พบแล้วกล่องดำ ข้อมูลสุดผวาชี้ "ไชน่าอีสเทิร์น" ปักหัวดิ่งด้วยความเร็วสูง

23 มี.ค. 2565 | 19:36 น.

ความคืบหน้ากรณีเครื่องบินโบอิ้ง 737 ของสายการบินไชน่า อีสเทิร์นฯ เที่ยวบิน MU5735 ที่ตกลงเมื่อวันจันทร์ (21 มี.ค.) นอกจากเจ้าหน้าที่กู้ภัยจะพบ “กล่องดำ” ใบแรกแล้ว ยังพบข้อมูลที่บ่งชี้ว่า เครื่องบินดังกล่าว ร่วงดิ่งด้วยความเร็วเกือบเท่าความเร็วเสียงก่อนกระแทกพื้น

โฆษกสำนักงานการบินจีนเปิดเผยวานนี้ (23 มี.ค.) ว่า เจ้าหน้าที่พบ กล่องดำ ของเครื่องบิน สายการบินไชน่า อีสเทิร์น แอร์ไลนส์ เที่ยวบิน MU 5735 ที่ตกลงกลางหุบเขาพร้อมผู้โดยสารและลูกเรือ 132 ชีวิตเมื่อวันจันทร์ (21 มี.ค.) แล้ว แต่ข้อมูลจากสื่อของทางการ ไม่ได้ระบุชัดเจนว่า กล่องดำที่พบเป็นเครื่องบันทึกเสียงในห้องนักบิน หรือเครื่องบันทึกข้อมูลการบิน อย่างไรก็ตาม รายงานระบุว่ากล่องดำที่พบได้รับความเสียหายหนักมาก

 

นายจู เทา หัวหน้าสำนักงานความปลอดภัยทางการบิน สังกัดสำนักบริหารการบินพลเรือนแห่งประเทศจีน ระบุว่า สภาพภายนอกของกล่องดำกล่องแรกพังเสียหายอย่างรุนแรง แต่สภาพหน่วยจัดเก็บข้อมูลค่อนข้างสมบูรณ์ แม้เกิดความเสียหายบางส่วน กล่องดำดังกล่าวถูกส่งไปยังปักกิ่งแล้วเพื่อแปลงสัญญาณ

 

ทีมงานกู้ภัยได้ค้นพบชิ้นส่วนร่างกายมนุษย์และเศษซากเครื่องบินเมื่อวันพุธ(23 มี.ค.) ภาพข่าวซินหัว

ทั้งนี้ การดาวน์โหลดและการแปลงสัญญาณจากกล่องดำจะต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง ซึ่งถ้าหากหน่วยจัดเก็บภายในมีสภาพไม่สมบูรณ์ก็จะต้องใช้เวลาเพิ่มมากขึ้น  ขณะเดียวกันทีมสืบสวนจะเดินหน้าค้นหากล่องดำอีกกล่อง ซึ่งเป็นบันทึกข้อมูลการบิน (FDR) เพื่อทำความเข้าใจสาเหตุการตกได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

เจ้าหน้าที่พบกล่องดำกล่องแรกแล้ว อยู่ระหว่างการส่งไปตรวจสอบ (ภาพข่าวซินหัว)

การค้นพบกล่องดำอาจช่วยให้เจ้าหน้าที่หาคำตอบสาเหตุของเครื่องบินตกในครั้งนี้ได้ โดยก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยด้านการบินของจีนระบุว่า ศูนย์ควบคุมจราจรทางอากาศพยายามติดต่อนักบินหลังพบว่าเครื่องลดระดับลงอย่างผิดปกติ แต่ไม่มีการตอบกลับ

 

