อัพเดทวิกฤตยูเครน การบุกวันที่19 เคียฟในวงล้อมรัสเซีย ลี้ภัยทะลุ 2.5 ล้านคน

14 มี.ค. 2565 | 00:04 น.

ภัยสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้มีชาวยูเครนอพยพหนีออกนอกประเทศกว่า 2.5 ล้านคนแล้ว โดย UNHCRระบุ ตัวเลขจริงผู้ลี้ภัยจากยูเครนอาจทะลุ 4 ล้านคน ขณะที่กรุงเคียฟเมืองหลวงกำลังถูกปิดล้อมและระดมโจมตีอย่างหนัก ผู้นำยูเครนลั่นพร้อมสู้ตาย!

14 มี.ค. 2565 ซึ่งเป็นวันที่ 19 ของปฏิบัติการพิเศษโจมตี ยูเครน โดยกองทัพ รัสเซีย (เปิดฉากวันแรกเมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา) รัสเซียยังคงระดมยิงอย่างหนักและโจมตีจากทางอากาศ ซึ่งขัดขวางการอพยพประชาชนออกจากเมืองต่าง ๆ ของยูเครนที่กองทัพรัสเซียปิดล้อม รวมทั้งกรุงเคียฟเมืองหลวง ที่ ประชาชนอพยพ หนี ภัยสงคราม ออกไปกว่าครึ่งแล้ว

 

สื่อต่างประเทศรายงานว่า กองทัพรัสเซีย เคลื่อนพลจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ เข้าใกล้ กรุงเคียฟ (Kyiv) เมืองหลวงของยูเครน โดยเจ้าหน้าที่ของยูเครนระบุว่า รัสเซียได้ระดมยิงอย่างหนักและโจมตีจากทางอากาศ ซึ่งขัดขวางการอพยพประชาชนออกจากเมืองต่าง ๆ ที่กองทัพรัสเซียปิดล้อม ขณะที่ นายโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครนที่ยืนยันว่า ตัวเขาเองยังปักหลักอยู่ในกรุงเคียฟ ได้ออกมาระบุวานนี้ (13 มี.ค.) ว่า รัสเซียกำลังส่งกองกำลังชุดใหม่เข้ามาหลังจากที่ถูกกองทัพยูเครนโจมตีตอบโต้ จนได้รับความเสียหายครั้งใหญ่ที่สุด แต่เขาไม่ได้ให้รายละเอียดและยังไม่สามารถยืนยันได้

สภาพกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน ใกล้ร้าง ประชาชนอพยพหนีภัยสงครามออกไปแล้วกว่าครึ่งเมือง

ปธน.เซเลนสกียังระบุว่า เขาเองได้พูดคุยกับนายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์ ผู้นำเยอรมนี และประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส เพื่อกดดันให้รัสเซียปล่อยตัวนายอีวาน เฟโดรอฟ นายกเทศมนตรีเมืองเมลิโตปอล (Melitopol) ซึ่งยูเครนระบุว่าถูกทหารรัสเซียลักพาตัวไปเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (11 มี.ค.) ด้วยข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการก่อการร้ายที่ไม่มีมูลความจริง ขณะที่ประชาชนในเมืองกว่า 2,000 คนได้ออกมาประท้วงรอบบริเวณอาคารที่ว่าการเพื่อให้รัสเซียปล่อยตัวนายเฟโดรอฟ  ทั้งนี้ ปัจจุบันเมืองเมลิโตปอลได้ถูกกองกำลังรัสเซียยึดครองไว้แล้ว

นานาชาติยังมีความพยายามเรียกร้องให้รัสเซียหยุดยิง โดยโฆษกรัฐบาลเยอรมนีเปิดเผยเมื่อวันเสาร์ (12 มี.ค.) ตามเวลาท้องถิ่นว่า นายกฯ โชลซ์และปธน.มาครงได้ต่อสายถึงปธน.วลาดิเมียร์ ปูติน เป็นเวลา 75 นาที เพื่อขอให้รัสเซียหยุดยิงในยูเครนโดยทันทีเพื่อการเจรจาเต็มรูปแบบ แต่เจ้าหน้าที่ของทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศสระบุว่า ปูตินยังไม่มีท่าทีที่จะยุติการสู้รบ

 

