"บิล เกตส์"ขานรับ COP26 ผุดโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ 1.3 แสนล้าน

18 พ.ย. 2564 | 04:03 น.

“บิล เกตส์” ผุดโปรเจ็คท์ยักษ์ 4 พันล้านดอลลาร์ (กว่า 1.3 แสนล้านบาท) เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ในรัฐไวโอมิง แทนโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินที่มีอยู่เดิม โดยโครงการดังกล่าวได้รับเงินทุนสนับสนุนราวครึ่งหนึ่งจากรัฐบาลสหรัฐ

โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ของ บริษัท เทอราพาวเวอร์ (TerraPower) นับเป็นโครงการตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดโครงการหนึ่ง หลังการประชุมสุดยอดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขององค์การสหประชาติ (UN) หรือ COP26 ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ที่ปิดฉากลงเมื่อวันที่ 13 พ.ย. โดยส่วนหนึ่งของข้อตกลงกลาสโกว์ว่าด้วยการแก้ไขสภาพอากาศ (Glasgow Climate Pact) ระบุ ประเทศผู้เข้าร่วมเจรจาเห็นชอบที่จะ “ลดการใช้ถ่านหิน” ซึ่งเป็นต้นตอที่สำคัญของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้า

 

โครงการของ “เทอราพาวเวอร์” ซึ่งเป็น บริษัทสตาร์ทอัพด้านนวัตกรรมพลังงานนิวเคลียร์ ที่ริเริ่มโดย นายบิล เกตส์ อภิมหาเศรษฐีชาวอเมริกันผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟต์ จึงเป็นโครงการแรก ๆ หลังการประชุม COP26 ที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม ขับเคลื่อนโดยบริษัทเอกชนอเมริกันภายใต้ความสนับสนุนของรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งยินดีที่จะให้ความสนับสนุนทางการเงินประมาณครึ่งหนึ่ง ในจำนวนนี้รวมถึงเงินทุน 1,500 ล้านดอลลาร์จากกฎหมายโครงสร้างพื้นฐานที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เพิ่งลงนามเมื่อวันจันทร์ (15 พ.ย.) ตามการยืนยันของนางเจนนิเฟอร์ แกรนโฮล์ม รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน

บิล เกตส์ ตั้งความหวังกับนวัตกรรมพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด

ภายใต้โครงการลงทุนมูลค่า 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.30 แสนล้านบาทนี้ เทอราพาวเวอร์จะสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาด 345 เมะวัตต์ ตั้งอยู่บนที่ดินที่เคยเป็นโรงงานไฟฟ้าพลังถ่านหินในเมืองเคมเมอเรอร์ รัฐไวโอมิง อยู่ห่างจากเมืองซอลท์เลคซิตีไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 209 กิโลเมตร ขณะนี้ทางบริษัทกำลังรอการพิจารณาอนุมัติโครงการจากรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น

 

ข่าวระบุว่า ในส่วนของโรงงานไฟฟ้าพลังถ่านหินที่มีอยู่เดิม มีกำหนดปิดตัวในปี 2025 (พ.ศ.2568) จากนั้นมีกำหนดเปิดใช้โรงงานใหม่ที่เป็นพลังงานนิวเคลียร์ในปี 2028

แล็บทดลองของเทอราพาวเวอร์

เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยจะทำให้ทางโรงงานสามารถเพิ่มกำลังการผลิตจาก 345 เมกะวัตต์ เป็น 500 เมกะวัตต์หากจำเป็น ซึ่งกำลังการผลิตดังกล่าวจะป้อนกระแสไฟฟ้าให้แก่ประชาชนได้ราว 4 แสนครัวเรือน นวัตกรรมการจัดเก็บพลังงานยังจะทำให้โรงงานแห่งนี้สามารถดำเนินการเชื่อมต่อกับแหล่งพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ ได้ตลอดเวลาเมื่อต้องการ  

ในแถลงการณ์จากผู้บริหารของเทอราพาวเวอร์ระบุว่า เทคโนโลยีของบริษัทจะทำให้มั่นใจได้ว่าการผลิตกระแสไฟฟ้าจะมีความต่อเนื่องและเชื่อถือได้ในประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันก็จะเอื้อต่อการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีพลังงานที่ดีกว่า สะอาดกว่า และสร้างงานให้กับรัฐไวโอมิง

 

ข้อมูลอ้างอิง