“สัปดาห์แห่งความเจ็บปวด” ของมหาเศรษฐีโลก

24 ม.ค. 2565 | 04:28 น.

ความวิตกเกี่ยวกับการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดสร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดหุ้นสหรัฐและตลาดเงินคริปโตพร้อม ๆกัน และนั่นก็ทำให้ความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีโลกระดับ Top 5 วูบรวมกันเกือบ 7 หมื่นล้านดอลลาร์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ได้ชื่อว่าเป็นสัปดาห์แห่งความเจ็บปวดของตลาด

ภายในสัปดาห์เดียว มหาเศรษฐีระดับ Top5 ของโลก มีมูลค่าสินทรัพย์ลดวูบลงรวมกันถึง 67,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 2.2 ล้านล้านบาท นำโดย นายอีลอน มัสก์ เศรษฐีอันดับ 1 ของโลก ผู้บริหารบริษัทเทสลา และสเปซเอ็กซ์ มูลค่าสินทรัพย์ลดลง 25,100 ล้านดอลลาร์ หรือลดมากกว่า 9% ตามด้วย นายเจฟฟ์ เบซอส ผู้บริหารของแอมะซอน (Amazon) ลดลง 19,900 ล้านดอลลาร์ นายมาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก หรือปัจจุบันรู้จักในนาม “เมทา” (Meta) อาณาจักรโลกเสมือน สูญเงินกว่า 10,400 ล้านดอลลาร์ รายต่อมาคือ นายลาร์รี เพจ ผู้ร่วมก่อตั้งกูเกิล สูญเงิน 7,600 ล้านดอลลาร์ และ นายบิล เกตส์ 4,300 ล้านดอลลาร์   

 

ขณะที่นายฉางเผิง จ้าว ผู้ก่อตั้งไบแนนซ์ (Binance) แพลตฟอร์มซื้อขายเงินคริปโตรายใหญ่ระดับโลก สูญเงินไปกว่า 17,700 ล้านดอลลาร์

ภายในสัปดาห์เดียว ขนหน้าแข้งของอีลอน มัสก์ ร่วงลงไป 9%

ในบรรดา 10 มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในโลกนั้น มีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่รอดพ้นจากการสูญเสียเงินในสัปดาห์ที่ผ่านมา นั่นก็คือ นายเบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ เจ้าพ่อแบรนด์แฟชั่นสุดหรูของฝรั่งเศส ทำให้ตอนนี้อาร์โนลต์กำลังไล่บี้ จ่อแซงนายเจฟฟ์ เบซอส เจ้าพ่อแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ “แอมะซอน” ที่ครองอันสองอยู่แบบหายใจรดต้นคอ

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ซึ่งเป็นผู้จัดทำอันดับมหาเศรษฐีของโลก (Bloomberg Billionaires Index) รายงานว่า สาเหตุของความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นเนื่องจากทุกสิ่งอย่างตั้งแต่หุ้นอีคอมเมิร์ซ หุ้นบริษัทเทคโนโลยี ไปจนถึงหุ้นเกมออนไลน์ ในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ ซึ่งเป็นตลาดคู่ขนานกับตลาดคริปโต ได้ปรับตัวร่วงลงมากที่สุดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานับตั้งแต่ที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ สาเหตุหลักมาจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่กลายเป็นสิ่งที่นักลงทุนเฝ้าจับตา และเป็นความเคลื่อนไหวที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจมากที่สุดในเวลานี้

 

ข่าวระบุว่า ตั้งแต่ที่ตลาดทรุดหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่อุบัติขึ้นเมื่อกว่า 2 ปีที่แล้ว ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาถือเป็นอีกครั้งที่ย่ำแย่ที่สุดของตลาดหุ้นสหรัฐ เมื่อ Nasdaq ดัชนีหุ้นเทคโนโลยี ปิดตลาดในวันศุกร์ลดลง 7.6% (อัตราเฉลี่ยทั้งสัปดาห์) ถือเป็นการปรับลดครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 และยังเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 4 ของ Nasdaq ซึ่งถือเป็นการลดลงยาวนานที่สุดในรอบ 9 เดือน

สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นพร้อมกับความตกดิ่งในตลาดคริปโตเคอร์เรนซี ซึ่งมูลค่าเงินบิตคอยน์ช่วงก่อนสุดสัปดาห์ร่วงลงสู่ระดับต่ำกว่า 35,000 ดอลลาร์ หลังจากที่เคยทำสถิติสูงสุดเกือบ 68,000 ดอลลาร์ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว นับเป็นการเริ่มต้นปีที่ย่ำแย่ที่สุดของบิตคอยน์เลยก็ว่าได้ เพราะราคาทรุดลงแล้วเกือบ ๆ 50% จากสถิติที่เคยทำไว้สูงสุด

 

เห็นได้ชัดว่า ท่าทีของเฟดเกี่ยวกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นในขณะนี้ ทำให้ราคาเงินคริปโต ซึ่งเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล ได้รับผลกระทบเชิงลบมากที่สุดด้วยเช่นกัน โดยราคาของ “บิตคอยน์” ที่เป็นสกุลเงินคริปโตที่ได้รับความนิยมสูงสุด ปรับดิ่งลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน ขณะที่สินทรัพย์ดิจิทัลอื่น ๆ ก็ปรับตัวร่วงตามลงด้วย

 

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า มูลค่าบิตคอยน์ลดลงประมาณ 8% เมื่อวันเสาร์ (22 ม.ค.) สู่ระดับราว 35,000 ดอลลาร์ โดยมูลค่าร่วงลงเกือบ 50% จากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 69,000 ดอลลาร์ในเดือนพ.ย.2564  ขณะที่อีเธอร์เรียม สกุลเงินดิจิทัลยอดนิยมอันดับสอง ร่วงลงเกือบ 10% สู่ระดับราว 2,400 ดอลลาร์

 

นักวิเคราะห์กำลังวิตกว่า  การที่เฟดคุมเข้มด้านการเงินมากขึ้นอาจเป็นตัวหยุดยั้งเทรนด์ขาขึ้นของตลาดคริปโตก็เป็นได้ นอกจากนี้ ตลาดคริปโตยังคงถูกกดดันจากการควบคุมด้านกฎระเบียบโดยรัฐบาลหลายประเทศ รวมทั้งสหรัฐอเมริกา อังกฤษ อินเดีย และรัสเซีย  

 

ยกตัวอย่างกรณีของรัสเซีย ธนาคารกลางได้เสนอให้รัฐบาลสั่งห้ามการทำธุรกรรมเงินคริปโตและห้ามทำเหมืองคริปโตในรัสเซียเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยระบุว่า เงินดิจิทัลสร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพและอธิปไตยทางการเงิน ตลอดจนสวัสดิภาพของประชาชนด้วย

 

ส่วนอินเดียซึ่งเป็นประเทศที่มีผู้ถือครองเงินคริปโตมากที่สุด ก็เตรียมออกกฎหมายควบคุมเงินสกุลดิจิทัลเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา

 

ข้อมูลอ้างอิง