ผู้นำอียูผ่าทางตัน ลงมติแบนนำเข้าน้ำมันรัสเซียเกือบทั้งหมดปลายปีนี้

31 พ.ค. 2565 | 05:12 น.

หลังเจรจากันมานานนับเดือน สุดท้ายบรรดาผู้นำอียู ก็มีมติห้ามการนำเข้าน้ำมันส่วนใหญ่ หรือ 90% จากรัสเซียปลายปีนี้ (2565) โดยมีข้อยกเว้นบางประการสำหรับฮังการี 

ผู้นำประเทศสหภาพยุโรป (อียู) ตกลงใจ ห้ามการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย แล้วในการประชุมวานนี้ (30 พ.ค.) ที่กรุงบรัสเซลส์ หลังจากยินยอมให้มีข้อยกเว้นสำหรับฮังการี สาธารณรัฐเชก และสโลวาเกีย 

 

การห้ามนำเข้าน้ำมันรัสเซียครั้งนี้ แม้จะไม่ทั้งหมด (ราว 90%) แต่ก็เป็นส่วนใหญ่ เป้าหมายเพื่อใช้เป็นมาตรการ ลงโทษรัสเซีย ที่บุกเข้าโจมตียูเครนตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. ที่ผ่านมา

 

สื่อต่างประเทศระบุว่า ประเทศสมาชิกอียูใช้เวลาหลายสัปดาห์ในการเจรจาต่อรองข้อเสนอแบนการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียทั้งหมด เนื่องจากต้องเผชิญการคัดค้านจากนายกรัฐมนตรี วิกเตอร์ ออร์บาน ของฮังการี และสุดท้ายในการประชุมเมื่อวันจันทร์ (30 พ.ค.) ผู้นำสหภาพยุโรปในกรุงบรัสเซลส์ได้บรรลุข้อตกลงแบบ "ประนีประนอม" เพื่อยกเว้นการแบนน้ำมันรัสเซียที่ถูกส่งมาทางท่อส่งน้ำมันเข้ามายังยุโรป หลังจากฮังการีเตือนว่าการหยุดส่งน้ำมันจะทำลายเศรษฐกิจของฮังการีโดยเสิ้นเชิง

นายชาร์ลส์ มิเชล ประธานคณะมนตรียุโรปทวีตระหว่างการประชุมว่า "มีข้อตกลงห้ามส่งออกน้ำมันรัสเซียไปยังสหภาพยุโรป ซึ่งครอบคลุมการนำเข้าน้ำมันมากกว่า 2 ใน 3 จากรัสเซียในทันที ทำให้แหล่งเงินทุนขนาดใหญ่สำหรับการทำสงครามลดลง เพิ่มแรงกดดันสูงสุดให้รัสเซียยุติสงคราม" 

 

นอกจากนี้ เขายังเผยด้วยว่า มาตรการคว่ำบาตรรอบล่าสุดยังรวมถึงการตัดธนาคาร Sberbank ของรัสเซียออกจากระบบ SWIFT การแบนสถานทีโทรทัศน์ของทางการรัสซีย 3 แห่ง และการขึ้นบัญชีดำปัจเจกบุคคล และอียูยังตกลงจะส่งเงิน 9,000 ล้านยูโรไปช่วยยูเครนอีกด้วย

นางเออร์ซูลา ฟอน เดอ เลเยน ประธานคณะกรรมธิการยุโรป

ด้านนางเออร์ซูลา ฟอน เดอ เลเยน ประธานคณะกรรมธิการยุโรปกล่าวว่า ความเคลื่อนไหวนี้จะลดการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียมายังอียูราว 90% ภายในสิ้นปี 2565 โดยเยอรมนีและโปแลนด์ให้คำมั่นที่จะปฏิเสธการส่งน้ำมันรัสเซียจากท่อส่งน้ำมันไปยังดินแดนของตัวเอง

 

ทั้งนี้ การถกเถียงของอียูเกี่ยวกับมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียครั้งที่ 6 นับว่าสั่นคลอนความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของยุโรปอยู่มาก 

ข้อตกลงดังกล่าวยกเว้นการส่งน้ำมันจากท่อ "ดรูชบา" ออกจากการแบน และจะคว่ำบาตรเฉพาะน้ำมันดิบที่ส่งมายังยุโรปด้วยเรือบรรทุกน้ำมัน และแม้ว่าจะมีช่องว่างของการแบนจากฝั่งของฮังการี แต่มาตรการคว่ำบาตรรอบล่าสุดนี้ ก็ถือเป็นหนึ่งในมาตรการที่รุนแรงที่สุดที่ยุโรปนำมาใช้กับรัสเซียจนถึงขณะนี้

ข้อตกลงดังกล่าวยกเว้นการส่งน้ำมันจากท่อ "ดรูชบา" ออกจากการแบน

ปัจจุบัน อียูนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียราว 26% และถูกประณามว่า การทำเช่นนั้นเท่ากับว่ายุโรปยังคงส่งเงินเข้าคลังของรัสเซียซึ่งจะถูกนำไปใช้ในการทำสงคราม ย้อนแย้งกับความพยายามที่จะหาทางยุติสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน

 

หลังจากผู้นำอียูมีมติแบนการนำเข้าน้ำมันส่วนใหญ่จากรัสเซีย ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกก็พุ่งแรงทันที โดยสัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ของสหรัฐในระหว่างการซื้อขายในเอเชียวันนี้(31 พ.ค.) ปรับตัวขึ้นมากกว่า 2% เป็น 117.74 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ปรับตัวขึ้น 0.62% เป็น 122.43 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล