รู้จัก เดลต้าพลัส “AY.4.2” โควิดกลายพันธุ์ตัวป่วนใหม่ ที่ติดต่อไวกว่าเดิม

26 ต.ค. 2564 | 06:00 น.

ไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ตัวใหม่ที่มีชื่อเรียกว่า “เดลต้าพลัส”  หรือ AY.4.2 (เอวาย.4.2) เป็นสายพันธุ์ย่อยของไวรัสโควิด “เดลต้า” (AY.4) ที่ตรวจพบครั้งแรกในประเทศอินเดีย กำลังสร้างความวิตกเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมันสามารถแพร่กระจายได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม

หน่วยงานด้านความมั่นคงทางสาธารณสุขของอังกฤษ (UKHSA) ได้จัดสถานะของ ไวรัสโควิดเดลต้าพลัส ให้ไปอยู่ในประเภท “สายพันธุ์ที่กำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ” (Variant Under Investigation หรือ VUI) เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงที่เป็นไปได้ดังกล่าว แม้จะยังไม่มีหลักฐานว่า ไวรัสเดลต้าพลัสตัวนี้จะทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยเพิ่มมากขึ้นหรือสามารถหลบหลีกภูมิต้านทานจากการฉีดวัคซีนหรือไม่ ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ยังเชื่อมั่นว่า วัคซีนต้านโควิด-19 ที่โลกมีอยู่ในขณะนี้ ยังคงสามารถทำงานได้ดีในการปกป้องผู้คนไม่ให้เจ็บป่วยอาการหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลหรือถึงขั้นเสียชีวิต

 

แม้ว่าไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้า (ดั้งเดิม) จะกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่มีการติดเชื้อมากที่สุดในประเทศอังกฤษแทนสายพันธุ์อัลฟามาได้ระยะหนึ่งแล้ว  แต่จำนวนผู้ติดเชื้อจากสายพันธุ์ “เดลต้าพลัส” หรือ เอวาย.4.2 ที่เป็นสายพันธุ์ย่อยของเดลต้า ก็กำลังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยมีสัดส่วนขณะนี้ราว 6% ของจำนวนผู้ติดเชื้อในปัจจุบัน ขณะเดียวกันยังมีรายงานพบผู้ติดเชื้อเดลต้าพลัสในสหรัฐอเมริกาและเดนมาร์กแล้วด้วย แม้จะยังมีจำนวนไม่มากนักก็ตาม

 

อังกฤษให้อีกชื่อว่า VUI-21OCT-01

หน่วยงาน UKHSA ของอังกฤษตั้งชื่อไวรัสเดลต้ากลายพันธุ์ตัวใหม่นี้อีกชื่อหนึ่งว่า VUI-21OCT-01 ซึ่งหมายถึงไวรัสสายพันธุ์ที่กำลังถูกจับตาตรวจสอบ (VUI) ตั้งแต่วันที่ 21 ต.ค.เป็นต้นมา ที่เป็นเช่นนั้นเนื่องจากมีการตรวจพบการติดเชื้อสายพันธุ์นี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากกว่าสายพันธุ์เดลต้าดั้งเดิม

รู้จัก เดลต้าพลัส “AY.4.2” โควิดกลายพันธุ์ตัวป่วนใหม่ ที่ติดต่อไวกว่าเดิม

ฟรังซัวส์ บัลโล ผู้อำนวยการ สถาบันพันธุศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยคอลเลจ ลอนดอน (University College London Genetics Institute) ได้ทวีตข้อความเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (16 ต.ค.) ระบุว่า มีข้อมูลเกี่ยวกับ ไวรัสเดลต้า AY.4.2 ที่บ่งชี้ว่ามันอาจจะแพร่กระจายหรือติดต่อได้มากกว่าเดลต้าสายพันธุ์ดั้งเดิมของอังกฤษ หรือสายพันธุ์ AY.4 ถึง 10% “ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เป็นเรื่องที่น่าจะต้องเฝ้าจับตา”

 

ข้อมูลของสาธารณสุขอังกฤษที่รวบรวมจนถึงวันที่ 27 ก.ย. ที่ผ่านมาบ่งชี้ว่า เมื่อมีการตรวจหาเชื้อโควิดในผู้ติดเชื้อรายใหม่พบว่า 6% เป็นการติดเชื้อสายพันธุ์ AY.4.2 แต่นั่นก็เป็นเพียงตัวเลขประมาณการณ์และอาจยังไม่แม่นยำเพราะเป็นเรื่องยากที่จะติดตามแยกแยะการกลายพันธุ์ของเชื้อโรค สถิติเมื่อวันที่ 20 ต.ค.บ่งชี้ว่า ผู้ติดเชื้อเดลต้าพลัสหรือ AY.4.2 ซึ่งตรวจพบในอังกฤษครั้งแรกเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ได้ขยับเพิ่มขึ้นเป็น 15,120 รายแล้ว

