อิสราเอลเผยผลวิจัย ยันสารประกอบในกัญชามีฤทธิ์รักษาอาการโควิด

30 ก.ย. 2564 | 03:09 น.

งานวิจัยที่ศึกษาถึงประสิทธิภาพในการต้านไวรัสของสารเทอร์พีนซึ่งเป็นสารประกอบตามธรรมชาติที่พบในพืชหลายชนิดรวมถึงในกัญชา โดยบริษัท เอบนา ( Eybna) ของอิสราเอลเผยให้เห็นถึงศักยภาพในการรักษาหรือป้องกันการติด “โควิด-19” ในเซลล์ปอดของมนุษย์ได้

นิตยสารฟอร์บส เปิดเผยเกี่ยวกับรายงานการวิจัยของบริษัทเอบนา (Eybna) ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีเกี่ยวกับกัญชาจากประเทศอิสราเอล ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารไลฟ์ (Life) เมื่อต้นปีนี้ ระบุว่า การรวมกันของ สารประกอบที่พบใน “กัญชา” แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการรักษาหรือป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ในเซลล์ปอดของมนุษย์

 

การวิจัยครั้งนี้มุ่งประเมินเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือฤทธิ์ของ สารเทอร์พีน (Terpene) และ สารแคนนาบินอยด์ (Cannabinoid) หรือ ซีบีดี ในกัญชาที่มีต่อเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 สายพันธุ์ที่ติดเชี้อในมนุษย์จากการวิจัยในหลอดทดลอง

 

ทีมวิจัยของเอบนาได้พัฒนาสูตรที่เรียกว่า NT-VRL โดยเป็นการรวมสารเทอร์พีน 30 ชนิดเข้าด้วยกันซึ่งรวมถึงเบต้า-แคริโอฟิลลีน (Beta-caryophyllene) ยูคาลิปตอล (Eucalyptol) และซิตรัล (Citral)

อิสราเอลเผยผลวิจัย ยันสารประกอบในกัญชามีฤทธิ์รักษาอาการโควิด

สารเทอร์พีนได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการรักษาการติดเชื้อไวรัสที่หลากหลายจากการศึกษาในหลอดทดลอง และงานวิจัยที่เผยแพร่โดยเอบนาเมื่อปีที่แล้วพบว่า การใช้ NT-VRL ร่วมกับสารซีบีดี ซึ่งพบในกัญชาด้วยนั้น มีประสิทธิภาพในการรักษาอาการอักเสบที่รุนแรงที่พบในผู้ป่วยโรคโควิด-19 จำนวนมาก

นอกจากนี้ ยังมีการวิจัยเพิ่มเติมซึ่งจัดทำโดยเอบนา และ ฟาร์มาซีด (Pharmaseed ) ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยของอิสราเอลเช่นกัน เพื่อประเมินคุณสมบัติในการต้านไวรัสของ NT-VRL ทั้งแบบที่ใช้และไม่ใช้สารซีบีดีร่วมด้วยในการต้านทานเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ HCoV-229E ที่มีการติดเชื้อในมนุษย์ ซึ่งแม้ว่าสายพันธุ์ HCoV-229E จะไม่ใช่สายพันธุ์ของโคโรนาไวรัสที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 (SARS-CoV-2) แต่สายพันธุ์ HCoV-229E ซึ่งมีความรุนแรงน้อยกว่านี้ ก็มีความสัมพันธ์กับอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจ ตั้งแต่โรคไข้หวัดธรรมดาไปจนถึงโรคปอดอักเสบที่รุนแรง จึงนับได้ว่าผลการวิจัยเบื้องต้นดังกล่าวนี้เป็นหนึ่งในทางเลือกที่ดีสำหรับการป้องกันและรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา

 

สำหรับในประเทศไทยนั้น ทางสถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ ศึกษากัญชาพันธุ์ไทยครอบคลุมทั้งลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ด้านเคมีและข้อมูลสายพันธุกรรม พบว่า มีสารสำคัญ THC และ CBD ปริมาณสูง รวมถึงรากของกัญชา ซึ่งมีสรรพคุณในการช่วยรักษาเนื้อเยื่อของปอด ซึ่งตรงกับข้อมูลขณะนี้ที่พบว่าผู้ที่ป่วยโควิด-19 นั้น แม้จะหายแล้ว แต่เนื้อเยื่อปอดจะถูกทำลายไป (อ่านเพิ่มเติม: กรมวิทย์ฯ ศึกษาสารสกัดจากรากกัญชา พบมีผลช่วยรักษาเนื้อเยื่อปอดที่ถูกโควิดทำลาย)

 

การทดลองวิจัยของสถาบันฯ ได้นำต้นกัญชาสายพันธุ์ไทยที่ปลูกในสถาบัน ไปเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อรากกัญชา จนได้สารสกัดจากรากกัญชา นำไปทดสอบกับเซลล์ปอด พบว่า ปอดที่ติดเชื้อโควิด-19 เมื่อใช้รากกัญชาไปทดสอบ เซลล์ปอดสามารถฟื้นฟูกลับมาได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นระดับการทดลองในหลอดทดลอง และจะต้องนำไปศึกษาวิจัยทดสอบในสัตว์ และมนุษย์จริงๆ ต่อไปเพื่อดูว่าช่วยฟื้นฟูปอดได้รวดเร็วมากน้อยเพียงใด

 

อย่างไรก็ดี ในระหว่างการทำวิจัยต่อยอดเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์นั้น ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ขอให้ประชาชนอย่านำรากกัญชามาใช้เอง เนื่องจากอาจเกิดอันตรายได้ ขอให้รอผลวิจัยอย่างเป็นทางการที่แน่ชัดก่อน