พบโควิดสายพันธุ์ใหม่ C.1.2 กลายพันธุ์ไวขึ้นเกือบสองเท่า  

31 ส.ค. 2564 | 08:04 น.

แอฟริกาใต้พบโควิดสายพันธุ์ใหม่ C.1.2 กลายพันธุ์ไวกว่าเดิมเกือบสองเท่า แต่รุนแรงกว่าเดิมหรือเปล่า ยังต้องศึกษาเพิ่มเติม พบแล้วใน 9 ประเทศรวมทั้งยุโรปและจีน

สถาบันโรคติดต่อแห่งชาติแอฟริกาใต้ หรือ NICD รายงานว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ตรวจพบ เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ที่มีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่งเหมือนสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) เบตา (แอฟริกาใต้) และแกมมา (บราซิล)

 

ไวรัสโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์ดังกล่าวมีชื่อว่า C.1.2  ตรวจพบครั้งแรกใน แอฟริกาใต้ เมื่อช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา แม้การระบาดส่วนใหญ่ในแอฟริกาใต้และหลายประเทศทั่วโลกจะเกิดจาก สายพันธุ์เดลตา (หรือเดิมเรียกกันว่า สายพันธุ์อินเดีย) แต่ C.1.2 ได้รับความสนใจจากนักวิทยาศาสตร์เนื่องจากพบว่า มีการกลายพันธุ์ที่เร็วกว่าที่พบในสายพันธุ์อื่น ๆ ทั่วโลกเกือบ 2 เท่า

 

แต่ทั้งนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่า สายพันธุ์ใหม่นี้แพร่เชื้อได้ง่ายกว่าหรือสามารถเอาชนะภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากวัคซีนหรือการติดเชื้อก่อนหน้านี้ได้หรือไม่ นอกจากนี้ อัตราการระบาดและการแพร่เชื้อของ C.1.2 ก็ยังอยู่ในระดับต่ำ และจนถึงขณะนี้มีการตรวจพบในลำดับจีโนมไม่ถึง 3% นับตั้งแต่มีการเก็บตัวอย่างครั้งแรกในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา

 

เพนนี มัวร์ นักวิจัยจาก NICD กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีข้อมูลการทดลองที่จะยืนยันว่า C.1.2 ตอบสนองอย่างไรในแง่ของความไวต่อแอนติบอดี แต่ทางนักวิจัยก็มีความมั่นใจอย่างมากว่า วัคซีนที่มีใช้ในแอฟริกาใต้ จะยังคงป้องกันผู้คนจากการเจ็บป่วยที่รุนแรงและการเสียชีวิตได้

พบโควิดสายพันธุ์ใหม่ C.1.2 กลายพันธุ์ไวขึ้นเกือบสองเท่า  

ข่าวระบุว่า วัคซีนโควิด-19 ที่แอฟริกาใต้ใช้อยู่คือ วัคซีนไฟเซอร์ และวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน

 

นักวิจัยรายงานว่า การพบเชื้อที่กลายพันธุ์หลายตำแหน่งไม่ได้แปลว่ามีอันตรายมากขึ้นเสมอไป การกลายพันธุ์บางอย่างอาจทำให้ไวรัสอ่อนแอลงได้เช่นกัน ด้านองค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้ว่า ยังเร็วเกินไปที่จะกำหนดจัดประเภทให้โควิด-19 สายพันธุ์ C.1.2 เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล (VOC : variant of concern) หรือน่าสนใจ (VOI : variant of interest) ดังนั้น จึงยังไม่มีการกำหนดตัวอักษรกรีก (เช่น อัลฟา , เดลตา , แกมมา ฯลฯ) ให้กับสายพันธุ์ C.1.2

 

มาเรีย ฟาน เคอร์คอฟ หัวหน้านักวิจัยของ WHO ระบุผ่านทวิตเตอร์ของเธอว่า WHO ได้พูดคุยกับนักวิจัยแอฟริกาใต้เป็นประจำเกี่ยวกับงานของพวกเขาในการจัดลำดับพันธุกรรมโควิด-19 รวมทั้งรายงานการค้นพบข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับไวรัสสายพันธุ์ C.1.2 นำเสนอให้กับ WHO ตั้งแต่เดือน ก.ค.ที่ผ่านมา