พบชิ้นส่วนร่างกายมนุษย์แต่ไม่มีข่าวดีผู้รอดชีวิต

เที่ยวบิน MU5735 ของ สายการบินไชน่า อีสเทิร์นฯ ตกลงเมื่อวันจันทร์ (21 มี.ค.) เวลาราว 14.38 น.ตามเวลาท้องถิ่น ในหุบเขาเขตอำเภอเถิงเซียน เมืองอู๋โจวของมณฑลกว่างซี ขณะกำลังเดินทางจากนครคุนหมิงสู่นครกว่างโจว มีผู้โดยสาร 123 คน ลูกเรือ 9 คน จนถึงขณะนี้ยังไม่พบผู้รอดชีวิต

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันพุธ (23 มี.ค.) ทีมงานกู้ภัยได้ค้นพบชิ้นส่วนร่างกายมนุษย์และเศษซากเครื่องบิน โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่า ทั้งเศษซากเครื่องบินและชิ้นส่วนร่างกายมนุษย์ได้ถูกส่งมอบให้ทีมสอบสวนแล้ว ขณะที่ทีมกู้ภัยจากกองดับเพลิงได้ดำเนินการค้นหาครอบคลุมพื้นที่ 46,000 ตารางเมตรเมื่อนับถึง 19.00 น.ของวันพุธ ท่ามกลางสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย โดยฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง เป็นอุปสรรคและเพิ่มความเสี่ยงการเกิดดินโคลนถล่มบริเวณจุดเกิดเหตุ ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมากสำหรับเจ้าหน้าที่กู้ภัย

ปักหัวดิ่งด้วยความเร็วเกือบเท่าความเร็วเสียง

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานอ้างอิงข้อมูลจาก Flightradar24 บ่งชี้ว่า เครื่องบินลำดังกล่าวดิ่งลงด้วยความเร็วเกือบเท่ากับเสียงก่อนที่จะร่วงลงกระแทกพื้นหุบเขาใกล้กับเมืองอู๋โจว ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางภาคใต้ของประเทศจีน

 

การตกในลักษณะดังกล่าวอาจทำให้ปฏิบัติการตรวจสอบสาเหตุการตกมีความซับซ้อน เพราะอาจจะทำลายหลักฐานต่าง ๆ และทำลายข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการบิน รวมทั้งกล่องบันทึกเสียงที่ถูกออกแบบมาเพื่อทนต่อแรงกระแทก

คลิปวิดีโอสามารถจับภาพเครื่องบินลำเกิดเหตุ ดิ่งแบบปักหัวลงอย่างรวดเร็วก่อนกระแทกพื้น

ข้อมูลจาก Flightradar24 ระบุว่า เครื่องบินโบอิ้ง 737 ลำนี้ดิ่งลงด้วยความเร็วกว่า 640 ไมล์ (966 กิโลเมตร) ต่อชั่วโมง และบางขณะอาจเร็วกว่า 700 ไมล์ต่อชั่วโมง

 

"ข้อมูลเบื้องต้นบ่งชี้ว่า เครื่องบินดิ่งลงด้วยความเร็วเกือบเท่าเสียง โดยร่วงลงรวดเร็วมาก" จอห์น ฮันส์แมน ศาสตราจารย์ด้านอวกาศจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) กล่าว

 

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก Flightradar24 ระบุว่า ก่อนตก เครื่องบินอยู่ที่ระดับความสูง 29,000 ฟุต (8,839.2 เมตร) และอยู่ห่างประมาณ 100 ไมล์ (160.93 กิโลเมตร) จากจุดหมายปลายทาง ซึ่งเป็นจุดที่นักบินจะเริ่มลดเพดานบินเพื่อเตรียมลงจอด แต่แทนที่จะค่อย ๆ ปรับลดเพดานบินลงประมาณ 1,000 ฟุตต่อนาที เครื่องบินลำนี้กลับปักหัวลง และจากนั้นก็เริ่มดิ่งลงด้วยความเร็วกว่า 30,000 ฟุต (9,144 เมตร) ต่อนาทีภายในเวลาไม่กี่วินาที

 

