นักวิจัยพบ โควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้ โผล่นราธิวาส

22 พ.ค. 2564 | 12:52 น.

นักวิจัย กลุ่ม CONI พบ โควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ที่จังหวัดนราธิวาส จากคลัสเตอร์ตากใบ "หมอธีระวัฒน์" ชี้เป็นสายพันธุ์ที่แพร่กระจายโรคได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดอาการรุนแรง ดื้อต่อวัคซีนแทบทุกชนิด

นักวิจัยพบ โควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้ โผล่นราธิวาส

22 พ.ค.2564 มีรายงานว่า นักวิจัยหลายสถาบัน ซึ่งรวมตัวเป็นกลุ่ม COVID-19 Network Investigations หรือ CONI เพื่อหยุดยั้งการระบาดของโควิด-19 ด้วยข้อมูลระดับจีโนม เผยแพร่รายงานสำหรับประชาคมวิทยาศาสตร์ เรื่อง การระบาดในประเทศของเชื้อ สายตระกูล B.1.351 (20H/501Y.V2) ณ วันที่ 22 พฤษภาคม 2564 ระบุว่า
 
ปัจจุบันประเทศไทยมีการระบาดในประเทศของเชื้อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สายตระกูล B.1.351 (20H/501Y.V2) หรือที่มักเรียกกันในสื่อว่าเชื้อสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ทางกลุ่มพันธมิตร COVID-19 Network Investigations (CONI) ได้รับการประสานจากทางกระทรวงสาธารณสุขให้ร่วมสืบสวนคลัสเตอร์ที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส โดยได้รับข้อมูลว่าอาจเป็นคลัสเตอร์ติดเชื้อต่อเนื่องในประเทศไทย จากผู้ลักลอบเข้าเมือง

จากการถอดรหัสพันธุกรรมระดับจีโนมพบว่าเป็นเชื้อสายตระกูล B.1351 ทางกลุ่มฯ ได้ส่งต่อข้อมูลทั้งหมดให้กับหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขในระดับภูมิภาคและระดับชาติเพื่อสื่อสารกับประชาชนต่อไป

ทั้งนี้ ทางกลุ่มขอสื่อสารข้อมูลชุดนี้ให้ประชาคมวิทยาศาสตร์เพื่อร่วมกัน ติดตาม เฝ้าระวัง และพัฒนาวิธีป้องกันรักษาโรค

1.ตัวอย่างชุดนี้จัดเก็บโดยทางกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 13 พ.ค.2564 ทางกลุ่มฯ ได้รับตัวอย่างเมื่อวันที่ 17 พ.ค.2564 และคัดเลือกมาสามตัวอย่าง เพื่อถอดรหัสพันธุกรรมระดับจีโนม โดยตำแหน่งที่ถอดได้มีลำดับการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมตรงกับสายตระกูล B.1.351 ตามระบบ PANGO

2.การถอดรหัสใช้วิธี MinION ของ Oxford Nanopore Techonlogies

3.Genomic Coverage ของสามตัวอย่างอยู่ที่ 85.01%, 90.11% และ 84.93% ตามลำดับ

4.โดยปกติทางกลุ่มจะนำเสนอข้อมูลให้กระทรวงสาธารณสุขและนำข้อมูลเข้ GISAI โดยตรง แต่เนื่องจากข้อมูลชุดนี้มีความสำคัญ ทางกลุ่มจึงนำมาแสดงต่อประชาคมวิทยาศาตร์ทันที

5.เชื้อสายตระกูล B.1.351 มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่คาดว่ามีผลกระทบต่อการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันมนุษย์ต่อไวรัส และลดประสิทธิภาพการทำงานของวัคซีน แต่มิได้แปลว่าวัคซีนจะใช้ไม่ได้ เพียงแต่ต้องเพิ่มอัตราส่วนประชากรผู้ได้รับวัคซีนให้สูงขึ้นเพื่อเกิดการป้องกันระดับประชากร

ทางกลุ่ม CONI ประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์ ที่สังกัดสถาบันในไทยและต่างประเทศ ทางกลุ่มทำการถอดรหัสโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยหน่วยงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขสืบสวนโรค และติดตามการระบาดในระดับประชากร 

สำหรับข้อมูลดังกล่าวจัดเตรียมโดยนักวิทยาศาสตร์ 9 คน ได้แก่

  • นายขจร จุลศักดิ์ (AFRIMS)
  • ผศ.ดร.ธนรรถ ชูขจร (มหาวิทยาลัยมหิดล)
  • พญ.ดร.ธีรรัตน์ คชการ (Molecular Infection Medicine Sweden)
  • นางสาวน้ำฝน โคตะนันท์ (มหาวิทยาลัยมหิดล)
  • ศ.ดร.วสันต์ จันทราทิพย์ (มหาวิทยาลัยมหิดล)
  • นางสาววิภาพร ทับทิมทอง (มหาวิทยาลัยมหิดล)
  • ดร.อลิซาเบธ แบตตี้ (มหาวิทยาลัยมหิดล/Oxford University)
  • ดร.อินทรีย์ เสนสอน (มหาวิทยาลัยมหิดล)
  • ดร.เอกวัฒน์ ผสมทรัพย์ (มหาวิทยาลัยมหิดล)

อย่างไรก็ตาม ตอนท้ายเอกสารระบุว่า ความเห็นประกอบข้อมูลดังกล่าวมิใช่ของต้นสังกัด

ขณะที่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย เปิดเผยกรณีมีรายงานข่าวพบผู้ติดเชื้อโควิด ซึ่งเป็นเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ในพื้นที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ว่า เบื้องต้นได้ตรวจเจอเชื้อโควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ที่อยู่นอกสถานกักกันโรค จึงคาดว่า มีการติดเชื้อกันในประเทศไทยแล้ว จากการตรวจสอบข้อมูลการระบาด ของสายพันธุ์ดังกล่าวพบว่า ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่า มีประเทศอะไรบ้าง เนื่องจากบางประเทศอาจจะตรวจหาแล้วไม่เจอ แต่ในความเป็นจริงแล้วเชื้อมีอยู่

ศ.นพ.ธีรวัฒน์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้จากสายพันธุ์ ที่ทั่วโลกมีการจับตาอยู่ 4 สายพันธุ์คือสายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์บราซิล สายพันธุ์อินเดีย และสายพันธุ์แอฟริกาใต้ พบว่าสายพันธุ์แอฟริกาใต้นั้นเป็นสายพันธุ์ เจ้าพ่อเบอร์ 1 ส่วนสายพันธุ์อังกฤษที่ระบาดในไทยตอนนี้นับว่า เด็กอนุบาล เพราะสายพันธุ์แอฟริกาใต้นั้นมีความสามารถในการแพร่กระจายโรคได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดอาการรุนแรง และผลจากการศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่า สายพันธุ์ดังกล่าวดื้อต่อวัคซีนแทบทุกชนิด 

อย่างไรก็ตาม วัคซีน astrazeneca และวัคซีนซิโนแวค ในประเทศไทยขณะนี้ ขอให้รัฐบาลเร่งปูพรมฉีดในประชากรอย่างรวดเร็ว ใครพร้อมขอให้ฉีดได้เลย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: