เตือน! ฝีดาษลิงเสี่ยงระบาดในไทยหลังพบเคสแรกที่สิงคโปร์ เพราะอะไร อ่านเลย

22 มิ.ย. 2565 | 21:11 น.

เตือน! ฝีดาษลิงเสี่ยงระบาดในไทยหลังพบเคสแรกที่สิงคโปร์ เพราะอะไร อ่านเลยที่นี่มีคำตอบ หมอเฉลิมชัยเผยปัจจุบันวินิจฉัยโรคยากมากขึ้น

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

ฝีดาษลิงใกล้เข้ามาทุกขณะ พบเคสแรกที่สิงคโปร์แล้ว นับเป็นเคสแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

ฝีดาษลิง(Monkeypox) พบในลิงทดลองเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2501 และต่อมาได้มีการติดต่อมายังมนุษย์

 

ทำให้เกิดเป็นโรคประจำถิ่นอยู่ในเขตแอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลาง มาหลายสิบปี

 

มีการระบาดออกมานอกทวีปแอฟริกาประปราย แต่ทุกรายล้วนแต่มีการเดินทางไปในทวีปแอฟริกามาทั้งสิ้น

 

ในปี 2565 เกิดมีการระบาดของฝีดาษลิงนอกเขตทวีปแอฟริกา และเริ่มมีการติดต่อกันเอง โดยที่ไม่มีประวัติการเดินทางไปแอฟริกา

ขณะนี้พบผู้ติดเชื้อแล้ว 39 ประเทศเฉพาะที่อยู่นอกเขตโรคประจำถิ่นของแอฟริกา มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 2500 คน

 

ช่วงเวลาที่ผ่านมา ยังไม่พบเคสในประเทศไทยเลย และยังไม่พบเคสในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

อย่างไรก็ตามเมื่อวานนี้ (21 มิถุนายน 2565) กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ ได้แถลงยืนยันเคสแรกของสิงคโปร์ที่เป็นฝีดาษลิง

 

ฝีดาษลิงเสี่ยงระบาดในไทย

 

เป็นชายชาวอังกฤษวัย 42 ปี ทำงานเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน และได้บินเข้าออกสิงคโปร์หลายครั้งในช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2565

 

มีผลการตรวจฝีดาษลิงเป็นบวกเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2565 ขณะนี้กำลังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลของสิงคโปร์ อาการทรงตัว

 

ทางการสิงคโปร์ได้ทำการค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงบนเครื่องได้ 13 ราย และจะกักตัวเป็นเวลา 21 วันในเบื้องต้น
 

นอกจากนั้นยังกำลังติดตามตัวผู้สัมผัสเสี่ยง ซึ่งไม่ได้ทำงานบนเครื่องบิน หากแต่สัมผัสใกล้ชิดระหว่างที่ผู้ติดเชื้อพำนักอยู่ในสิงคโปร์

 

จากกรณีดังกล่าวนี้เอง ทำให้ประเทศไทยจำเป็นจะต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น เพราะเมื่อพบเคสในสิงคโปร์แล้ว

 

ซึ่งจัดเป็นประเทศที่มีผู้เดินทางไปมาระหว่างไทยกับสิงคโปร์เป็นจำนวนมากทุกวัน ย่อมมีความเสี่ยงที่ไทยอาจพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงได้

 

และในปัจจุบัน ฝีดาษลิงก็ตรวจพบยากขึ้น เพราะมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากปรากฏผื่นที่อวัยวะเพศและรอบทวารหนัก แทนที่จะพบที่ใบหน้าและแขนขา

 

จึงทำให้วินิจฉัยได้ยากยิ่งขึ้น การควบคุมป้องกันโรคก็จะทำได้ลำบากยิ่งขึ้น