จะฝ่าไฟสงคราม "รัสเซีย-ยูเครน" ไปได้อย่างไร รัฐ-เอกชน-คนไทย ฟังทางนี้

13 มี.ค. 2565 | 04:36 น.

ไฟสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ปะทุมาตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ.65 ถึง ณ ปัจจุบันยังไม่มีทีท่าจะดับลงได้ในเร็ววัน แต่กำลังลุกลามขยายวงส่งผลกระทบไปทั่วโลก ถือเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติของโลกที่ฉุดให้เศรษฐกิจโลกที่กำลังจะฟื้นตัวจากโควิด-19 ต้องดำดิ่งลงอีกครั้ง

 

ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ลูกจ้าง พนักงาน จะต้องรับมือ และต้องทำอย่างไรบ้าง เพื่อฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้นั้น มีคำแนะนำจาก นายวิศิษฐ์  ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปที่ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ”

 

มีแนวทางหรือข้อแนะนำภาคธุรกิจ รัฐบาล และประชาชน ในการปรับตัวรับมือวิกฤติครั้งนี้อย่างไร

 

  •  ความขัดแย้งระหว่างสองประเทศ เริ่มส่งผลกระทบไปทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย สิ่งที่เราควรตระหนักคือ วันนี้เศรษฐกิจ ไทยยังอยู่ในภาวะอ่อนแอจากพิษโควิด สถานการณ์ในยูเครนอาจกลายเป็นปัญหาซ้ำเติมประเทศไทยหนักหน่วงยิ่งขึ้น และอาจกระทบต่อโอกาสที่เศรษฐกิจประเทศจะพลิกฟื้นได้ภายในปีนี้ตามที่มีการคาดหวังหรือประเมินไว้จากหน่วยงาน ต่าง ๆ

 

วิศิษฐ์  ลิ้มลือชา

 

  • แนวทางในการปรับตัวรับมือวิกฤติสงครามรัสเซีย-ยูเครน

 

ข้อเสนอต่อรัฐบาล

1.ไทยควรวางแผนล่วงหน้าเพื่อรับมือสถานการณ์ในระยะต่อไปด้วยความรอบคอบไว้ก่อน เนื่องจากเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าสถานการณ์นี้จะขยายวงหรือยืดเยื้อยาวนานไปอีกเท่าใด ซึ่งการหารือและร่วมมือใกล้ชิดระหว่างรัฐและเอกชนเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

 

2.รัฐควรสื่อสารเพื่อสร้างความเชื่อมั่นอย่างสม่ำเสมอให้กับภาคประชาชนและเอกชน เนื่องจากเป็นสิ่งสำคัญ

 

3. จัดสรรงบประมาณมาตรการการช่วยเหลือตามแผนมาตรการที่วางไว้ในการรับมือกับสถานการณ์ การจัดสรรงบประมาณควรนำไปสู่การใช้จ่ายที่คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพให้มากที่สุดเช่น การดูแลและเยียวยาระยะสั้น เน้นการลงทุนเพื่ออนาคต โครงการที่มีพลังเพียงพอ เน้นการสร้างงาน สร้างความเข้มแข็งและเพิ่มขีด ความสามารถให้ภาคเอกชนไปพร้อมกัน เพื่อวางพื้นฐานการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต

 

 4.การรักษาเสถียรภาพด้านการเงินการคลังรวมถึงตลาดทุนมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะในยามที่ภาวะเศรษฐกิจไม่ปกติและมีความเสี่ยงสูงนั้น เสถียรภาพและความเข้มแข็งของระบบจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน รวมถึงนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และจะเป็นเกราะให้เศรษฐกิจของประเทศในยามที่สถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีปัญหารุนแรง

 

จะฝ่าไฟสงคราม "รัสเซีย-ยูเครน" ไปได้อย่างไร รัฐ-เอกชน-คนไทย ฟังทางนี้

 

 

  • ภาคเอกชน

1.ควรเตรียมพร้อมวางแผนรับมือ โดยการติดตามข่าวสารข้อมูลสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

2.ต้องประเมินผลกระทบและมีแผนรับมือล่วงหน้า โดยหากกรณีสถานการณ์เกิดรุนแรงเฉียบพลัน หรือยืดเยื้อ ผู้ประกอบการจะมีแผนรองรับการดำเนินธุรกิจอย่างไรให้อยู่รอดได้ ท่ามกลางต้นทุนที่สูงขึ้นผิดปกติมากจากภาวะ เงินเฟ้อ และกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ถดถอยลงนั้น

 

3.ผู้ประกอบการควรคิดถึงการปรับตัวและทางเลือกในการปรับแผนธุรกิจและบริหารจัดการไว้ล่วงหน้า สิ่งที่ต้องคำนึงสำหรับใช้วางแผนในสถานการณ์ที่ไม่ปกติในปัจจุบันนี้เช่น

 

  •  แผนและสิ่งที่ต้องใช้ในเตรียมการ

o การเงิน : การรักษาสภาพคล่องในระยะสั้นให้เพียงพอมากที่สุด หรืออาจเก็บเงินสำรองในกรณีที่ ปัญหามีความยืดเยื้อ

 

o การลงทุนใหม่หรือลงทุนเพิ่มในระหว่างนี้ คงต้องใช้ความระมัดระวังและรัดกุมในการเลือกลงทุน แต่ทั้งนี้เราไม่จำเป็นต้องปิดประตูในการลงทุนใหม่เสียทั้งหมด เพราะอดีตที่ผ่านมาได้ชี้ให้เห็นว่า ในทุกภาวะวิกฤติย่อมมีโอกาสแทรกอยู่ด้วย

 

  •  ภาคประชาชน ลูกจ้าง พนักงาน

1.เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ในเรื่องค่าใช้จ่ายและรายได้เป็นหลัก

 2.ต้องทบทวนศักยภาพของตัวเองที่มีอยู่ แต่อาจไม่เคยถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่ และพัฒนาสิ่งเหล่านั้นให้นำไปสู่โอกาสใหม่ ๆ ด้านอาชีพไว้รองรับหากเกิดสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด

 

3. มีการสำรองเงินฉุกเฉินเพื่อสถานการณ์ที่คาดไม่ถึง ในภาวะที่พวกเราต้องเผชิญกับความท้าทายและความเสี่ยงที่กำลังเพิ่มขึ้นมากเช่นปัจจุบัน ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนย่อมมีความจำเป็น โดยความร่วมมือใกล้ชิดจะเป็นรากฐานของการกำหนดมาตรการ และแนวทางการดูแลแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นให้ตรงเป้าและสัมฤทธิผล

 

ขณะเดียวกันก็เป็นการเติมกำลังใจให้กันและกัน ให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยมี ความพร้อมที่จะจัดการกับสถานการณ์ที่อาจรุนแรงขึ้น และเราจะสามารถก้าวข้ามอุปสรรคไปได้ในทุกรูปแบบ