‘โอเปกพลัส’ มีมติเพิ่มกำลังการผลิต 648,000 บาร์เรล/วัน

03 มิ.ย. 2565 | 02:03 น.

กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส เสร็จสิ้นการประชุมวานนี้ (2 มิ.ย.) โดยที่ประชุมมีมติเพิ่มกำลังการผลิต 648,000 บาร์เรล/วัน ทั้งในเดือนกรกฎาคม และสิงหาคม ซึ่งปริมาณดังกล่าวคิดเป็น 0.7% ของความต้องการจากทั่วโลก

มติของ โอเปกพลัส ที่ให้ เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน 648,000 บาร์เรล/วัน ทั้งในเดือนกรกฎาคม และสิงหาคม 2565 นั้น นับว่าสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่า โอเปกพลัสจะเพิ่มกำลังการผลิตเพียง 432,000 บาร์เรล/วันในเดือนก.ค. ไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับการผลิตในเดือนมิ.ย.

 

ก่อนหน้านี้ สหรัฐอเมริกาและหลายชาติที่นำเข้าน้ำมันต่างเรียกร้องให้โอเปกพลัสเพิ่มการผลิตให้มากขึ้นกว่าในระดับปัจจุบัน หลังจากที่ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นเหนือระดับ 139 ดอลลาร์/บาร์เรลในเดือนมี.ค. 2565 ทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2551 และหลังจากที่รัสเซียส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครน

 

ทั้งนี้ โอเปกพลัสจะจัดการประชุมกำหนดนโยบายการผลิตครั้งต่อไปในวันที่ 30 มิ.ย.

โอเปกพลัสจะจัดการประชุมกำหนดนโยบายการผลิตครั้งต่อไปในวันที่ 30 มิ.ย.

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ซาอุดิอาระเบีย และประเทศสมาชิกกลุ่มโอเปกพลัส บรรลุข้อตกลงที่จะยกระดับการผลิตน้ำมันดังกล่าวข้างต้น เพื่อชดเชยปริมาณน้ำมันจากรัสเซียที่หายไป และช่วยกดราคาน้ำมันและเงินเฟ้อที่พุ่งสูง ก่อนที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ จะเดินทางเยือนกรุงริยาด (ซาอุดิอาระเบีย) ในเร็ว ๆ นี้

รอยเตอร์อ้างอิงแหล่งข่าวที่ไม่ประสงค์จะออกนามว่า แผนการเยือนซาอุฯ ของปธน.ไบเดนยังไม่มีข้อสรุป แต่อาจมีขึ้นหลังจากการประชุมกลุ่มจี 7 ที่เยอรมนี และการประชุมกลุ่มสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ในสเปน นอกจากนี้ ผู้นำสหรัฐยังมีกำหนดเดินทางไปที่อิสราเอล เพื่อหารือกับนายนาฟทาลี เบนเน็ต นายกรัฐมนตรีอิสราเอล

 

รอยเตอร์ชี้ว่า การตัดสินใจเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันครั้งล่าสุดนี้ เป็นเหมือนสัญญาณของความเต็มใจจากซาอุดิอาระเบียและประเทศสมาชิกโอเปกอื่น ๆ ในแถบอ่าวเปอร์เซีย ที่จะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเสียที หลังจากประเทศในตะวันตกส่งแรงกดดันมาหลายเดือนให้ประเทศผู้ผลิตพลังงานเหล่านี้ ช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำมันที่รุนแรงขึ้นจากการดำเนินมาตรการลงโทษรัสเซีย

 

หลังมีรายงานการตัดสินใจของโอเปกพลัสออกมา ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับขึ้นมาถึงระดับ 117 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลทันที ขณะที่ นักวิเคราะห์กล่าวว่า การที่กระบวนการผลิตปรับขึ้นจริงก็จะไม่ได้มีนัยสำคัญนัก เพราะสมาชิกโอเปกส่วนใหญ่ ยกเว้น ซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ได้เดินหน้ายกระดับการผลิตนำไปแล้ว

ในช่วงที่ผ่านมา ปริมาณน้ำมันที่ผลิตโดยสมาชิกกลุ่มโอเปกพลัส ซึ่งรวมถึง รัสเซียด้วย หดหายไปถึงราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังนานาประเทศดำเนินมาตรการลงโทษต่อมอสโกที่ส่งกองทัพรุกรานยูเครน

 

ในส่วนของแผนการเยือนริยาดครั้งแรกของปธน.ไบเดนนั้น ทีมงานเจ้าหน้าที่การทูตสหรัฐได้ทำการเตรียมงานมาเป็นเวลาหลายสัปดาห์แล้ว หลังความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและซาอุดิอาระเบียอยู่ในภาวะตึงเครียดตลอด 2 ปีที่ผ่านมา จากการที่ทั้งสองประเทศเห็นต่างในประเด็นสิทธิมนุษยชน สงครามในเยเมน และการที่สหรัฐส่งอาวุธให้กับรัฐบาลกรุงซานา

เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน อัล ซาอุด

นอกจากนี้ หน่วยงานข่าวกรองสหรัฐยังกล่าวหาเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน อัล ซาอุด หรือ MbS ว่า เป็นจอมบงการผู้อยู่เบื้องหลังการสังหารนายจามาล คาชอกกี ผู้สื่อข่าวชาวซาอุฯ ซึ่งเป็นข้อหาที่มกุฎราชกุมารองค์นี้ปฏิเสธ

 

ยิ่งไปกว่านั้น ทั้งซาอุฯ และยูเออี ต่างรู้สึกคับข้องใจต่อการที่รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ต่อต้านปฏิบัติการทางทหารในเยเมน และการที่กรุงวอชิงตันไม่สนใจความกังวลของประเทศในแถบอ่าวเปอร์เซียเกี่ยวกับโครงการพัฒนาขีปนาวุธของอิหร่านด้วย

 

ทั้งนี้ ทำเนียบขาวแสดงความยินดีต่อการตัดสินใจของโอเปกพลัส และยอมรับว่า ซาอุดิอาระเบียมีบทบาทอย่างมากในการผลักดันให้สมาชิกกลุ่ม ยอมตกลงเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันในครั้งนี้