โอมิครอนพ่นพิษ ADB หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจเอเชียปี 64-65

14 ธ.ค. 2564 | 02:51 น.

ความกังวลเกี่ยวกับไวรัสโอมิครอนที่อาจทำให้สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ยืดเยื้อ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เอดีบี ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียลง

ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ประกาศลดคาดการณ์การขยายตัวของ เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาของเอเชีย ในปีนี้และปีหน้า เพื่อสะท้อนถึงความเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่มีสาเหตุมาจากการแพร่ระบาดของ ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน

 

ทั้งนี้ ADB ปรับลดคาดการณ์ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียลงสู่ระดับ 7% ในปี 2564 จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 7.1% และปรับลดคาดการณ์ GDP ในปี 2565 ลงสู่ระดับ 5.3% จากระดับ 5.4%

โอมิครอนพ่นพิษ ADB หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจเอเชียปี 64-65

นอกจากนี้ ยังปรับลดคาดการณ์ GDP ของประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ในปี 2564 ลงสู่ระดับ 3% จากระดับ 3.1% แต่ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ในปี 2565 ขึ้นสู่ระดับ 5.1% จากระดับ 5%

 

ADB เปิดเผยใน รายงาน "Asian Development Outlook" ซึ่งมีการเผยแพร่ในวันนี้ (14 ธ.ค.) ระบุว่า แม้ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเริ่มลดน้อยลง แต่ยอดติดเชื้อทั่วโลกยังคงพุ่งขึ้น นอกจากนี้ การพบเชื้อไวรัสสายพันธุ์ “โอมิครอน” ซึ่งสามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วนั้น ได้บ่งชี้ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งจึงจะสามารถควบคุมได้

รายงานของ ADB ยังระบุด้วยว่า เศรษฐกิจส่วนใหญ่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาของเอเชียมีแนวโน้มชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวที่อ่อนแอของเศรษฐกิจจีน ทั้งนี้ ADP ปรับลดคาดการณ์ GDP ของจีนในปี 2564 ลงสู่ระดับ 8% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 8.1% และปรับลดคาดการณ์ GDP จีนในปี 2565 ลงสู่ระดับ 5.3% จากระดับ 5.5%

 

ขณะเดียวกัน ADB ยังได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ในปี 2564 ของอินเดียลงสู่ระดับ 9.7% จากระดับ 10% แต่ได้คงตัวเลขคาดการณ์ GDP ในปี 2565 เอาไว้ที่ระดับ 7.5%

 

"ไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่าได้แพร่ระบาดไปยังประเทศต่าง ๆ กว่า 60 ประเทศนับตั้งแต่มีการพบครั้งแรกในทวีปแอฟริกาและฮ่องกงเมื่อเดือนพ.ย.นั้น ทำให้เราตระหนักว่า ยังคงมีความเป็นไปได้ที่การแพร่ระบาดจะดำเนินต่อไป" ส่วนหนึ่งของรายงานระบุ

ส่วนในด้านเงินเฟ้อนั้น ADB คาดว่าภาวะเงินเฟ้อในเอเชียยังคงอยู่ในระดับที่สามารถจัดการได้ ซึ่งจะเปิดทางให้ธนาคารกลางของประเทศเอเชียสามารถใช้นโยบายสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อรับมือความเสี่ยงที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19