 

ยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าทำให้ป่วยมากขึ้นหรือดื้อวัคซีน

ด้านนายแพทย์สกอตต์ ก็อตลี้บ อดีตประธานคณะกรรมการสำนักงานอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ยังไม่ใช่เรื่องที่น่าวิตกกังวลในขณะนี้ แต่ก็จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัย “เป็นการด่วน” เพื่อหาคำตอบว่า จริง ๆ แล้วมันติดต่อได้ไวกว่าเดิมหรือไม่ ดื้อวัคซีนหรือไม่ สามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันของร่างกายเราที่วัคซีนสร้างขึ้นหรือเปล่า

 

“เรามีเครื่องมือ จึงควรทำงานให้ไวขึ้นเพื่อจำแนกแยกแยะบรรดาไวรัสกลายพันธุ์ตัวใหม่ ๆ” นายแพทย์ก็อตลี้บระบุ พร้อมเรียกร้องการทำงานประสานกันในระดับนานาชาติ

รู้จัก เดลต้าพลัส “AY.4.2” โควิดกลายพันธุ์ตัวป่วนใหม่ ที่ติดต่อไวกว่าเดิม

ขณะที่นายแพทย์เจฟฟรีย์ บาร์เร็ต หัวหน้าคณะนักวิจัยพันธุกรรมจากสถาบัน Wellcome Trust Sanger Institute กล่าวว่า AY.4.2 เป็นสายพันธุ์ย่อยของไวรัสโควิดเดลต้าสายพันธุ์เดียวที่มีการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศอังกฤษในขณะนี้ และอาจจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักเหมือนกับที่ไวรัสเดลต้าสายพันธุ์ดั้งเดิมที่ติดต่อได้ไวขึ้น 60% สามารถเข้ามาแทนที่ไวรัสโควิดสายพันธุ์อัลฟาที่แพร่ระบาดก่อนหน้า

 

อย่างไรก็ตาม เขาเห็นว่า AY.4.2 อาจจะเข้ามาแทนที่สายพันธุ์ดั้งเดิมในอัตราที่ช้ากว่า (เมื่อเทียบกับตอนที่เดลต้าดั้งเดิมเข้าแทนที่สายพันธุ์อัลฟา) นอกจากนี้ ยังไม่มีการตรวจพบ AY.4.2 ในประเทศอื่นๆ มากนัก เท่าที่มีรายงานแจ้งเข้ามา นอกจากในอังกฤษแล้ว มีเพียง 3 รายที่ตรวจพบในสหรัฐอเมริกา และมีการตรวจพบในเดนมาร์กแต่ก็ยังไม่มากเช่นกัน

 

ข้อมูลจากเว็บไซต์ Scripps Research's Outbreak.info ซึ่งรายงานเกี่ยวกับการกลายพันธุ์ของไวรัส ระบุว่า ในทุกๆเดือนจะมีการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 เกิดเป็น 2 สายพันธุ์ใหม่ และขณะนี้ก็มีไวรัสโควิดเดลต้าถึง 56 สายพันธุ์ย่อยแล้ว

 

AY.4.2 มีการกลายพันธุ์ใน 2 จุดที่เป็นโปรตีนตรงส่วนหนาม (spike protein) บนผิวของไวรัส ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการนำเชื้อโรคเข้าสู่เซลล์ร่างกายของมนุษย์ แต่ทั้งนี้ ยังไม่มีข้อมูลที่ชี้ชัดว่า การกลายพันธุ์ดังกล่าวส่งผลต่อการแพร่กระจายของไวรัสอย่างไร

 

ข้อแนะนำการปฏิบัติตัว

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอังกฤษกล่าวว่า คำแนะนำสำหรับประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดเดลต้าพลัสก็คือ ควรรีบไปฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้เร็ว และหากมีอายุ 50 ปีขึ้นไปและได้รับวัคซีนต้านโควิดครบ 2 โดสแล้วก็ควรไปรับวัคซีนเข็มที่สาม หรือวัคซีนกระตุ้นภูมิด้วย

 

นอกจากนี้ ยังต้องระมัดระวังตัวอยู่เสมอ หากเข้าไปในสถานที่ที่มีคนจำนวนมากก็ควรสวมใส่หน้ากากอนามัย หากอยู่ภายในอาคารก็ควรเปิดประตูหน้าต่างให้มีการระบายอากาศที่ดี และหากมีอาการเบื้องต้นก็ควรไปเข้ารับบริการตรวจหาเชื้อโควิดแบบ PCR และกักตัวอยู่กับบ้านจนกว่าผลการตรวจจะออกมาว่าไม่พบเชื้อ แพทย์หญิงเจนนี แฮร์รีส์ ผู้อำนวยการบริหาร UKHSA กล่าวในที่สุด

 

ข้อมูลอ้างอิง