โลกอาลัย มะเร็งคร่าชีวิต อาร์คบิชอป เดสมอนด์ ตูตู เจ้าของโนเบลสันติภาพปี 84

27 ธ.ค. 2564 | 00:18 น.

อาร์คบิชอป เดสมอนด์ ตูตู เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพ นักสู้เพื่อสันติภาพและความเท่าเทียมในแอฟริกาใต้ เสียชีวิตในวัย 90 ปี หลังต่อสู้ยาวนานกับโรคมะเร็ง

อาร์คบิชอป เดสมอนด์ ตูตู (Desmond Tutu) เจ้าของรางวัล โนเบลสันติภาพชาวแอฟริกาใต้ เสียชีวิตอย่างสงบวานนี้ (26 ธ.ค.) ที่เมืองเคปทาวน์ขณะที่มีอายุได้ 90 ปี หลังจากที่ป่วยเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากมาเป็นเวลานาน ด้านประธานาธิบดี ไซริล รัมมาโฟซา แห่งแอฟริกาใต้ กล่าวถึงการสูญเสียบุคคลสำคัญครั้งนี้ว่า ถือเป็นอีกบทของการสูญเสียครั้งสำคัญของประเทศ

 

อาร์คบิชอป เดสมอนด์ ตูตู เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงทั้งในแอฟริกาใต้และต่างประเทศ จากการใช้วิธีต่อต้านนโยบายการเหยียดผิวของรัฐบาลผิวขาวที่ถือเป็นชนกลุ่มน้อยในแอฟริกาใต้ เขาได้รับรางวัลโนเบล สันติภาพ เมื่อปี 1984 (พ.ศ.2527)

 

“ตูตูเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณที่โดดเด่น และยังเป็นนักเคลื่อนไหวต่อต้านการเหยียดผิว ตลอดจนนักรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนระดับโลก อีกทั้งยังเป็นผู้รักชาติที่ไม่มีใครเทียบเทียมได้” ประธานาธิบดีไซริล แห่งแอฟริกาใต้ กล่าวไว้อาลัย

อาร์คบิชอป เดสมอนด์ ตูตู เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงทั้งในแอฟริกาใต้และต่างประเทศ

ในช่วงปลายยุค 90 อาร์คบิชอป เดสมอนด์ ตูตู ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยด้วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก เขาต้องเข้ารับการรักษาตัวสำหรับอาการติดเชื้อที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยโรคมะเร็งเมื่อไม่กี่ปีมานี้

 

นายเนลสัน แมนเดลา อดีตผู้นำแอฟริกาใต้และเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 1993 (พ.ศ. 2536) ซึ่งล่วงลับไปแล้ว เคยกล่าวถึงอาร์ชบิชอปเดสมอนด์ ตูตู ว่า บางครั้งท่านเป็นคนแข็งกร้าว แต่บ่อยครั้งคืออ่อนโยน ไม่เคยกลัวอะไรเลย และแทบจะไม่เคยขาดอารมณ์ขัน

 

อาร์คบิชอปเดสมอนด์ ตูตู เกิดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 1931 ในเมืองเคลิกส์ดอร์ป แคว้นทรานส์วาล ประเทศแอฟริกาใต้ พ่อของท่านเป็นครูใหญ่โรงเรียนประถม ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ท่านได้เรียนหนังสือมากกว่าเด็กผิวดำ ส่วนแม่ของท่านเป็นทั้งแม่ครัวและภารโรงของโรงเรียนแห่งนั้น

อาร์คบิชอป เดสมอนด์ ตูตู และเนลสัน แมนเดลา 2นักสู้แห่งแอฟริกาใต้

ความทรงจำเก่าแก่ตั้งแต่สมัยท่านยังเด็กมาก ๆ คือ วันหนึ่งขณะที่ท่านยืนอยู่กับแม่ที่ริมถนน มีบาทหลวงรูปหนึ่งซึ่งเป็นคนขาวเดินสวนทางมา ขณะที่กำลังจะเดินผ่านไป บาทหลวงได้เปิดหมวกให้แม่ของท่านด้วย ท่านจำได้ว่ารู้สึกตกใจมาก เพราะไม่เคยเห็นคนขาวแสดงความเคารพหรือแม้แต่แสดงความสุภาพต่อคนผิวดำมาก่อน บาทหลวงรูปนี้แท้จริงแล้วมีชื่อว่า บาทหลวงเทรเวอร์ ฮัดเดิลสตัน (Trevor Huddleston) ท่านมีหน้าที่ดูแลโบสถ์ในเขตสลัมของชาวแอฟริกันผิวดำในโซเฟียทาวน์ นครโจฮันเนสเบิร์ก นับจากวันนั้นบาทหลวงเทรเวอร์ก็กลายเป็นผู้คอยรับฟังปัญหา และเป็นแรงบันดาลใจของอาร์คบิชอปเดสมอนด์ในวัยเด็ก

