ดัตช์ชงแผนปฏิรูปปศุสัตว์ 2.5 หมื่นล้านยูโร ช่วยโลกลดก๊าซเรือนกระจก

20 ธ.ค. 2564 | 08:24 น.

เนเธอร์แลนด์ ประกาศแผนปฏิรูปอุตสาหกรรมปศุสัตว์วงเงิน 25,000 ล้านยูโร หวังลดขนาดอุตสาหกรรมเพื่อลดการปล่อยก๊าซไนโตรเจนที่ส่วนใหญ่เกิดจากมูลสัตว์ สู่ชั้นบรรยากาศและต้นเหตุมลภาวะ อย่างไรก็ตาม แผนดังกล่าวเผชิญการต่อต้านจากเกษตรกร ทางออกจะเป็นเช่นไร

เดอะ การ์เดี้ยน สื่อใหญ่ของอังกฤษรายงานว่า รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ได้เปิดเผยแผนลดขนาดอุตสาหกรรมปศุสัตว์ในประเทศลงอย่างมาก โดยจะใช้วงเงินเพื่อการนี้ราว 25,000 ล้านยูโร เป้าหมายหลักเพื่อลดการสร้างก๊าซไนโตรเจนที่เกิดจากมูลสัตว์ เช่น โค สุกร ฯลฯ ที่เป็นตัวสร้างมลภาวะและเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน 

 

แผนการนี้มีการพูดถึงมาระยะหนึ่งแล้วแต่ถูกต่อต้านมาตลอดทำให้ต้องเงียบ ๆไปกระทั่งรัฐบาลชุดใหม่ที่เป็นรัฐบาลผสมสามารถตกลงกันได้เมื่อเร็ว ๆนี้ และผลักดันแผนดังกล่าวอีกครั้ง ส่วนหนึ่งของแผนการคือรัฐจะจ่ายเงินชดเชยให้แก่เกษตรกรที่เลิกการทำฟาร์มปศุสัตว์ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นประเทศแรก ๆของโลกที่ทำโครงการลักษณะนี้ แต่แรงต้านทานจากเกษตรก็ยังคงมีอยู่ โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เคยมีการเดินขบวนประท้วงเกี่ยวกับเรื่องนี้มาหลายครั้ง ซึ่งรวมถึงการที่รัฐจะออกมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นมาบีบให้เกษตรกรที่ทำปศุสัตว์อยู่ได้ยาก รวมถึงเรื่องการจ่ายเงินชดเชยด้วย

 

ประเด็นที่มีการถกเถียงกันมากคือข้อที่ว่าการลดขนาดอุตสาหกรรมปศุสัตว์ลง การให้เกษตรกรไปทำอย่างอื่นแทนการเลี้ยงสัตว์ อาจส่งผลกระทบอย่างถาวรต่ออุตสาหกรรมการผลิตอาหารในประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศผู้ส่งออกเนื้อรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของยุโรป

ดัตช์ชงแผนปฏิรูปปศุสัตว์ 2.5 หมื่นล้านยูโร ช่วยโลกลดก๊าซเรือนกระจก

“เราไม่อยากให้ทั้งระบบต้องล่มสลาย” มาริจ เคลเวอร์ จากสหภาพยุวชนเกษตรกรซึ่งเป็นกลุ่มองค์กรเกษตรกรรุ่นใหม่ของเนเธอร์แลนด์ให้ความเห็น พร้อมยืนยันว่า หากรัฐมีมาตรการเชิงบังคับออกมาก็จะคัดค้านอย่างแน่นอน เธอเองเป็นเกษตรกรเจ้าของที่ดิน คำถามก็คือรัฐมีอำนาจขับไล่เกษตรกรออกจากที่ดินของเขาเองหรือไม่ รัฐบาลจะมาออกคำสั่งเช่นนั้นไม่ได้ ทุกอย่างต้องมาจากการเจรจาและตกลงกัน

 

แม้จะเป็นประเทศขนาดเล็กในยุโรป แต่เนเธอร์แลนด์ก็เป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกอาหารเลี้ยงประชากรโลก เป็นหนึ่งในผู้ส่งออกเนื้อสัตว์รายใหญ่ของยุโรป แต่ปัญหาการมีอุตสาหกรรมปศุสัตว์ขนาดใหญ่ มีการเลี้ยงสัตว์จำนวนมากก่อให้เกิดปัญหามลภาวะตามมา

 

เนเธอร์แลนด์มีความหนาแน่นของประชากรปศุสัตว์มากที่สุดในยุโรป มีการเลี้ยงโค สุกร และไก่จำนวนรวมมากกว่า 100 ล้านตัว ซึ่งมากกว่าอังกฤษและฝรั่งเศสถึง 4 เท่า มูลสัตว์เหล่านี้เมื่อผสมกับยูรีนจากปัสสาวะสัตว์จะก่อให้เกิดก๊าซแอมโมเนีย ซึ่งเป็นสารประกอบไนโตรเจน หากไหลลงปนเปื้อนในแหล่งน้ำธรรมชาติ ปริมาณไนโตรเจนที่มากเกินไปอาจทำลายสิ่งมีชีวิตในน้ำ

ดัตช์ชงแผนปฏิรูปปศุสัตว์ 2.5 หมื่นล้านยูโร ช่วยโลกลดก๊าซเรือนกระจก

ศาลปกครองสูงสุดในเนเธอร์แลนด์เคยตัดสินเมื่อปี 2562 ว่ารัฐบาลละเมิดกฎหมายสหภาพยุโรป (อียู) ด้วยการละเลยไม่ลงมือจัดการลดการปล่อยก๊าซไนโตรเจนในแหล่งธรรมชาติที่เกิดจากกิจกรรมทางการเกษตรและอุตสาหกรรม

 

ส่วนแผน 13 ปีวงเงิน 25,000 ล้านยูโรฉบับล่าสุดที่เพิ่งประกาศนี้(15 ธ.ค.) จะจ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกรที่ทำปศุสัตว์ที่ยอมเลิกอาชีพดังกล่าว หรือยอมย้ายออกจากพื้นที่ นอกจากนี้ ยังให้งบในการปรับตัวกรณียังต้องการทำการเกษตร แต่ต้องเปลี่ยนไปใช้วิธีที่เป็นมิตรกับธรรมชาติมากขึ้น และลดขนาดการเลี้ยงสัตว์ลงมา  เริ่มแรกจะเป็นการให้ร่วมโครงการโดยสมัครใจ แต่ต่อไปอาจหมดเวลาที่จะเจรจาและจะเป็นการบังคับมากขึ้น เป้าหมายก็เพื่อลดจำนวนปศุสัตว์ในประเทศลงให้เหลือเพียง 1 ใน 3 ของที่มีอยู่ในปัจจุบัน       

 

ข้อมูลอ้างอิง

Netherlands announces €25bn plan to radically reduce livestock numbers