ภาวะสงครามที่ยังคงมีการโจมตีและตอบโต้อย่างต่อเนื่องทำให้การลำเลียงอพยพประชาชนออกจากพื้นที่อันตรายเป็นไปด้วยความยากลำบาก สื่อต่างประเทศรายงานว่า ในเมืองหลวงเคียฟของยูเครนนั้น ประชาชนอพยพออกไปกว่าครึ่งเมืองแล้ว ขณะที่ปธน.เซเลนสกีได้ออกมาวิงวอนขอให้รัสเซียยุติการโจมตีบริเวณที่เรียกว่า ระเบียงมนุษยธรรม (Humanitarian Corridors) ซึ่งเป็นเส้นทางอพยพประชาชนตามที่ตกลงกันไว้ นอกเมืองมาริอูโพล ซึ่งถูกรัสเซียปิดล้อมมาเกือบ 2 สัปดาห์

 

ประกาศกร้าว “พร้อมสู้จนตัวตาย”

ปธน.เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ประกาศว่า กองกำลังรัสเซียต้องเอาชีวิตรอดให้ได้หากรัสเซียหวังบุกเข้ามายึดกรุงเคียฟเมืองหลวง โดยตัวเขาเองก็ประกาศพร้อมจะสู้จนตัวตาย ท่ามกลางเสียงไซเรนเตือนเหตุโจมตีที่ยังคงดังสนั่นทั่วเมืองในช่วงเช้าวันอาทิตย์ (13 มี.ค.)

โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน

“หากรัสเซียตัดสินใจทิ้งระเบิดปูพรม เพื่อหวังจะลบประวัติศาตร์ของดินแดนแห่งนี้ และทำลายชาวยูเครนทั้งหมด รัสเซียจะต้องบุกเข้ามายังกรุงเคียฟแน่นอน ซึ่งถ้านั่นคือเป้าหมายของรัสเซีย ก็คงต้องปล่อยให้พวกเขาเข้ามา แต่จำไว้ว่า พวกเขาจะต้องเอาชีวิตรอดในดินแดนแห่งนี้ด้วยตัวเอง เพราะชาวยูเครนจะสู้จนตัวตาย” นายเซเลนสกีกล่าว

สื่อระบุว่า นายเซเลนสกี ยังคงปรากฏตัวผ่านโลกออนไลน์อย่างต่อเนื่อง เพื่อยืนยันว่าตัวเขาเองยังอยู่ในกรุงเคียฟ ขณะที่เมืองเล็กๆ หลายเมืองของยูเครนได้ถูกทำลายและยึดครองนับตั้งแต่ที่กองทัพรัสเซียบุกเข้ามารุกรานตลอดช่วงเกือบ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นการโจมตีที่รุนแรงที่สุดในยุโรปนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

 

การบุกโจมตีของรัสเซียส่งผลให้ประชาชนหลายพันคนต้องติดอยู่ตามเมืองต่างๆ ท่ามกลางสงคราม และมีชาวยูเครนอีกกว่า 2.5 ล้านคนที่อพยพหนีภัยสงครามไปยังประเทศเพื่อนบ้านแล้ว

 

หน่วยสืบราชการลับของยูเครนยังระบุด้วยว่า เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (12 มี.ค.) กองกำลังของรัสเซียได้สังหารพลเรือนยูเครน 7 คนซึ่งมีทั้งผู้หญิงและเด็ก ในขณะที่พวกเขากำลังจะอพยพหนีการสู้รบใกล้กับกรุงเคียฟ อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวรอยเตอร์ยังไม่สามารถยืนยันข่าวนี้ได้แน่ชัด และยังไม่มีการแสดงความเห็นในเรื่องนี้จากทางฝ่ายรัสเซียแต่อย่างใด

การต่อสู้สร้างความเสียหายให้กับทั้งสองฝ่าย

จากการเปิดเผยล่าสุดของนายเซเลนสกี ผู้นำยูเครน เขาระบุว่า ยูเครนได้สูญเสียทหารไปแล้วราว 1,300 นายจากการสู้รบ ขณะนี้ยังคงมีการต่อสู้อย่างรุนแรงบริเวณชานกรุงเคียฟ ขณะที่อีกหลายเมืองถูกกองทัพรัสเซียปิดล้อมและถูกโจมตี

 

