ฉากหน้า“อาเซียน-สหรัฐ” ฉากหลัง“ไทยต้องเลือกข้าง”

14 พ.ค. 2565 | 00:00 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ

ประเทศไทยกำลังตกอยู่ใน “วงล้อมของมหาอำนาจพญาอินทรี” ที่ต้องอาศัยศิลปะการเจรจาความทางการเมืองระหว่างประเทศ เพื่อนำพาประเทศชาติให้พ้นกับดักของการตัดสินใจเลือกข้าง 
 

การตัดสินใจใดๆ ของนายกรัฐมนตรี ลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวาระการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ (สมัยพิเศษ) ล้วนมีผลกระทบกับคนไทยทุกคน
 

10 พ.ค. 2565 คณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมสุดยอดอาเซียน -สหรัฐ (สมัยพิเศษ) เพื่อเปิดทางให้นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ดอน ปรมัตินัย ได้ลงนามแทนรัฐบาลไทย
 

12-13 พ.ค.2565- พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมคณะเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกา เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ สมัยพิเศษ (ASEAN-U.S. Special Summit)  ณ กรุงวอชิงตัน กับ “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เพื่อฉลองครบรอบ 45 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐ ที่จะเปิดเวทีให้ผู้นำหารือกันเพื่อกำหนดทิศทางในการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ท่ามกลางความท้าทายที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน

กำหนดการประชุม ASEAN-U.S. Special Summit นัดหารือกันมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 และถือเป็นการประชุมสุดยอดสมัยพิเศษในสหรัฐ เป็นครั้งที่ 2 นับตั้งแต่ก่อตั้งมา
 

ครั้งแรกจัดขึ้นในเมื่อปี 2559 ที่เมือง Rancho Mirage แคลิฟอร์เนีย สมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามา ครั้งนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ที่ก้าวเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีในยุค “คสช.-คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” เข้าร่วมประชุม และถูกกดดันอย่างหนักถึงขนาดว่ารัฐบาลไทยต้องเล่นลูกอ้อนให้ สหรัฐ และผู้นำ 11 ประเทศ เห็นว่า “ไทยกำลังอยู่ในห้วงของการเริ่มต้นการปฏิรูป”
 

เพื่อให้ทุกท่านได้เห็นภาพของผลลัพธ์จาก “การเมืองซ่อนกลของสหรัฐ” ผมไปค้นการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-16 ก.พ.2559 ณ เมือง Rancho Mirage รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อครา “พล.อ.ประยุทธ์ เจอกับ ประธานาธิบดี บารัค โอบามา” ครั้งแรก และเป็นการหารือท่ามกลางนโยบาย “1 แถบ 1 เส้นทาง One Belt One Road” ของจีนที่กำลังเริ่มต้นการขยายบทบาทในภูมิภาค
 

การประชุมแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ช่วงแรกเป็นการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 1 (Retreat 1) มีการหารือกันเรื่องการส่งเสริมความมั่งคั่งของภูมิภาค โดยผ่านนวัตกรรมและการประกอบการ บนหลักการความเป็นหุ้นส่วนเพื่อประชาชนและความเป็นหุ้นส่วนเพื่ออนาคต 
 

รอบนั้น อาเซียนและไทยได้ยกประเด็นหุ้นส่วนเพื่อประชาชน เป้าหมายหลักคือ ยกระดับมาตรฐาน ความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของประชาชน ขจัดความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม 
 

ผลสรุปของข้อตกลงแรกนั้น  “ไทยสนับสนุนสหรัฐฯ ให้คงบทบาทอย่างสร้างสรรค์ ในฐานะหุ้นส่วนหลักของอาเซียนและผู้เล่นสำคัญในภูมิภาค บนพื้นฐานความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืนระหว่างสหรัฐ ฯ และอาเซียน” 


 

การประชุมช่วงที่ 2 เป็นการหารือในระหว่างงานเลี้ยงอาหารค่ำ มีการหารือกันในเรื่อง “ทิศทางยุทธศาสตร์ภูมิศาสตร์ 6 ประเด็น”  
 

