“ยูเอ็น-เวิลด์แบงก์” ขยับ รับวิกฤตอาหารโลกส่อเค้าลากยาว

20 พ.ค. 2565 | 01:23 น.

ประชากรโลกมากกว่าครึ่งล้านคนกำลังเผชิญกับความอดอยากและทุพภิกขภัยขั้นรุนแรง เลขาธิการยูเอ็นวอนรัสเซียเปิดทางส่งออกธัญพืชจากท่าเรือยูเครน ด้านธนาคารโลกเตรียมสำรองเงินกู้ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อแก้ไขวิกฤตอาหารที่ส่อเค้าลากยาว  

นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กล่าวระหว่าง การประชุมสุดยอดผู้นำเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ด้านอาหาร ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า โลกอาจเกิด “ความอดอยากและทุพภิกขภัย” อย่างกว้างขวางเป็นเวลายาวนานหลายปีได้ หากไม่มีการแก้ปัญหา วิกฤตทางอาหาร ที่กำลังทวีความรุนแรงในเวลานี้

 

นายกูเตอร์เรสกล่าวในที่ประชุมซึ่งมีนายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐเป็นประธานว่า สงครามในยูเครนกลายเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ซ้ำเติมสภาวะความไม่มั่นคงทางอาหาร ที่ถูกรุมเร้าจากหลากหลายเหตุปัจจัยอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น รวมทั้งการแพร่ระบาดของโควิดก่อนหน้านี้

 

เลขาธิการยูเอ็นยังระบุด้วยว่า ในช่วงเวลาเพียง 2 ปี มีประชากรโลกที่ต้องอยู่อย่างไม่มีความมั่นคงทางอาหารเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากเดิม 135 ล้านคนในช่วงก่อนการแพร่ระบาด เป็น 276 ล้านคนในเวลานี้

 

ขณะเดียวกัน มีประชากรโลกอีกมากกว่าครึ่งล้านคนที่ต้องเผชิญกับความอดอยากและทุพภิกขภัยขั้นรุนแรง ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 500% นับตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา

“ยูเอ็น-เวิลด์แบงก์” ขยับ รับวิกฤตอาหารโลกส่อเค้าลากยาว

เลขาธิการยูเอ็นจึงเรียกร้องต่อรัสเซียที่เข้ายึดครองเมืองท่าสำคัญของยูเครนเอาไว้ ขอให้ปล่อยให้มีการส่งออกธัญพืชที่เป็นแหล่งอาหารสำคัญของโลกเพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤตทางอาหารที่จะเกิดขึ้น

 

ก่อนหน้านี้ สินค้าส่วนใหญ่ของยูเครนจะใช้ “ท่าเรือ” เป็นเส้นทางหลักในการส่งออก แต่หลังจากรัสเซียเริ่มบุกรุกรานยูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ. ที่ผ่านมา ยูเครนต้องเปลี่ยนมาใช้เส้นทางรถไฟ หรือการส่งผ่านแม่น้ำดานูบ โดยสงครามครั้งนี้ส่งผลให้ราคาเมล็ดพืช น้ำมันทำอาหาร น้ำมันเชื้อเพลิง และปุ๋ย เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก ซึ่งเสี่ยงที่จะทำให้วิกฤตด้านอาหาร พลังงาน และเศรษฐกิจ ยิ่งเลวร้ายลงไปอีกในกลุ่มประเทศยากจน

 

ทั้งนี้ รัสเซียและยูเครน มีปริมาณการส่งออกข้าวสาลี รวมกันคิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของตลาดโลก และยูเครนถือเป็นผู้ส่งออกข้าวโพด ข้าวบาร์เลย์ น้ำมันดอกทานตะวัน และน้ำมันเรพซีด รายใหญ่ของโลก

 

ด้าน ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ได้ เตรียมสำรองเงินกู้ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อแก้ไขวิกฤตอาหารครั้งนี้ โดยวงเงินดังกล่าวจะใช้สำหรับทั้งโครงการในปัจจุบันและโครงการใหม่ที่ครอบคลุมทั้งด้านเกษตรกรรมโภชนาการ การคุ้มครองทางสังคม น้ำ และการชลประทาน เป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหารตลอดช่วง 15 เดือนข้างหน้า

ความไม่มั่นคงทางอาหารถูกรุมเร้าจากหลากหลายเหตุปัจจัยอยู่แล้ว รวมทั้งการแพร่ระบาดของโควิด

นอกจากนี้ วงเงินดังกล่าวจะยังครอบคลุมการส่งเสริมการผลิตอาหารและปุ๋ย เพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบอาหาร สนับสนุนด้านการค้าให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตลอดจนให้ความช่วยเหลือแก่ครัวเรือนและผู้ผลิตกลุ่มที่เปราะบาง

 

ธนาคารโลกจะร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ในการจัดตั้งโครงการใหม่ ๆ มูลค่า 12,000 ล้านดอลลาร์ในช่วง 15 เดือนข้างหน้า เพื่อรับมือวิกฤติความมั่นคงด้านอาหาร นายเดวิด มัลพาส ประธานธนาคารโลกกล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ราคาอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้นกำลังส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อคนยากจนและกลุ่มเปราะบาง เขาขอให้ประเทศต่าง ๆ พยายามร่วมมือกันเพื่อเพิ่มปริมาณพลังงาน ผลผลิตปุ๋ย และช่วยให้เกษตรกรสามารถเพิ่มอัตราการเพาะปลูกและปริมาณผลผลิต รวมถึงขอให้ประเทศต่าง ๆ ยกเลิกนโยบายระงับการส่งออกและนำเข้าในช่วงเวลานี้ด้วย