วิจัยชี้ไวรัสฝีดาษลิงอาจกลายพันธุ์มากเกินคาด ขณะยอดติดเชื้อพุ่งไม่หยุด

25 มิ.ย. 2565 | 23:50 น.

คณะนักวิจัยในโปรตุเกสเปิดเผยว่า ไวรัสโรค 'ฝีดาษลิง' อาจจะมีการกลายพันธุ์มากกว่าที่คาดไว้ เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา ขณะที่มีการตรวจพบเป็นครั้งแรกในไต้หวันและโคลอมเบียในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

นักวิทยาศาสตร์ได้เปิดเผย ผลวิจัย ที่เผยแพร่ในวารสารเนเจอร์ เมดิซีน (Nature Medicine) ในวันศุกร์ (24 มิ.ย.) ระบุว่า ตัวอย่าง ไวรัสฝีดาษลิง ที่เก็บในปี 2565 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ล่าสุดของไวรัสฝีดาษลิง ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกควบคุมได้ในพื้นที่บางส่วนของแอฟริกานั้น มีลักษณะทางพันธุกรรมที่เปลี่ยนแปลงหรือกลายพันธุ์ไปประมาณ 50 ตำแหน่งเมื่อเทียบกับไวรัสฝีดาษลิงที่แพร่ระบาดในปี 2561-2562

 

พวกเขาพบว่า ไวรัสฝีดาษลิงยังคงมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องในระหว่างที่มีการแพร่ระบาดในปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในรหัสพันธุกรรม, สายพันธุ์ย่อย และยีนที่หลุดหายไป (deleted gene)

 

เจา เปาโล โกเมส จากสถาบันสุขภาพแห่งชาติในกรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส และหนึ่งในผู้เขียนรายงานวิจัยดังกล่าวระบุว่า "เป็นเรื่องที่ไม่คาดคิดที่จะพบการกลายพันธุ์จำนวนมากของไวรัสฝีดาษลิงในปี 2565"

ฝีดาษลิงวันนี้แตกต่างจากในอดีต

อัตราการกลายพันธ์ุดังกล่าวอาจบ่งชี้ว่า วิวัฒนาการของไวรัสตัวนี้กำลังรวดเร็วขึ้น ขณะที่ผลการวิเคราะห์ยีนเมื่อต้นเดือนมิถุนายน พบว่า มีไวรัสฝีดาษลิง 2 สายพันธ์ุที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนอยู่ในสหรัฐ ซึ่งเพิ่มความเป็นไปได้ที่ว่า ไวรัสตัวนี้อาจวนเวียนอยู่ในสหรัฐฯ มาสักพักหนึ่งแล้ว

 

นักวิจัยกล่าวว่า ในความเป็นจริงนั้น เมื่อพิจารณาถึงลักษณะจีโนมของไวรัสชนิดนี้แล้ว ไม่น่าจะมีการกลายพันธุ์มากกว่าหนึ่งหรือสองครั้งเกิดขึ้นในแต่ละปี

 

ไวรัสฝีดาษลิงนั้นมีลักษณะเสถียรกว่าและกลายพันธุ์ช้ากว่าไวรัสโคโรนาซึ่งทำให้เกิดโรคโควิด-19 โดยในอดีตนั้น โรคฝีดาษลิงไม่ได้แพร่ระบาดจากคนสู่คนได้ง่าย ๆ

 

ทั้งนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่า การกลายพันธุ์ที่พบในไวรัสฝีดาษลิงที่แพร่ระบาดอยู่ในปัจจุบันนั้น อาจเปลี่ยนแปลงลักษณะที่เคยเป็นมาเหล่านั้น หรือเปลี่ยนแปลงความรุนแรงของโรคที่เกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของไวรัสดังกล่าวให้ดียิ่งขึ้น

 

ขณะเดียวกัน องค์การอนามัยโลก (WHO) เองได้ยืนยันว่า มีผู้ติดเชื้อฝีดาษลิง (Monkeypox) แล้วกว่า 3,200 รายทั่วโลก และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย (นอกเขตการแพร่ระบาดในแอฟริกา) จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดในชุมชนเป็นวงกว้างขึ้น

สถานการณ์น่าเป็นห่วงในอังกฤษ

สำนักงานความปลอดภัยสุขภาพของสหราชอาณาจักร (UKHSA) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิง ในประเทศ ว่านับตั้งแต่มีการยืนยันผู้ติดเชื้อคนแรกเมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมา สถิติผู้ป่วยฝีดาษลิงสะสมในปัจจุบันอยู่ที่ 810 คนเป็นอย่างน้อย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพศชาย มีเพียง 5 คน ที่เป็นผู้หญิง


ปัจจุบัน สหราชอาณาจักร เป็นประเทศมีผู้ติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิงสะสมมากที่สุดนอกทวีปแอฟริกา ทั้งนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีประวัติการเดินทางไปยังเกาะกรันกานาเรีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะคะแนรี ที่อยู่นอกชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของสเปนเมื่อช่วงต้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา


ทั้งนี้ ปัจจุบันมีเกือบ 50 ประเทศบนโลก ยืนยันการพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงสะสมรวมกันมากกว่า 3,300 คนในปีนี้ และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย ตามฐานข้อมูลของ WHO พบว่า โคลอมเบียเป็นประเทศล่าสุดที่พบผู้ป่วย 3 คนแรก พวกเขามีประวัติการเดินทางเกี่ยวข้องกับทวีปยุโรป ส่วนไต้หวัน ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกองค์การอนามัยโลก รายงานการพบผู้ติดเชื้อคนแรกเช่นกัน และเขาเพิ่งเดินทางกลับมาจากเยอรมนี

 

นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ของ WHO กล่าวในการประชุมคณะกรรมการฉุกเฉินว่าด้วยกฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR 2005) ว่า การระบาดของผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงจากคนสู่คนยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง และอาจมีการประเมินที่ต่ำเกินไป นอกจากนี้ ในประเทศที่โรคฝีดาษลิงไม่ใช่โรคประจำถิ่นนั้น ส่วนใหญ่พบการติดเชื้อในหมู่ผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายด้วยกัน

 

ทั้งนี้ WHO ได้จัดการประชุม IHR เป็นการฉุกเฉินเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (23 มิ.ย.) เพื่อให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญได้ร่วมกันตัดสินใจว่าควรจะประกาศให้โรคฝีดาษลิงเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลกหรือไม่ โดย WHO ให้ความสำคัญกับความกังวลด้านสาธารณสุขทั่วโลกมากเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งนับจนถึงขณะนี้มีประเทศต่าง ๆ ราว 48 ประเทศรายงานพบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงในการแพร่ระบาดรอบปัจจุบันซึ่งเริ่มขึ้นในเดือนพ.ค.2565

 

ล่าสุด สื่อต่างประเทศรายงานเมื่อวันเสาร์ (25 มิ.ย.) ระบุผลการประชุมของ WHO ยังไม่จัดให้การแพร่ระบาดของไวรัสฝีดาษลิงในปัจจุบันเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (PHEIC) ซึ่งเป็นการเฝ้าระวังระดับสูงสุดของ WHO แต่แนะทั่วโลกให้ป้องกันการแพร่กระจายและเฝ้าจับตาอย่างใกล้ชิด