ประเด็นแรก เป็นปัญหาทะเลจีนใต้ ซึ่งสหรัฐฯ พยายามกดดันให้อาเซียนให้ความร่วมมือในการทหารและลดลบทบาทจีน
 

ผลการประชุมรอบนี้ พล.อ.ประยุทธ์ พลิ้วไหวกล่าวชื่นชมสหรัฐฯ ที่สนับสนุนอาเซียนในการแก้ไขปัญหาทะเลจีนใต้อย่างสันติรอบคอบ และถูกวิธี ส่งเสริมเสรีภาพในการเดินเรือและบินผ่านตามหลักสากลบนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ 
 

สำหรับบทบาทของจีน ที่กำลังแสดงบทบาทในการยกระดับความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน การประกาศจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย และนโยบาย One Belt One Road โครงการ New Maritime Silk Road จนก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจใหม่ 
 

อาเซียนจึงขอให้สหรัฐฯ ที่เป็นมหาอำนาจเดิม ต้องร่วมกันเป็นเสาหลักในการรักษาเสถียรภาพในภูมิภาค….อันนี้คือศิลปะในการบาลานซ์พาวเวอร์ของอาเซียน
 

ประเด็นต่อมา คือ ความร่วมมือในกรอบ สุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS) สหรัฐประกาศว่าพร้อมให้ร่วมมือเพื่อำให้ EAS เข้มแข็งยิ่งขึ้น  
 

ประเด็นใหญ่คือ ปัญหาในคาบสมุทรเกาหลีที่สหรัฐพยายามถึงไทยและอาเซียนเข้มาเป็นเครื่องมือและพันมิตร
 

ไทยประกาศเจตนารมย์ชัดว่าจะยึดมั่นมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดอาวุธนิวเคลียร์ ขณะเดียวจำเป็นต้องรักษาช่องทางสื่อสารกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี และสนับสนุนบรรยากาศที่เอื้อต่อการเจรจาหารืออย่างสันติ และการเจรจา 6 ฝ่าย....ไทยรอดจากวงล้อมพญาอินทรีย์หวุดหวิด
 

การประชุมช่วงที่ 3 เป็นการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ 2 (Retreat 2) ในหัวข้อ “การรักษาสันติภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และความมั่นคงในเอเชียแปซิฟิก”  
 

สหรัฐยกประเด็นเรื่องการค้ามนุษย์ความเท่าเทียมกันมากดดันอย่างหนัก เพื่อต่อรองในเรื่องการใช้ไทยเป็ฐานทางทะเล และนำมาซึ่งการขึ้นบัญชีดำในเรื่องประมงจนต้องแก้ไขกันมือระวิง
 

ในประเด็นการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ รัฐบาลไทยยืนยันถึงการเดินหน้าปฏิรูปการค้ามนุษย์ทั้งระบบ เช่น การปรับแก้กฎหมาย การดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด โดยเฉพาะต่อสตรีและเด็ก การเร่งแก้ไขการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ เพื่อไม่ทำให้สถานการณ์การค้ามนุษย์ซับซ้อนยิ่งขึ้น การสนับสนุนการแก้ไขปัญหาข้ามชาติอื่นๆ เช่น อาชญากรรมด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการลักลอบค้าสัตว์ป่า 
 

ก่อนประกาศยืนยันต่อสหรัฐว่า ไทยมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมาย (IUU) และจะเร่งดำเนินงานเพื่อให้สัตยาบันต่อ Port State Measures Agreement (PSMA)...เห็นฤทธิ์เวลามีการเจรจาความเองหรือยัง


 

ในด้านการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ไทยพลิ้วผ่านการประกาศ Intended Nationally Determined Contribution หรือ INDC และเรียกร้องให้สหรัฐฯ ขยายความร่วมมือกับอาเซียน ทั้งในด้านการลงทุนการถ่ายโอนและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง
 

ประเด็นทางทะเล ทางนายกรัฐมนตรีของไทยประกาศชัดว่า การแก้ไขปัญหาทะเลจีนใต้ควรใช้ความยับยั้งชั่งใจ แก้ไขด้วยสันติวิธีบนหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศ และไทยสนับสนุนเสรีภาพในการเดินเรือและบินผ่านตามหลักสากล 
 