ทั้งนี้ กองทัพรัสเซียพยายามปิดล้อมและเข้ายึดกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน โดยทหารรัสเซียได้เข้าถึงชานกรุงเคียฟตั้งแต่วันที่สองของการเปิดศึกรุกราน แต่ฝ่ายกองกำลังยูเครนก็สามารถโต้ตอบและตรึงกำลังรักษาเมืองไว้ได้ ทำให้เกิดการต่อสู้อย่างหนักบริเวณชานเมือง หน่วยข่าวกรองของอังกฤษระบุว่า กองทัพรัสเซียจำนวนมากอยู่ภายในรัศมี 25 กิโลเมตรจากย่านใจกลางกรุงเคียฟ ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า รัสเซียอาจกำลังเตรียมการบุกครั้งใหญ่ได้ทุกเมื่อ

 

เสียงไซเรนกับเสียงระเบิดยังดังระงมในหลายเมืองทั่วยูเครน หลังจากกองทัพรัสเซียนำกำลังเข้าปิดล้อมเป้าหมายสำคัญเอาไว้ เช่นที่เมือง คาร์คิฟ  เมืองมาริอูโปล เมืองมีโคลาเยฟ และเมืองซูมี ซึ่งถูกโจมตีอย่างหนัก ประชาชนต้องใช้ชีวิตท่ามกลางอากาศหนาวโดยไม่มีไฟฟ้าใช้และเสบียงอาหารก็เหลือน้อยลงเรื่อยๆ

 

การต่อสู้ที่เกิดขึ้น ทำให้ประชาชนชาวยูเครนต้องอพยพหนีภัยสงครามไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนกว่า 2.5 ล้านคนแล้ว โดยโปแลนด์ระบุว่า ได้เปิดพรมแดนรับผู้อพยพจากยูเครนแล้วกว่า 1.6 ล้านคน ขณะที่ประเทศมอลโดวาเผยว่า พวกเขาใกล้ถึงขีดจำกัดในการรับผู้อพยพแล้ว

ชาวยูเครนอพยพหนีภัยสงครามออกนอกประเทศกว่า 2.5 ล้านคนแล้ว หรืออาจสูงกว่านั้นมาก

อังกฤษอุดหนุนปชช. 350 ปอนด์/เดือน หากเปิดบ้านรับผู้ลี้ภัยยูเครน

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า อังกฤษเตรียมจ่ายเงิน 350 ปอนด์ต่อเดือนให้กับประชาชนที่เปิดบ้านรับผู้อพยพหนีภัยสงครามชาวยูเครนหลังถูกรัสเซียโจมตี โดยมาตรการดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางกระแสความไม่พอใจต่อรัฐบาลอังกฤษในการรับมือวิกฤตผู้อพยพครั้งใหญ่สุดในยุโรปนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ล่าช้า   

 

รัฐบาลอังกฤษเผยเมื่อวันอาทิตย์ (13 มี.ค.) ว่า แผน Homes for Ukraine หรือบ้านเพื่อชาวยูเครน จะรับผู้ลี้ภัยที่ต้องการมายังอังกฤษ แม้จะไม่มีครอบครัวปักหลักอยู่ก่อนก็ตาม โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินให้ผู้ที่สามารถให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยเดือนละ 350 ปอนด์ (456 ดอลลาร์) เป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน

 

รัฐบาลอังกฤษระบุว่า ตามแผนดังกล่าว ประชาชนทั่วไป หน่วยงานการกุศล ภาคธุรกิจ และประชาคมต่าง ๆ ควรต้องพร้อมให้ที่พักพิงโดยประกาศผ่านทางเว็บไซต์ภายในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ ผู้ที่จะให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยจะต้องแสดงหลักฐานยืนยันว่าที่พักได้มาตรฐาน และอาจต้องมีการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมด้วย

 

ก่อนหน้านี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพรรคการเมืองใหญ่ ๆ พากันโจมตีความล่าช้าของรัฐบาลที่ยืนกรานให้ชาวยูเครนจะต้องขอวีซ่าและตรวจยืนยันอัตลักษณ์บุคคลก่อนเดินทางมายังอังกฤษ

 

ด้านสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ระบุเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ยอดผู้ลี้ภัยจากยูเครนอาจทะลุ 4 ล้านคนแล้ว ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ปัจจุบันที่กว่า 2 ล้านคน