1 ปีในตำแหน่งประธานาธิบดีของ "โจ ไบเดน" กับ 3 อุปสรรคใหญ่ที่ยังแก้ไม่ตก

20 มกราคม 2565

20 มกราคมเป็นวันครบรอบหนึ่งปีที่นายโจ ไบเดน เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ผลงานของเขาอาจจะไม่เข้าตาประชาชนมากนักเนื่องจากผลการสำรวจล่าสุดของอิปซอส (Ipsos poll) พบว่า คนอเมริกันราว 50% ไม่เห็นด้วยกับการทำงานของเขา

ปัญหาที่เป็นความท้าทายใหญ่สุดของ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในรอบปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็น ปีแรกในวาระการดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐอเมริกา ของเขา นั่นก็คือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งสหรัฐกลายเป็นประเทศที่มีทั้งผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจำนวนมากที่สุดในโลก นอกจากนี้ ยังมีปัญหาแบ่งแยกแตกขั้วทางการเมือง ที่ทำให้การผลักดันกฎหมายในรัฐสภาเป็นไปอย่างยากลำบาก ขณะที่ความท้าทายใหม่ซึ่งกำลังก่อตัวและคาดว่าจะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับการบริหารงานของเขาเมื่อก้าวเข้าสู่ขวบปีที่สอง ก็คืออัตราเงินเฟ้อซึ่งสูงที่สุดในรอบ 39 ปี

 

นักวิเคราะห์มองว่าประเด็นเหล่านี้เป็นเหตุผลให้คนอเมริกันราว 50% ไม่เห็นด้วยกับการทำงานของประธานาธิบดีไบเดน (ข้อมูลการสำรวจครั้งล่าสุดของ Ipsos poll) มัลโลรี นิววอลล์ ผู้อำนวยการฝ่ายการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะของ Ipsos อธิบายว่า มีสองเหตุผลหลักที่อยู่เบื้องหลังความไม่พอใจของคนอเมริกัน นั่นก็คือ ปัญหาเศรษฐกิจและโรคระบาดใหญ่โควิด-19 ที่ยังไม่จบสิ้นเสียที

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน อยู่ในตำแหน่งครบ 1 ปีแล้ว

ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งปลายปี 2563 นั้น โจ ไบเดน สัญญาว่าจะรับมือและแก้ปัญหาโควิด-19 รวมทั้งจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัว ผลก็คือจนถึงขณะนี้สหรัฐยังอ่วมอยู่กับโควิดที่กลายพันธุ์และบุกเข้าจู่โจมระลอกแล้วระลอกเล่า และถึงแม้เศรษฐกิจของสหรัฐจะกระเตื้องขึ้น แต่อัตราเงินเฟ้อในระดับสูงที่สุดในรอบ 39 ปี ก็ทำให้คนอเมริกันเทความสำคัญให้กับเรื่องเศรษฐกิจมากกว่า เป็นผลให้คะแนนนิยมเรื่องการบริหารเศรษฐกิจของประธานาธิบดีไบเดนอยู่ในระดับไม่ถึง 50%

 

นักวิเคราะห์ยังมองว่านอกจากปัญหาท้าทายหลัก ๆ สองเรื่องนี้แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญของปธน.ไบเดน ก็คือ ความแตกแยกทางการเมือง เพราะถึงแม้เขาจะพยายามอย่างมากในการใช้คะแนนเสียงของพรรคเดโมแครตในสภาคองเกรสที่มีมากกว่าคะแนนของฝ่ายรีพับลิกันเพียงเล็กน้อยผลักดันร่างกฎหมายมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์ในเรื่องต่างๆ ที่เป็นนโยบายสำคัญของพรรคเดโมแครต เช่น การสร้างหลักประกันทางสังคม การฟื้นฟูสภาพแวดล้อม รวมทั้งเรื่องที่อยู่อาศัยราคาไม่แพง และสิทธิของคนทำงานที่จะลางานเพื่อดูแลครอบครัวโดยยังได้รับค่าตอบแทน แต่เขาก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ

ประชาชนมองว่าเขายังรับมือกับโควิด-19 ได้ไม่ดีนัก

เควิน โคซาร์ นักวิเคราะห์ด้านการเมืองจากสถาบัน American Enterprise Institute มองว่าการสื่อสารจากทำเนียบขาวเองที่เป็นปัญหา รัฐบาลของปธน.ไบเดนพลาดโอกาสเรื่องการหยิบยกกฎหมายที่ผ่านสภาได้สำเร็จขึ้นมาพูด แต่กลับเน้นเรื่องที่ทำเนียบขาวและผู้นำพรรคเดโมแครตในสภาไม่สามารถผลักดันให้เป็นผลได้ โดยเฉพาะเรื่องจุดยืนที่แตกต่างของวุฒิสมาชิกสังกัดพรรคเดโมแครตเอง ซึ่งคนอเมริกันไม่ต้องการฟัง ไม่สนใจ และไม่อยากได้ยินข้อแก้ตัวเกี่ยวกับเรื่องนี้

 

ขณะที่แอนดรูว์ พัซเดอร์ จาก Heritage Foundation ซึ่งเป็นหน่วยงานคลังสมองแนวทางอนุรักษ์นิยม มองว่า ปธน.ไบเดน ควรมุ่งให้ความสนใจกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจก่อนประเด็นอื่นใด เพราะหากปล่อยให้ปัญหาเงินเฟ้อและการขาดแคลนแรงงานรวมทั้งปัญหาของระบบซัพพลายเชนยืดเยื้อออกไปมากเพียงใด โอกาสที่จะเกิดภาวะ “เศรษฐกิจถดถอย” ในสหรัฐ ก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นตามมา

 

ในส่วนของการรับมือกับโควิด-19 นั้น จาเร็ต สเต็ปแมน นักเขียนคอลัมน์ฝ่ายอนุรักษ์นิยม วิพากษ์การทำงานของไบเดนว่า เขาทำงานได้ไม่ดี นโยบายที่กำหนดให้ประชาชนต้องฉีดวัคซีน ก็เป็นเรื่องที่เข้มงวดมากเกินไปแต่ไร้ประสิทธิผล

 

ขณะที่ปธน.ไบเดนกำลังเริ่มเข้าสู่การทำงานในปีที่สองท่ามกลางปัญหาการแพร้ระบาดของโควิด-19 ที่กำลังย่างเข้าสู่ปีที่สามนั้น ความรู้สึกของประชาชนชาวอเมริกันไม่เป็นไปในทางบวกเท่าไหร่นัก และจากความรู้สึกผิดหวังและความไม่พอใจ ก็ทำให้เกิดคำถามและความไม่แน่ใจตามมา ซึ่งความรู้สึกในลักษณะดังกล่าวย่อมจะส่งผลกระทบถึงประเด็นอื่น ๆ ที่สำคัญ ทำให้การรับมือหรือการแก้ไขปัญหามีความยากลำบากตามไปด้วย ซึ่งรวมถึงความพยายามแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการผลักดันนโยบายของพรรคเดโมแครตเพื่อแก้ปัญหาภายในประเทศ