ทำความรู้จักยาโมลนูพิราเวียร์ "เมอร์ค" จ่อยื่น FDA ขออนุมัติใช้รักษาโควิด

01 ต.ค. 2564 | 17:46 น.

ยาเม็ด “โมลนูพิราเวียร์” ของบริษัท เมอร์ค ผู้ผลิตยาจากสหรัฐ กำลังได้รับความสนใจจากทั่วโลก หลังการทดลองทางคลินิกให้ผลน่าพอใจ บริษัทเตรียมยื่น FDA เพื่อขออนุมัติใช้รักษาโควิด-19 ในกรณีฉุกเฉินแล้ว พร้อมเดินหน้าการผลิตรองรับออร์เดอร์ เรามาทำความรู้จักยาชนิดนี้กัน  

เมอร์ค แอนด์ โค ซึ่งเป็นบริษัทยาชั้นแนวหน้าของสหรัฐ และ บริษัทริดจ์แบ็ค ไบโอเทราพิวติกส์ แถลงข่าวใหญ่วานนี้ (1 ต.ค.) ว่า ทางบริษัทเตรียมยื่นเรื่องต่อ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (FDA) เพื่อขออนุมัติการใช้ ยาโมลนูพิราเวียร์ (molnupiravir) ในกรณีฉุกเฉินสำหรับการรักษาโรคโควิด-19 หลังการทดลองทางคลินิกได้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจ

ทำความรู้จักยาโมลนูพิราเวียร์  "เมอร์ค" จ่อยื่น FDA ขออนุมัติใช้รักษาโควิด

ผลการทดลองระยะที่ 3 

ทั้งนี้ ยาโมลนูพิราเวียร์ เป็นยาเม็ดสำหรับรักษาโรคโควิด-19 ซึ่งบริษัท เมอร์ค ระบุว่ามีประสิทธิภาพในการต้านไวรัสโควิด-19 ทุกสายพันธุ์ ซึ่งรวมถึงสายพันธุ์เดลตา

 

เมอร์คเปิดเผยว่า ยาโมลนูพิราเวียร์สามารถลดความเสี่ยงของผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรงในการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ถึง 50%

 

ผลการทดลองในระยะที่ 3 พบว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์จำนวนเพียง 7.3% ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลภายในเวลา 29 วัน และไม่มีผู้เสียชีวิต ขณะที่ผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอกจำนวน 14.1% ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลภายในเวลา 29 วัน และมีผู้เสียชีวิตจำนวน 8 ราย

 

อาสาสมัครที่เข้าร่วมการทดลองทั้งหมด 775 คนได้รับการยืนยันว่าเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ที่แสดงอาการ และถูกสุ่มให้ยาโมลนูพิราเวียร์หรือยาหลอกภายในเวลา 5 วันจากที่เริ่มมีอาการ

 

ผู้เข้าร่วมการทดลองทุกคนยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 มาก่อน และแต่ละคนมีปัจจัยหนึ่งอย่างที่ทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดอาการรุนแรงจากโรคโควิด-19 ซึ่งได้แก่ โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และการมีอายุมากกว่า 60 ปี

 

เมอร์คได้ทำการทดลองยาโมลนูพิราเวียร์ในระยะที่ 3 ในสถานที่ต่าง ๆ มากกว่า 170 แห่งทั่วโลก ซึ่งรวมถึงในสหรัฐอเมริกา บราซิล กัวเตมาลา อิตาลี แอฟริกาใต้ ญี่ปุ่น และไต้หวัน

 

ให้ผลดีทั้งด้านการป้องกันและรักษา

เนื่องจากยาโมลนูพิราเวียร์ไม่ได้เล็งเป้าหมายไปที่โปรตีนหนามของไวรัสโควิด-19 ซึ่งแตกต่างจากวัคซีนโควิด-19 ทั่วไป จึงทำให้ยาโมลนูพิราเวียร์มีประสิทธิภาพในการยับยั้งไวรัสโควิด-19 แม้ว่าจะมีการกลายพันธุ์ก็ตาม