ประเด็นการก่อการร้าย ไทยและอาเซียนประณามการก่อการร้ายและการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ โดยถือเป็นปัญหาระดับโลก และเป็นภัยใกล้ตัวเร่งด่วน โดยยึดหลักปฏิญญาอาเซียนที่ยึดทางสายกลาง 
 

อย่างไรก็ตาม สหรัฐได้เร่งเกมในเรื่องความร่วมมือจนอาเซียน และไทยต้องขยายความร่วมมือเพิ่มเติมใน 3 ช่องทาง ได้แก่ การยกระดับการแลกเปลี่ยนข้อมูลและข่าวกรอง การแก้ไขปัจจัยเกื้อหนุน อาทิ ความยากจน ความอยุติธรรม และความรู้สึกแปลกแยกทางสังคม สนับสนุนการหารือระหว่างศาสนา การส่งเสริมบทบาทของแนวคิดสายกลาง และต่อต้านภัยคุกคามทางไซเบอร์ และการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย
 

นี่คือสาระหลักของการประชุมอาเซียนสหรัฐในสมัยพิเศษ ครั้งที่ 1 ในบ้านพญาอินทรี ซึ่งในการประชุมในครั้งนี้ได้มีการรับรองเอกสารผลลัพธ์ เรียกว่า “Sunnylands Declaration”  ซึ่งเป็นเอกสารที่แสดงเจตนารมณ์ทางการเมือง ที่เน้นความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียน-สหรัฐฯ 
 

แล้วการประชุมอาเซียนสหรัฐในสมัยพิเศษ ครั้งที่ 2 ในบ้านสหรัฐ ที่ “โจ ไบเดน” ผลักดันทั้งๆ ที่ประธานอาเซียน-ฮุนเซ็น ของกัมพูชา ประกาศแจ้งเลื่อนการประชุมไปในวันที่ 8 มีนาคม 2565 จะเป็นเช่นไร
 

นักการทูตบอกผมว่า ในฉากหน้ามีวาระที่ดีหลายเรื่องเช่น การส่งเสริมให้สหรัฐฯ มีบทบาทสร้างสรรค์ในภูมิภาค เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูและการเติบโตอย่างยั่งยืนในยุค next normal การส่งเสริมบทบาทที่สร้างสรรค์ของสหรัฐในภูมิภาค  การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและยั่งยืน สนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะการส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG โมเดล รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นภูมิภาค
 

และมีการล็อกตัวในการเชิญ โจ ไบเดน เข้ามาประชุมเอเปคในประเทศไทย  
 

แต่ภารกิจ “ลึก-ลับ” ของการประชุมอาเซียน-สหรัฐ จะมีการถกกันหนัก ในเรื่องสหรัฐต้องการใช้อาเซียนเป็นเครื่องมือในการกดดันจีน เพื่อลดบทบาทจีนในภูมิภาค จึงใช้เวทีนี้ในการแผ่ขยายอิทธิพลในอาเซียน เพื่อคานอำนาจรัฐบาลปักกิ่ง
 

สหรัฐต้องการขับเคลื่อนแผนหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิก #นาโต้ 2 ซึ่งเป็นความร่วมมือทางการทหาร เพื่อตั้งตัวเป็นศัตรูกับจีน ต่อต้านจีนแบบเข้มข้น
 

การหารือความร่วมมือในด้านพัทธมิตรแบบทวิภาคี ระหว่างไทยกับสหรัฐ รวมถึงการที่สหรัฐใช้เวทีนี้กดดันกลุ่มอาเซียนให้เข้าข้างตะวันตกในกรณียูเครนมากขึ้น และเดินเกมรุกอาเซียนเพื่อคานอำนาจต่อจีนมากขึ้น
 

ปมสุดท้ายคือ สหรัฐกดดันไทยให้ความช่วยเหลือด้านมุนษยธรรมต่อประชาชนชาวเมียนมา
 

ไทยจะพ้นบ่วงเกมการเมืองระหว่างประเทศอย่างไร รอฟังคำชี้แจงและผลการประชุม แต่รับรอง สหรัฐต้องมีอะไรติดมือจากการประชุมสมัยพิเศษ เพื่อภารกิจพิเศษแน่นอน เชื่อผมเต๊อะ !