฯ จีนคนต่อไป

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นายหวาง หยาง สมาชิก พรรคคอมมิวนิสต์จีน ระดับหัวหน้าจากมณฑลกวางตุ้ง กำลังถูกจับตามองว่า เขาคนนี้คือตัวเก็งคนหนึ่งที่อาจขึ้นรับตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีคนต่อไป ของจีน หาก นายหลี่ เค่อเฉียง นายกฯคนปัจจุบัน ก้าวลงจากตำแหน่ง

 

เป็นที่คาดหมายว่า ใน การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 ที่จะเริ่มในวันที่ 16 ตุลาคมนี้ นายสี จิ้นผิง จะเดินหน้ารับตำแหน่งเลขาธิการพรรคสมัยที่3 ซึ่งการครองตำแหน่ง 3 สมัยเป็นเรื่องใหม่สำหรับพรรคคอมมิวนิสต์จีน เพราะก่อนหน้านี้ ธรรมนูญพรรคฯ กำหนดให้เลขาธิการพรรคฯ ซึ่งจะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีด้วยนั้น ครองตำแหน่งได้เพียง 2 สมัย หรือ 10 ปี เท่านั้น แต่ต่อมาสภาประชาชนแห่งชาติจีนลงมติในปี 2018 (พ.ศ.2561) ผ่านความเห็นชอบให้แก้ไขธรรมนูญของพรรคคอมมิวนิสต์ว่าด้วยวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี จากที่จำกัดไว้สูงสุดเพียง 2 สมัย ให้เป็นการดำรงตำแหน่งอย่างไม่มีกำหนด จึงเชื่อว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะได้รับการต่อวาระดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่3 ในการประชุมสมัชชาฯครั้งที่20 นี้

นายหวาง หยาง

แต่นอกเหนือไปจากนั้น ยังคาดหมายจะมีการแต่งตั้งบุคคลในระดับผู้นำพรรค รวมถึงการกำหนดตัวบุคคลที่จะขึ้นมาเป็นผู้บริหารประเทศ รวมถึงการวางตัวบุคคลที่จะมารับหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อจากนายหลี่ เค่อเฉียง ที่กำลังจะลงจากตำแหน่งในเดือนมีนาคมปีหน้า (2566) และทำให้ชื่อของ นายหวาง หยาง วัย 67 ปี ปรากฏขึ้นในฐานะหนึ่งในตัวเก็งที่จะมารับตำแหน่งนี้ 

 

ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเปรียบได้กับ “ผู้นำอันดับสองของจีน” รองจากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แต่อาจไม่ได้สำคัญมากนักในเชิงอิทธิพลเนื่องจากประธานาธิบดีสีได้รวมศูนย์อำนาจของเขาไว้เเล้ว อย่างไรก็ตาม นายกฯหลี่ เค่อเฉียง นับว่ามีบทบาทสำคัญด้านเศรษฐกิจของจีน ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา

 

หวาง หยาง คือใคร มีผลงานอย่างไรมาบ้าง?

ในช่วงที่หวาง หยางทำหน้าที่หัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขากวางตุ้ง ซึ่งติดกับฮ่องกง เขาผลักดันการปรับปรุงอุตสาหกรรมที่ล้าสมัยและต้องการให้นโยบายภาคสังคมคำนึงถึงความเป็นอยู่ของคนทุกกลุ่ม

 

เมื่อปลายปี 2011 (พ.ศ.2554) ขณะเกิดเหตุการณ์เผชิญหน้ากันกรณีเเย่งที่ดิน หวางได้ไล่เจ้าหน้าที่ที่คอร์รัปชั่นออกจากตำแหน่ง นอกจากนี้ เขายังเคยอนุญาตให้ผู้ประท้วงแย้งผลการเลือกตั้งท้องถิ่น ถือเป็นผลงานของเขาที่ได้รับการชื่นชมจากนานาชาติ

 

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า หวาง หยาง ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานเเม้มิได้เกิดมามีฐานะดี เขาเคยเป็นลูกจ้างในโรงงานผลิตอาหาร และทำงานตั้งเเต่อายุยังน้อยเพื่อหาเลี้ยงครอบครัวที่มีแม่ของเขาเป็นเเม่เลี้ยงเดี่ยว

 

หวางเริ่มก้าวหน้าในพรรคเมื่อเขาได้รับความสนใจจากนายเติ้ง เสี่ยวผิง อดีตผู้นำจีนผู้ทรงอิทธิพล และต่อมาหวางยังสนิทสนมกับหู จิ่นเทา อดีตประธานาธิบดีจีน (ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนและประธานาธิบดีตั้งแต่ปี 2545 ถึง 2555)