บ๊อบ แมนน์ ประธานบริษัทอาร์ดับเบิลยู แอนด์ โค ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการบินกล่าวว่า "นี่เป็นการตกลงโดยใช้พลังงานสูงมาก และดูเหมือนเป็นการหายไปในพริบตา ส่วนคำถามที่ว่าจะสามารถหาเครื่องบันทึกข้อมูลหรือเครื่องบันทึกเสียงนักบิน หรือแม้กระทั่งผู้รอดชีวิตได้หรือไม่นั้น ผมไม่อาจตอบได้เลย"

 

ขณะที่เจมส์ แคช อดีตหัวหน้าฝ่ายให้คำปรึกษาด้านเทคนิคของคณะกรรมการความปลอดภัยด้านการขนส่งแห่งชาติของสหรัฐ (NTSB) กล่าวว่า กล่องดำรุ่นใหม่ซึ่งบันทึกข้อมูลการบินและเก็บข้อมูลบนชิปคอมพิวเตอร์ เป็นอุปกรณ์ชั้นดีที่สามารถบันทึกการตกของเครื่องบินแบบดิ่งปักหัวด้วยความเร็วสูง นี่เป็นชิ้นส่วนสำคัญที่ควรจะต้องหาให้เจอ

 

 "แม้ว่าแผงวงจรซึ่งเก็บข้อมูลมักจะหลุดออกมาเมื่อเกิดอุบัติเหตุ แต่ข้อมูลจะยังสามารถกู้ได้แม้ว่าเครื่องได้รับความเสียหายก็ตาม อุปกรณ์ตัวนี้อาจจะตกอยู่ที่ไหนสักแห่ง และผมคาดหวังว่ามันจะยังอยู่ในสภาพที่ดี" แคชกล่าว

 

สภาพอากาศขณะเกิดเหตุเป็นภาวะปกติ

สำนักงานการบินพลเรือนของจีนแถลงต่อสื่อมวลชนว่า เจ้าหน้าที่หอควบคุมการบินได้พยายามหลายครั้งที่จะติดต่อกับเที่ยวบิน MU5735 ของไชน่า อีสเทิร์น แอร์ไลน์ส หลังจากพบว่าเครื่องบินเริ่มปักหัวลง แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับ โดยเครื่องบินได้หายไปจากจอเรดาร์เมื่อเวลา 14.23 น.ตามเวลาท้องถิ่นของวันจันทร์ที่ 21 มี.ค. เพียง 3 นาทีหลังจากที่เครื่องเริ่มดิ่งลง และจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่พบผู้รอดชีวิต

 

ด้านนายซัน จีหยิง เจ้าหน้าที่ของไชน่า อีสเทิร์น แอร์ไลน์ส ยืนยันว่า เครื่องบินโบอิ้งลำนี้ได้รับหนังสือรับรองความสมควรเดินอากาศ (Airworthiness Directive) ก่อนที่จะขึ้นบิน และสภาพทางเทคนิคอยู่ในขั้นมีเสถียรภาพ นอกจากนี้ ลูกเรือทั้ง 9 คนล้วนมีประสบการณ์และมีสุขภาพที่ดี นอกจากนี้ จากการตรวจสอบของศูนย์สอบสวนอุบัติเหตุทางการบิน สังกัดสำนักบริหารการบินพลเรือนแห่งประเทศจีน (CAAC) ยังพบว่า สภาพอากาศขณะเครื่องบินโดยสารลำดังกล่าวดิ่งตกลงโหม่งโลกนั้น เป็นสภาพอากาศที่ปกติและไม่เป็นอันตรายต่อการบิน

 

จากการตรวจสอบบันทึกการสื่อสารทางอากาศ-ภาคพื้นดินระหว่างลูกเรือและผู้ควบคุมการจราจรทางอากาศ พบว่าทั้งสองฝ่ายยังสามารถสื่อสารกันได้ตามปกติ ตั้งแต่เครื่องบินออกเดินทางจากเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ จนกระทั่งเครื่องบินลดระดับกะทันหันระหว่างมุ่งหน้าสู่จุดหมายปลายทาง