แถลงการณ์ร่วมวิสัยทัศน์ "อาเซียน-สหรัฐ" เลี่ยงระบุชื่อ "รัสเซีย"

14 พ.ค. 2565 | 22:40 น.

ผู้นำประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน และสหรัฐอเมริกา แถลงการณ์แสดงวิสัยทัศน์ร่วม (Joint Vision Statement) เนื่องในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-สหรัฐ สมัยพิเศษ ณ กรุงวอชิงตัน 12-13 พ.ค.ที่ผ่านมา ย้ำความร่วมมือในหลากมิติร่วมกัน

เวทีประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-สหรัฐ สมัยพิเศษ ที่กรุงวอชิงตัน ซึ่งถือเป็นการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-สหรัฐ ครั้งแรกที่จัดขึ้นในกรุงวอชิงตันระหว่างวันที่ 12-13 พ.ค. เนื่องในโอกาสฉลอง 45 ปีความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่าย และเสริมสร้างบทบาทสำคัญของ อาเซียน ในการนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนต่อความท้าทายเร่งด่วนที่สุดของภูมิภาคในหลายด้าน ซึ่งสะท้อนท่าทีของ สหรัฐอเมริกา ในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาคมอาเซียนว่า ภูมิภาคนี้ยังมีความสำคัญต่อสหรัฐและเป็นจุดเริ่มต้นของการประสานความร่วมมือระหว่างสองภูมิภาคที่จะยกระดับมากขึ้นในอนาคต

 

สำนักข่าววีโอเอ สื่อใหญ่ของสหรัฐ รายงานว่า แถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วม ฉบับนี้ ระบุถึงความร่วมมือระหว่างสหรัฐและอาเซียน ในการต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19 การสร้างความมั่นคงด้านสาธารณสุขร่วมกัน และการฟื้นฟูหลังการระบาดร่วมกัน

 

ในประเด็นด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ

ทั้งสองฝ่ายตกลงทำงานร่วมกันเพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน รวมถึงการปฏิบัติตาม การจัดการกรอบการค้าและการลงทุนอาเซียน – สหรัฐ (ASEAN-U.S. Trade and Investment Framework Arrangement) และ แผนปฏิบัติการโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจแบบขยาย (Expanded Economic Engagement Initiatives Workplan) ผ่านการเข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้นของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคนี้

ผู้นำสหรัฐและ 8 ชาติสมาชิกอาเซียน (ขาดเมียนมาและฟิลิปปินส์) แถลงการณ์แสดงวิสัยทัศน์ร่วมกัน

สหรัฐ และอาเซียนยังตกลงสานต่อความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการค้าและการลงทุน และการสนับสนุนห่วงโซ่อุปทานของโลก รวมทั้งการเชื่อมโยงในภูมิภาคในด้านต่าง ๆ รวมถึงการกระจายสินค้าและบริการ การแพทย์และเทคโนโลยี การคมนาคมทั้งทางบก ทางทะเลและทางอากาศ ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปโภคเพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า

 

“โครงการริเริ่มความร่วมมือทางทะเลใหม่” 60 ล้านดอลลาร์

สำหรับประเด็นภูมิรัฐศาสตร์โลก แถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมมิได้กล่าวถึงรัสเซีย แม้ว่าจะเป็นประเด็นที่ทำเนียบขาวต้องการกระตุ้นให้อาเซียนขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกับสหรัฐ และชาติตะวันตก

 

จะมีก็เพียงการระบุชื่อประเทศยูเครนในตอนท้ายของแถลงการณ์ ซึ่งประเทศผู้ร่วมประชุมสุดยอดกล่าวว่า “จะยังคงยืนยันการเคารพของพวกเราต่ออธิปไตย ความเป็นเอกภาพทางการเมืองและบูรณภาพทางดินแดน” และเรียกร้องให้เกิดการเปิดทางให้ชาวยูเครนที่ต้องการความช่วยเหลือได้รับการบรรเทาทุกข์ ตลอดจนเรียกร้องหยุดใช้ความรุนแรงรวมถึงหาทางออกอย่างสันติ

อย่างไรก็ตาม ในส่วนที่เกี่ยวกับความร่วมมือทางนาวี แถลงการณ์ระบุว่า “มีแผนจะสร้างความสัมพันธ์ใหม่เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงานกัน” ในหลายเรื่อง ซึ่งรวมถึง ความมั่นคง และการปราบปรามการทำประมงผิดกฎหมาย นอกจากนั้น ยังกล่าวถึงความมั่นคงในทะเลจีนใต้ ซึ่งแถลงการณ์ให้ความสำคัญต่อการลดความตึงเครียดและลดเหตุการณ์สุ่มเสี่ยง และยังย้ำว่าควรมีการเคารพกฎหมายระหว่างประเทศในน่านน้ำดังกล่าว

 

ใจความสำคัญของเรื่องนี้สอดคล้องกับคำประกาศของรัฐบาลประธานาธิบดีไบเดนในวันศุกร์ (13 พ.ค.)ว่า ได้เกิด “โครงการริเริ่มความร่วมมือทางทะเลใหม่” มูลค่า 60 ล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมถึง การเพิ่มศักยภาพการบังคับใช้กฎหมายเดินเรือระหว่างประเทศและการต่อต้านการประมงผิดกฎหมาย