 

ท่านอาร์คบิชอปเดสมอนด์ ตูตู โตเป็นหนุ่มในช่วงที่รัฐบาลแอฟริกาใต้นำนโยบายแบ่งแยกสีผิวมาใช้ (ค.ศ. 1948 – 1994) สมัยนั้นท่านทำงานเป็นครูสอนหนังสือ ทว่าด้วยความที่นโยบายดังกล่าวไม่ให้ความเท่าเทียมทางการศึกษากับเด็กผิวดำ ท่านจึงลาออกและตัดสินใจที่จะเป็นพระเพื่อดำเนินรอยตามหลวงพ่อเทรเวอร์ ซึ่งเป็นทั้งต้นแบบและแรงบันดาลใจให้กับท่าน

 

ต่อมาท่านได้เข้าเรียนวิชาเทววิทยาที่ St Peter’s Theological College ในนครโจฮันเนสเบิร์ก และบวชเป็นพระในคริสต์ศาสนานิกายแองกลิคัน (Anglican) ในปี ค.ศ. 1960 ท่านได้รับปริญญาตรีและปริญญาโทด้านเทววิทยาจากมหาวิทยาลัย King’s College ประเทศอังกฤษ หลังจากนั้นจึงกลับมาเริ่มงานสอนหนังสือที่บ้านเกิด กระทั่งปี ค.ศ. 1975 ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะแองกลิคันในนครโจฮันเนสเบิร์ก และดำรงตำแหน่งเลขาธิการของ The South African Council of Churches ระหว่างปี ค.ศ. 1976 – 1978 ทำให้ท่านได้แรงสนับสนุนจากโบสถ์ทุกแห่งในแอฟริกาใต้

 

อาร์คบิชอป เดสมอนด์ ตูตู เขียนบทความและเดินสายแสดงปาฐกถาทั้งในบ้านเกิดและต่างประเทศ เพื่อให้ทุกฝ่ายหันมาต่อต้านนโยบายแบ่งแยกสีผิว ท่านกล่าวประณามนโยบายนี้อย่างเผ็ดร้อนตรงไปตรงมา ซึ่งทำให้ท่านถูกยึดพาสปอร์ตถึงสองครั้งและเคยถูกจับขังคุกมาแล้ว

 

หนึ่งในวิธีการที่ท่านทำเพื่อกดดันรัฐบาลแอฟริกาใต้ในขณะนั้นก็คือ การเรียกร้องให้นานาชาติดำเนินการคว่ำบาตรแอฟริกาใต้บ้านเกิดของท่านเองต่อกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะเชื่อว่าในที่สุดเศรษฐกิจที่ตกต่ำจะผลักดันให้รัฐบาลต้องเปลี่ยนนโยบาย วิธีของท่านส่งผลให้สหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ซึ่งเป็นสองประเทศที่เข้ามาลงทุนในแอฟริกาใต้มากที่สุดถอนการลงทุนไปหมด ช่วงนั้นค่าเงินตกต่ำลงกว่า 35% และเหตุการณ์ก็เป็นอย่างที่อาร์คบิชอปคาดการณ์ไว้ รัฐบาลต้องทำการปฏิรูป ท่านจึงเริ่มจัดการเดินขบวนอย่างสันติ ด้วยการนำคนกว่า 30,000 คนออกมาเดินบนถนนในเคปทาวน์ (ขณะนั้นเนลสัน แมนเดลา ยังคงติดคุกอยู่)

 

ในปี ค.ศ. 1984 คณะกรรมการโนเบลได้มอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพให้แก่ท่าน ต่อมาในปี ค.ศ. 1985 ท่านก็ได้รับแต่งตั้งเป็นบิชอปแห่งโจฮันเนสเบิร์ก และจากนั้นก็ได้รับตำแหน่งอาร์คบิชอปแห่งเคปทาวน์ มีหน้าที่ปกครองศาสนจักรนิกายแองกลิคันตลอดทั้งทวีปแอฟริกาตอนใต้ นับว่าท่านเป็นคนผิวดำคนแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้