 

“ณ เวลานี้ C.1.2 ดูเหมือนจะยังไม่มีอัตราการระบาดที่สูง แต่เราต้องการข้อมูลลำดับพันธุกรรมเพิ่มเติมเพื่อดำเนินการศึกษาและแบ่งปันข้อมูลกับทั่วโลก จากข้อมูลที่มีอยู่ตอนนี้ สายพันธุ์เดลตายังคงครองการระบาดส่วนใหญ่อยู่” มาเรียทวีต และว่า ถ้า WHO พบลักษณะหรือสายพันธุ์ของโควิด-19 ใด ๆ ในฐานะสายพันธุ์ VOC หรือ VOI จะมีการอัปเดตข้อมูลทันที

 

พบโควิดสายพันธุ์ใหม่ C.1.2 กลายพันธุ์ไวขึ้นเกือบสองเท่า  

เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับไวรัสโควิด C.1.2

C.1.2 เป็นการกลายพันธุ์จากสายพันธุ์ C.1 ซึ่งระบาดในแอฟริกาใต้เช่นกัน แต่มีอัตราการติดเชื้อที่ต่ำ และหายไปตั้งแต่เดือน ม.ค. ปีนี้

 

แม้ว่า C.1.2 จะมีการกลายพันธุ์ที่คล้ายกันกับ C.1 แต่ก็มีการกลายพันธุ์เพิ่มเติมหลายตำแหน่งภายในโปรตีนหนาม (Spike Protein) นักวิทยาศาสตร์ประมาณการว่า 52% ของการกลายพันธุ์บริเวณโปรตีนหนามของสายพันธุ์ C.1.2 เป็นการกลายพันธุ์ที่เคยพบในสายพันธุ์ VOI และ VOC อื่น ๆ

 

ที่น่าจับตาคือ  C.1.2 มีการกลายพันธุ์อยู่ 3 ตำแหน่งบนโปรตีนหนามที่พบในสายพันธุ์อื่นแล้วสร้างความกังวลเกี่ยวกับความร้ายแรงของเชื้อ ได้แก่ E484K, N501Y และ D614G ซึ่งเป็นการกลายพันธุ์ที่เชื่อมโยงกับความสามารถในการแพร่กระจายที่เพิ่มขึ้น และการป้องกันจากภูมิคุ้มกันที่ลดลง โดยเป็นการกลายพันธุ์ที่พบได้ในเชื้อโควิด-19 แทบจะทุกสายพันธุ์ที่อยู่ในลิสต์ของ WHO

 

โควิด-19 บางสายพันธุ์ เช่น อัลฟาและเดลตา แพร่กระจายอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นสายพันธุ์หลักของโลก แต่บางสายพันธุ์ยังแพร่กระจายในระดับภูมิภาคมากกว่า ทำให้ยังไม่มีการยกระดับความอันตราย ซึ่งอาจแปลความได้ว่า สายพันธุ์ C.1.2 รวมถึงสายพันธุ์ “โคลอมเบีย” ที่เคยมีการรายงานข่าวไปก่อนหน้านี้ อาจไม่อยู่ในระดับที่ประชาชนต้องวิตกกังวล

 

ปัจจุบัน โควิด-19 สายพันธุ์ C.1.2 ระบาดไปแล้วใน 9 ประเทศ คือ แอฟริกาใต้ มอริเชียส ซิมบับเว บอตสวานา จีน นิวซีแลนด์ โปรตุเกส สวิตเซอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร แต่ละประเทศพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์นี้เพียงหลักหน่วย ยกเว้นแอฟริกาใต้ที่พบแล้วเกือบ 100 ราย

 

สำหรับประเทศไทย ยังไม่มีการพบโควิด-19 สายพันธุ์ C.1.2 แต่อย่างใด นักวิจัยกล่าวว่า เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจว่า การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสเป็นเรื่องปกติ และไม่ใช่ว่า โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ทุกตัวจะมีความน่ากลัวหรือรุนแรงแบบสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้