 

ทั้งนี้ ยาโมลนูพิราเวียร์จะเล็งเป้าหมายไปที่ viral polymerase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่มีความจำเป็นต่อไวรัสโควิด-19 ในการคัดลอกตัวเองเพื่อแพร่กระจายออกไป โดยยาโมลนูพิราเวียร์จะทำให้รหัสพันธุกรรมของไวรัสเกิดความผิดพลาดจนไม่สามารถขยายจำนวนมากขึ้น

 

ผลการศึกษาพบว่ายาโมลนูพิราเวียร์จะมีประสิทธิภาพมากที่สุด หากผู้ป่วยได้รับยาในช่วงแรกของการติดเชื้อ

 

ขณะนี้เมอร์คกำลังทดลองยาโมลนูพิราเวียร์ร่วมกับบริษัท ริดจ์แบ็ค ไบโอเทราพิวติกส์ ซึ่งเป็นการทดลองในระยะที่ 3 โดยแบ่งเป็นการทดลองสำหรับยารักษา และยาป้องกันโรคโควิด-19

ทำความรู้จักยาโมลนูพิราเวียร์  "เมอร์ค" จ่อยื่น FDA ขออนุมัติใช้รักษาโควิด

เร่งการผลิต 10 ล้านเม็ดปีนี้ รองรับคำสั่งซื้อ

เมอร์คได้เริ่มผลิตยาโมลนูพิราเวียร์แล้ว โดยคาดว่าจะสามารถผลิตได้ 10 ล้านเม็ดภายในสิ้นปี 2564 นี้ และจำนวนมากขึ้นในปีหน้า (2565)

     

แม้ว่าขณะนี้ยาโมลนูพิราเวียร์ยังไม่ได้รับการรับรองจาก FDA แต่หลายประเทศทั่วโลกก็ได้เริ่มสั่งยาโมลนูพิราเวียร์จากเมอร์คแล้ว ซึ่งรวมถึงสหรัฐ โดยทางบริษัทได้รับคำสั่งซื้อจากรัฐบาลสหรัฐในการจัดส่งยาจำนวน 1.7 ล้านเม็ด

 

นอกจากนี้ เมอร์คระบุว่า ทางบริษัทมีแผนจะกำหนดราคายาโมลนูพิราเวียร์โดยอ้างอิงจากการจัดแบ่งกลุ่มประเทศต่าง ๆ ตามเกณฑ์รายได้ของธนาคารโลก เพื่อรับประกันการเข้าถึงยาโมลนูพิราเวียร์อย่างเท่าเทียมกันสำหรับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

 

ข่าวดีและความคาดหวังเกี่ยวกับยาโมลนูพิราเวียร์  ยังมีส่วนดันให้ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์พุ่งขึ้นกว่า 100 จุดเมื่อวานนี้ (1 ต.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการทะยานขึ้นของหุ้นบริษัทเมอร์ค รวมทั้งการชะลอตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ

 

ณ เวลา 19.00 น.ตามเวลาไทย (ของวันที่ 1 ต.ค.) ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์บวก 163 จุด หรือ 0.48% สู่ระดับ 33,88 จุด  ขณะที่ราคาหุ้นเมอร์คพุ่งขึ้นกว่า 7% ในการซื้อขายก่อนเปิดตลาดหุ้นวอลล์สตรีท ขานรับข่าวดีจากการที่ทางบริษัทเตรียมยื่นเรื่องต่อ FDA เพื่อขออนุมัติการใช้ยาดังกล่าวในกรณีฉุกเฉิน สำหรับการรักษาโควิด-19 รวมทั้งประสิทธิภาพในการต้านทานไวรัสโควิด-19 ทุกสายพันธุ์ ซึ่งรวมถึงสายพันธุ์เดลตา