สื่อนอกเผยกองทัพอากาศไทย-จีนเตรียมซ้อมรบครั้งแรกในรอบ 2 ปี สัปดาห์หน้า

09 ส.ค. 2565 | 00:58 น.

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานอ้างอิงแหล่งข่าวจากกองทัพอากาศของไทยวานนี้ (8 ส.ค.) ระบุว่า ไทยและจีนจะทำการซ้อมรบทางอากาศในสัปดาห์หน้าภายใต้ชื่อปฏิบัติการ "Falcon Strike 2022" หลังจากที่การซ้อมรบร่วมได้ถูกระงับไปเป็นเวลา 2 ปี สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

สำนักข่าวรอยเตอร์ สื่อใหญ่ของสหรัฐ อ้างอิงแหล่งข่าวจาก กองทัพอากาศ ที่ไม่ประสงค์ออกนาม ระบุว่า การซ้อมรบ ระหว่าง กองทัพอากาศไทย-จีน ซึ่งจะใช้ชื่อ ปฏิบัติการ "Falcon Strike 2022" จะมีขึ้นเป็นเวลา 11 วัน ตั้งแต่วันที่ 14 ส.ค. โดยใช้ฐานทัพอากาศในจังหวัดอุดรธานี ซึ่งเดิมเคยเป็นฐานทัพอากาศของสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามเวียดนาม

 

รอยเตอร์ระบุว่าไทยและจีนได้กำหนดวันซ้อมรบดังกล่าวตั้งแต่เดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา และจะมีขึ้นขณะที่กองทัพจีนยังคงทำการซ้อมรบรอบเกาะไต้หวัน เพื่อตอบโต้ต่อการเดินทางเยือนไต้หวันของนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเมื่อวันที่ 2-3 ส.ค.ที่ผ่านมา (อ่านเพิ่มเติม: จีนไม่เลิก ลั่น "ขยายเวลาซ้อมรบ" กดดันไต้หวันอีก 1 เดือนเต็ม! )

 

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า กองทัพอากาศไทยจะไม่ใช้เครื่องบินรบ F-16 ของสหรัฐเข้าร่วมการซ้อมรบในครั้งนี้ แต่จะใช้เครื่องบินขับไล่กริพเพนของสวีเดน และเครื่องบินรบอัลฟ่าเจ็ทของเยอรมนี

 

นอกจากนี้ แหล่งข่าวระบุว่า การซ้อมรบดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มความร่วมมือทางการทหารระหว่างไทย-จีนในความพยายามรักษาสันติภาพและความมั่นคงภายในภูมิภาค

F-35

รอยเตอร์รายงานว่า ไทยนั้นนับเป็นพันธมิตรเก่าแก่ที่สุดของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคเอเชีย แต่หลังจากที่ไทยมีการรัฐประหารในปี 2014 (พ.ศ.2557) ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศก็มีความตึงเครียดเกิดขึ้น จากการที่สหรัฐไม่ต้องการสุงสิงกับรัฐบาลทหาร ทำให้ช่วงเวลาดังกล่าวไทยได้เพิ่มความสัมพันธ์และความร่วมมือด้านกลาโหมกับจีนมากขึ้น

 

สำหรับกองทัพอากาศไทย ได้ชื่อว่ามีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เพียบพร้อมและทันสมัยมากที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาค โดยแต่ดั้งเดิมมา ทัพอากาศไทยมักใช้ซัพพลายเออร์จากสหรัฐ และขณะนี้ก็กำลังอยู่ในกระบวนการจัดซื้อเครื่องบินรบ F-35 จากบริษัทล็อกฮีด มาร์ติน คอร์ป ของสหรัฐอเมริกา เพื่อมาใช้ทดแทนเครื่องบิน F-16 ที่เก่าแก่มากแล้ว  

 

ข้อมูลอ้างอิง

Thailand, China to resume air force exercises after pandemic pause