การเจรจารัสเซีย-ยูเครนรอบแรกไม่คืบ  "ปูติน" ยันเงื่อนไข 3 ข้อยุติปัญหา

28 ก.พ. 2565 | 23:19 น.

การเจรจายกแรกระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่เมืองชายแดนประเทศเบลารุสเมื่อวานนี้ (28 ก.พ.) จบลงโดยไม่มีอะไรคืบหน้า ผู้นำรัสเซียยืนกราน 3 เงื่อนไขที่ชาติตะวันตกต้องยอมรับก่อนจะปลดชนวนวิกฤตการณ์ครั้งนี้

การเจรจาโดยตรง ระหว่างคณะผู้แทนของ รัสเซีย และ ยูเครน เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งระหว่างทั้งสองประเทศได้สิ้นสุดลงแล้วเมื่อวันจันทร์ (28 ก.พ.) โดยนายเลโอนิด สลัตสกี ประธานคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ประจำรัฐสภารัสเซีย ออกมาเปิดเผยว่า ทั้งสองฝ่ายได้รับฟังความกังวลของแต่ละฝ่าย และได้พบบางประเด็นที่จะสามารถสานต่อการเจรจาเพื่อให้มีความคืบหน้าต่อไป ทั้งนี้ คณะตัวแทนแต่ละฝ่ายจะกลับไปเจรจากับรัฐบาลของตนเพื่อหารือจุดยืนในการเจรจา ก่อนที่จะกลับมาพบกันอีกครั้งในเร็ว ๆนี้ 

 

ขณะที่ตัวแทนฝ่ายยูเครนซึ่งเป็นที่ปรึกษาของประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี กล่าวว่า การเจรจารอบต่อไปจะมีขึ้นในไม่ช้า

การเจรจารอบแรกระหว่างผู้แทนของรัสเซีย-ยูเครน มีขึ้นที่ภูมิภาคโกเมลของเบลารุส ซึ่งอยู่ที่บริเวณชายแดนเบลารุส-ยูเครน

ก่อนหน้านี้ ทำเนียบประธานาธิบดียูเครนแถลงก่อนที่จะมีการพบปะระหว่างคณะเจรจาทั้งสองฝ่ายว่า สาระสำคัญในการเจรจาจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “การทำข้อตกลงหยุดยิงโดยทันที” และ “การถอนทหารรัสเซียออกจากยูเครน” แต่เห็นได้ชัดว่า หลังการเจรจา ไม่มีใครพูดถึง 2 ประเด็นสำคัญดังกล่าว ขณะที่รัฐบาลของต่างฝ่ายต่างดำเนินการไปคนละทิศทางซึ่งมองไม่เห็นอนาคตของการหาข้อยุติเพื่อสันติภาพ

 

โดยทางทำเนียบเครมลินได้มีแถลงการณ์ว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ได้หารือทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส เมื่อวานนี้ (28 ก.พ.) โดยย้ำถึงเงื่อนไขของรัสเซียที่ชาติตะวันตกจะต้องยอมรับเสียก่อน เพื่อนำไปสู่การปลดชนวนวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น

โดยประธานาธิบดีปูตินเน้นย้ำว่า การแก้ไขปัญหาดังกล่าว อยู่ที่ว่าชาติตะวันตกจะต้องเคารพอย่างไม่มีเงื่อนไขต่อผลประโยชน์อันชอบธรรมของรัสเซียในประเด็นความมั่นคง ซึ่งหมายถึง

  1. การยอมรับอธิปไตยของรัสเซียเหนือไครเมีย
  2. การปลดอาวุธยูเครน และทำให้เป็นเขตปลอดทหาร
  3. การรับประกันว่ายูเครนจะมีสถานะรัฐที่เป็นกลาง

 

ทางด้านยูเครนเอง ก็มีท่าทีชัดเจนว่า ไม่มีทางยอมจำนนต่อรัสเซีย การจะตั้งเงื่อนไขให้ยูเครนปลดอาวุธก่อนจึงไม่มีทางเป็นไปได้ นายดมิโทร คูเลบา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของยูเครน กล่าวว่า ยูเครนขอยืนยันว่าจะไม่มีทางยอมจำนนต่อรัสเซีย

"เราพร้อมที่จะหาทางออกตามแนวทางการทูต แต่ยูเครนจะไม่มีทางยอมจำนน" นายคูเลบากล่าว  และไม่เพียงเท่านั้น ในวันเดียวกัน ยูเครนยังได้สมัครเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ท่ามกลางความขัดแย้งกับรัสเซีย โดยรัฐสภายูเครนเปิดเผยว่า ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ได้ลงนามในเอกสารเพื่อยื่นขอสมาชิกภาพของยูเครนในสหภาพยุโรป (EU) แล้ว

 

"เป้าหมายของเราคือการเข้าร่วมกับประเทศในยุโรปทั้งหมด โดยมีสถานะที่เท่าเทียมกัน" ปธน.เซเลนสกีกล่าว

 

เห็นได้ชัดว่า ข้อเรียกร้องและการดำเนินการของทั้งฝ่ายรัสเซียและยูเครนนั้นไม่ได้เป็นไปในทิศทางที่อีกฝ่ายต้องการ ซ้ำยังเป็นในทางตรงกันข้าม ดังนั้น การเจรจาหยุดยิงหรือทางออกเพื่อสันติภาพในการเผชิญหน้าระหว่างรัสเซียและยูเครน คงเป็นเส้นทางที่ทั้งวิบากและยาวไกล