 

ผู้ที่ได้พบกับหวาง กล่าวว่าเขาเป็นคนมีความมั่นใจในตัวเองและมีคุณลักษณะน่ายอมรับนับถือ เขาชอบที่จะปล่อยให้เห็นผมหงอก เเทนที่จะย้อมผมดำสนิท ซึ่งเเตกต่างจากคนระดับผู้นำของจีนคนอื่น ๆ

 

เมื่อ10 กว่าปีก่อนขณะที่เขาได้พบปะกับนักข่าวที่เมืองกวางเจา หวางสนทนากับสื่อแบบไม่มีบทพูด และเเสดงให้เห็นถึงอารมณ์ขันของเขาในหลายประเด็นที่คุยกัน ซึ่งการวางตัวเป็นกันเองเช่นนี้ เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่หวางแตกต่างจากผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์คนอื่นๆ อย่างชัดเจน

 

สำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่าเมื่อปี 2013 หวางได้พบกับนายเเจ็ค ลิว รัฐมนตรีคลังสหรัฐในขณะนั้น เขาได้คุยติดตลกเรื่องการสมรสของชาวเกย์ด้วย

 

วิลลี เเลม ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญจีนศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยจีน (Chinese University) ที่ฮ่องกง ให้ความเห็นว่า หวางเป็นคนหัวเสรีนิยมที่สุดในกลุ่มคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ หรือโปลิตบูโร ชุดปัจจุบัน

 

อย่างไรก็ตามในช่วง 10 ที่ผ่านมาที่สี จิ้นผิงเป็นประธานาธิบดี การทำงานในทิศทางสายเสรีนิยมของหวาง หยาง ที่มณฑลกวางตุ้งมีน้อยลง ขณะที่เกิดมาตรการลดทอนบทบาทของสื่อและภาคประชาสังคมมากขึ้น

 

สำหรับบทบาทอื่น ๆ ของเขา หวางเคยรับผิดชอบงานด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงกับสหรัฐอเมริกา

 

เมื่อปี 2017 เขาได้รับการเลื่อนตำแหน่งอยู่ในคณะกรรมการบริหารสูงสุดของพรรค โดยมีความอาวุโสเป็นอันดับ4 จากจำนวนสมาชิกทั้งหมด 7 คน หรือที่เรียกกันว่า "7อรหันต์" นอกจากนั้น หวางยังดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มที่ปรึกษาด้านการเมืองของพรรคที่ชื่อว่า Chinese People's Political Consultative Conference หรือ CPPCC

 

มีคำถามที่น่าสนใจก็คือ ถ้าหากหวาง หยาง เป็นสายเสรีนิยมและเเตกต่างจากผู้นำพรรคตามขนบเดิม ๆ เพราะเหตุใดเขาจึงได้รับการสนับสนุนจากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง

 

จากการรายงานของรอยเตอร์ คำตอบก็คือ สีให้ความไว้ใจหวาง หยาง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจากการที่หวางทำงานอย่างเงียบ ๆ และด้วยความจงรักภักดีต่อสีในช่วง 5 ปีที่อยู่ในคณะกรรมการใหญ่ของพรรค นอกจากนี้ ภายใต้การนำของสี จิ้นผิง หวางดูเหมือนว่าจะลดความคิดเสรีนิยมลง โดยเห็นได้จากการสะท้อนเเนวคิดเเข็งขันในเรื่องอำนาจของจีนต่อประเด็นการเมืองร้อน ๆ เช่น ไต้หวัน ซินเจียง และทิเบต และเเสดงออกเพื่อสนับสนุนสีอย่างชัดเจน

 

ยกตัวอย่างในการทำหน้าที่หัวหน้ากลุ่ม CPPCC ภายในพรรค หวางรับผิดชอบด้านนโยบายของพรรคที่มีต่อมณฑลซินเจียงทางตะวันตกของจีน ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีกลุ่มชาติพันธุ์ชาวมุสลิม จำนวนที่อาจมากถึงหนึ่งล้านคนถูกคุมตัวให้อยู่ค่ายกักกัน

 

รอยเตอร์รายงานว่า ก่อนที่ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเดินทางเยือนซินเจียงในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาท่ามกลางเสียงวิจารณ์จีนจากกลุ่มสิทธิมนุษยชน หวางกล่าวว่าชาวมุสลิมในซินเจียงอยู่กันอย่างมี "ความสุข” และมี “ความมั่นคง" ในชีวิต สอดคล้องตามรายงานของสำนักข่าวซินหัว สื่อใหญ่ของทางการ