ประชากรโลกป่วยโควิดสะสมทะลุ 300 ล้าน! WHO วอนอย่าประมาทโอมิครอน

07 ม.ค. 2565 | 05:05 น.

“โอมิครอน” มาแรงยอดติดเชื้อทั่วโลกเกือบ 5 แสนรายแล้ว ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยรวมพุ่งเกิน 300 ล้านราย WHO ออกโรงเตือนอย่าได้ประมาทโอมิครอนว่าถึงติดก็มีอาการไม่มาก เพราะติดไวจนอาจส่งผลผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลได้

จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 สะสมทั่วโลกพุ่งทะลุ 300 ล้านรายวันนี้ (7 ม.ค.) โดยเฉพาะเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ติดเชื้อ 7 วันทะลุ 9.5 ล้านราย องค์การอนามัยโลก (WHO) เตือน เชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน แม้ดูไม่รุนแรงแต่ก็สามารถสร้างแรงกดดันต่อระบบสาธารณสุขของโลกได้มาก เนื่องจากสามารถแพร่กระจายได้ไวอาจทำให้ยอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันพุ่งทะยานจนโรงพยาบาลรองรับไม่ไหว  

 

มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ของสหรัฐ เปิดเผยวันนี้ (7 ม.ค.) ว่า ข้อมูลตัวเลขผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) สะสมอยู่ที่ 300,586,103 ราย นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาด โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีผู้ป่วยสะสมมากที่สุดอยู่ที่ 59.4 ล้านราย ตามมาด้วยอันดับ 2 คืออินเดีย มีผู้ป่วยสะสม 35.2 ล้านราย และอันดับ 3 คือบราซิล 22.3 ล้านราย ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลกอยู่ที่ 5.48 ล้านราย

 

ข้อมูลล่าสุดชี้ว่า สหรัฐ ฝรั่งเศส อิตาลี อังกฤษ และอินเดีย เป็น 5 ประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันสูงที่สุดในขณะนี้ โดยจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรป คิดเป็น 47.72% ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งโลก

ประชากรโลกป่วยโควิดสะสมทะลุ 300 ล้าน! WHO วอนอย่าประมาทโอมิครอน

ขณะเดียวกันสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน พบใน 143 ประเทศ โดยมีจำนวนผู้ป่วยจากสายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 500,000 ราย

 

นายเทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั่วโลกมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ในรอบ 7 วัน ทะลุ 9.5 ล้านราย (9,520,488 ราย) เพิ่มขึ้นถึง 71% จากช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งถือเป็นตัวเลขรายสัปดาห์สูงที่สุดนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19

 

ผู้อำนวยการอนามัยโลกเตือนว่า แม้ผลการศึกษาล่าสุดพบว่า เชื้อกลายพันธุ์โอมิครอนทำให้คนป่วยรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์ที่มีการแพร่ระบาดอยู่ก่อนหน้า แต่เราก็ไม่ควรเรียกว่าโอมิครอน "ไม่รุนแรง" เพราะยังมีคนเสียชีวิตจากโอมิครอนทั่วโลกทุกวัน หนำซ้ำอัตราการติดเชื้อโอมิครอนยังเป็นไปอย่างรวดเร็ว เช่นกรณีที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ในสหรัฐทะลุ 1 ล้านรายในรอบ 24 ชั่วโมง ดังนั้น จึงเรียกได้ว่า โอมิครอนนั้นได้สร้างแรงกดดันอย่างมากต่อระบบสาธารณสุขทั่วโลก