 

ภายใต้โครงการดังกล่าว ประเทศอาเซียนที่มีดินเเดนติดทะเล จะได้รับการสนับสนุนด้วยเรือจากสหรัฐ ที่จะถูกส่งไปทำงานร่วมกัน

 

เกาหลีเหนือถูกพูดถึงในแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมเพียงสั้นๆ เช่นเดียวกับยูเครน โดยสหรัฐ และอาเซียนเรียกร้องให้รัฐบาลเปียงยางทำตามมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ประเด็นดังกล่าวถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงครั้งนี้ หลังจากที่เกาหลีเหนือทำการทดสอบยิงขีปนาวุธครั้งที่ 16 ของปีในสัปดาห์นี้

 

ในส่วนของเมียนมา เอกสารฉบับนี้กล่าวว่าประเทศผู้ร่วมประชุมสุดยอด “กังวลต่อวิกฤตในเมียนมาอย่างลึกซึ้ง” และกระตุ้นให้เมียนมาทำตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียนที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 เมษายนปีที่แล้ว ถ้อยความตอนหนึ่งระบุว่า “เราจะเพิ่มความพยายามร่วมกันเป็นทวีคูณในการหาทางออกที่สันติในเมียนมา ที่สะท้อนถึงการยึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพพื้นฐาน ตามที่บัญญัติไว้ในธรรมนูญอาเซียน”

 

อย่างไรก็ตาม ไม่มีผู้แทนจากรัฐบาลเมียนมาที่มาจากการโค่นอำนาจเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้วร่วมหารือในครั้งนี้ จะมีก็แต่ การเว้นว่างเก้าอี้ของเมียนมา ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐฯ-อาเซียน โดยเก้าอี้ที่ถูกเว้นว่างนี้สะท้อนถึงความไม่พอใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น และ “ความหวังต่อเส้นทางข้างหน้า” ของบรรดาผู้นำ

 

ไทยเชิญ "ไบเดน" ร่วมเอเปค พ.ย.นี้ ส่งไม้ต่อสหรัฐเป็นเจ้าภาพปีหน้า

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ได้แถลงข่าวกับสื่อมวลชนที่กรุงวอชิงตัน ถึงผลการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน โดยได้มีการพบภาคเอกชนสหรัฐ และเสนอแผนให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน เพื่อให้เข้ามาตั้งฐานการผลิต เพื่อแก้ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน

 

นายกฯ ยังได้กล่าวถึงการพบปะกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน เมื่อค่ำวันพฤหัสบดี (12 พ.ค.) ด้วยว่า ได้มีการหารือสั้นๆกับผู้นำสหรัฐ โดยไทยได้เทียบเชิญปธน.ไบเดน เข้าร่วมประชุมเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมในเดือนพฤศจิกายนนี้ และเตรียมส่งไม้ต่อสหรัฐที่จะเป็นเจ้าภาพปีหน้า

 

ส่วนประเด็นเรื่องสถานการณ์ในเมียนมา นายกฯ ได้กล่าวว่า ไทยและชาติอาเซียนยังคงย้ำจุดยืนในการลดความขัดแย้งอาเซียนด้วยสันติวิธี ควบคู่ไปกับการเน้นการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

 

ขณะที่ประเด็นตึงเครียดในยูเครน พลเอกประยุทธ์ ระบุว่า มหาอำนาจควรเดินหน้าการเจรจาเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งตึงเครียดที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ พลเอกประยุทธ์ในฐานะรมว.กลาโหม ยังกล่าวถึงการพูดคุยกับนายลอยด์ ออสติน รมว.กลาโหมสหรัฐ ในการหารือยุทธศาสตร์ไทย-สหรัฐ และการหารือยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันระหว่างทั้งสองฝ่าย แต่ยืนยันว่าไม่ได้รุกรานใคร แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดในการหารือครั้งนี้

 

สำหรับความร่วมมืออาเซียน-สหรัฐ ในด้านต่าง ๆ ที่ไทยมีบทบาทสำคัญในการผลักดัน การจัดตั้งคณะผู้แทนการค้าสหรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งไทยจะเป็นศูนย์กลางในด้านความร่วมมือนี้ และสะท้อนถึงการให้ความสำคัญของสหรัฐต่ออาเซียนในมิติด้านเศรษฐกิจ และเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการไทย

 

พลเอกประยุทธ์ ยังได้กล่าวถึงการพบปะบรรดานักธุรกิจสหรัฐเมื่อวันพฤหัสบดี(12 พ.ค.) เพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทยเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียนในด้านการเศรษฐกิจดิจิทัล และการจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างครอบคลุมครบถ้วน ร่วมสร้างเศรษฐกิจที่มีภูมิต้านทาน ความสมดุล และความยั่งยืน ผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือแนวทางการพัฒนาที่สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ

 

ที่มา วีโอเอ