จับตาราคาน้ำมันพุ่งไม่หยุด ล่าสุด WTI ทะลุ $78 สวนทางมาตรการสหรัฐ

23 พ.ย. 2564 | 22:53 น.

สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องวานนี้ (23 พ.ย.) ล่าสุดทะยานขึ้นกว่า 2% เหนือระดับ 78 ดอลลาร์ แม้สหรัฐและประเทศพันธมิตรประกาศระบายน้ำมันดิบจากคลังสำรองเพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของราคาในตลาด

ณ เวลา 21.59 น.วันที่ 23 พ.ย. ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนม.ค. ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาด NYMEX พุ่งขึ้น 1.71 ดอลลาร์ หรือ 2.23% สู่ระดับ 78.46 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังดิ่งลงกว่า 1% ในช่วงแรก จากการที่สหรัฐอเมริกาประกาศระบายน้ำมันดิบจากคลังสำรอง

 

นักวิเคราะห์คาดว่า กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส อาจระงับแผนเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน 400,000 บาร์เรล/วันในเดือนธ.ค. หลังจากที่สหรัฐและพันธมิตรประกาศระบายน้ำมันออกจากคลังสำรอง

 

ประธานาธิบดีโจ ไบเดนประกาศเมื่อวันอังคาร (23 พ.ย.)ว่า สหรัฐจะระบายน้ำมันดิบจำนวน 50 ล้านบาร์เรลออกจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ (SPR) เพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันในตลาด ขณะที่รัฐบาลอินเดียประกาศระบายน้ำมันดิบจำนวน 5 ล้านบาร์เรล และรัฐบาลอังกฤษประกาศจะระบายน้ำมันจำนวน 1.5 ล้านบาร์เรลออกสู่ตลาด ในความร่วมมือกับสหรัฐและชาติพันธมิตร


ข่าวระบุว่า ในส่วนของอังกฤษนั้น การระบายน้ำมันจำนวน 1.5 ล้านบาร์เรล จะเป็นน้ำมันจากสต็อกของภาคเอกชน และการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นไปอย่างสมัครใจ และไม่ส่งผลกระทบต่อน้ำมันในคลังสำรองของรัฐบาลแต่อย่างใด 
         

ทั้งนี้ สหรัฐจะระบายน้ำมันดิบร่วมกับอังกฤษ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย ซึ่งถือเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นครั้งแรกในการดำเนินมาตรการดังกล่าว

      

กระทรวงพลังงานสหรัฐเปิดเผยว่า ขณะนี้ SPR มีน้ำมันดิบรวม 604.5 ล้านบาร์เรล และน้ำมันดิบที่ถูกระบายออกมาจะเข้าสู่ตลาดภายในเวลา 13 วัน หลังจากที่ประธานาธิบดีมีคำสั่งดังกล่าว

 

ซิตี้กรุ๊ปคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า สหรัฐและชาติพันธมิตรอาจระบายน้ำมันรวม 100-120 ล้านบาร์เรลออกสู่ตลาด โดยสหรัฐจะระบายน้ำมัน 45-60 ล้านบาร์เรล, จีน 30 ล้านบาร์เรล, อินเดีย 5 ล้านบาร์เรล, ญี่ปุ่น 10 ล้านบาร์เรล และเกาหลีใต้ 10 ล้านบาร์เรล

 

อย่างไรก็ดี คาดว่ามาตรการระบายน้ำมันจากคลังสำรองจะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันในตลาดเพียง 2-3 สัปดาห์

 

ทั้งนี้ สหรัฐพยายามโน้มน้าวให้ประเทศต่างๆ ทำการระบายน้ำมันจากคลังสำรอง หลังจากที่โอเปกพลัสปฏิเสธข้อเรียกร้องของสหรัฐที่ต้องการให้เพิ่มการผลิตน้ำมันมากกว่า 400,000 บาร์เรล/วัน