ไม่ถึง 2 ปี "โควิด" ปลิดชีวิตประชากรโลกแล้วกว่า 5 ล้านคน

02 พ.ย. 2564 | 00:41 น.

โรคระบาด “โควิด-19” คร่าชีวิตประชากรโลกไปแล้วกว่า 5 ล้านศพภายในเวลาไม่ถึง 2 ปีหลังมีรายงานตรวจพบผู้ติดเชื้อคนแรกในเมือง “อู่ฮั่น” ประเทศจีนอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม 2562

ข้อมูลจาก มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ เผยแพร่เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ระบุว่า ยอดผู้เสียชีวิตสะสมจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกอยู่ที่ระดับ 5,000,425 ราย นับตั้งแต่ที่ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการว่า มีการพบผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบรุนแรงจำนวนมากในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ยของจีนในช่วงต้นเดือนธ.ค.2562

 

จอห์น ฮอปกินส์เปิดเผยว่า สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 สูงที่สุดในโลก โดยมีจำนวนสะสมที่ 745,836 ราย ตามมาด้วยบราซิล (607,954 ราย) และอินเดีย (458,470 ราย) (อ่านเพิ่มเติม: ยอดโควิดทั่วโลก 2 พ.ย.64 ติดเชื้อเพิ่ม 324,461 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 4,613 ราย)

 

การแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลตามีส่วนสำคัญที่ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิด-19 เพิ่มขึ้นทั่วโลก ซึ่งขณะนี้มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมมากกว่า 247 ล้านรายทั่วโลก

 

นอกจากนี้ ไวรัสสายพันธุ์เดลตายังมีการกลายพันธุ์เป็น สายพันธุ์เดลตาพลัส หรือมีชื่อทางการว่า AY.4.2 และกำลังแพร่ระบาดใน 42 ประเทศ

ไม่ถึง 2 ปี "โควิด" ปลิดชีวิตประชากรโลกแล้วกว่า 5 ล้านคน

อย่างไรก็ดี ทั่วโลกเริ่มเห็นแสงสว่างในปลายอุโมงค์ขณะที่บริษัทหลายแห่งเริ่มมีการผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 รวมทั้งการที่บริษัทเมอร์ค แอนด์ โค บริษัทยารายใหญ่จากสหรัฐ และบริษัทริดจ์แบ็ค ไบโอเทราพิวติกส์ สามารถพัฒนา ยา “โมลนูพิราเวียร์” ซึ่งเป็นยารักษาโรคโควิด-19 โดยมีประสิทธิภาพในการต้านไวรัสโควิด-19 ทุกสายพันธุ์ รวมถึงสายพันธุ์เดลตา แกมมา และมิว

 

ทั้งนี้ เมอร์คได้ยื่นขออนุมัติการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์เป็นกรณีฉุกเฉินต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (FDA) เมื่อวันที่ 11 ต.ค. โดยคาดว่าจะได้รับการอนุมัติในช่วงต้นเดือนธ.ค.นี้

 

หาก FDA ให้การอนุมัติการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ก็จะเป็นการปูทางให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลกอนุมัติการใช้ยาดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งจะช่วยให้มีการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์รักษาผู้ป่วยโควิด-19 อย่างแพร่หลายในประเทศต่างๆ

 

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา องค์กรสิทธิบัตรยาร่วม (MPP) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติ (UN) เปิดเผยว่า MPP ได้บรรลุข้อตกลงด้านสิทธิบัตรยากับบริษัทเมอร์ค แอนด์ โค และบริษัทริดจ์แบ็ค ไบโอเทราพิวติกส์ โดยบริษัททั้งสองจะมอบสูตรการผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ให้แก่ 105 ประเทศ ส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนาในทวีปแอฟริกาและเอเชีย เพื่อให้กลุ่มประเทศยากจนสามารถเข้าถึงยาดังกล่าว

บริษัทที่ต้องการผลิตยาโมลนูพิราเวียร์สามารถยื่นเรื่องต่อ MPP เพื่อขอการอนุมัติ โดย MPP จะมอบช่วงสิทธิบัตรให้แก่บริษัทที่มีคุณสมบัติเหมาะสม และได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานสาธารณสุขภายในประเทศนั้น ๆ

 

MPP เปิดเผยว่า ขณะนี้มีกว่า 50 บริษัทที่ได้ยื่นเรื่องขอรับช่วงสิทธิบัตรในการผลิตยาโมลนูพิราเวียร์แล้ว ทั้งนี้ บริษัทเมอร์คและบริษัทริดจ์แบ็คจะไม่เรียกเก็บค่ารอยัลตี หรือค่าตอบแทนใดๆจากบริษัทที่ผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ ตราบใดที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังคงจัดอันดับโควิด-19 เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ

 

1 คอร์สประกอบด้วยยาโมลนูพิราเวียร์ขนาด 200 มิลลิกรัม จำนวน 40 เม็ดสำหรับผู้ป่วย 1 คน

สื่อต่างประเทศรายงานว่า การมอบช่วงสิทธิบัตรการผลิตยาดังกล่าวให้แก่บริษัทผู้ผลิตยาของประเทศกำลังพัฒนา จะทำให้ยาโมลนูพิราเวียร์มีราคาถูกลงเหลือเพียงคอร์สละ 20 ดอลลาร์ หรือราว 650 บาท ขณะที่รัฐบาลสหรัฐซื้อยาดังกล่าวจากเมอร์คในราคาคอร์สละ 700 ดอลลาร์ หรือมากกว่า 23,000 บาท

 

ทั้งนี้ 1 คอร์สสำหรับการรักษาโรคโควิด-19 ด้วยยาโมลนูพิราเวียร์นั้น ประกอบด้วยยาโมลนูพิราเวียร์ขนาด 200 มิลลิกรัม จำนวน 40 เม็ดสำหรับผู้ป่วย 1 คน โดยผู้ป่วยจะรับประทานยาวันละ 2 ครั้งๆละ 4 เม็ด เป็นเวลา 5 วัน