“ตาลีบัน” ภาพลักษณ์ใหม่ คำมั่นสัญญาที่รอวันพิสูจน์ 

18 ส.ค. 2564 | 01:23 น.

ตาลีบันสั่งกลุ่มติดอาวุธเคารพชาวต่างชาติ ห้ามยุ่งเกี่ยวสถานทูต ให้เกียรติสตรีเข้าร่วมรัฐบาลโดยขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการจัดตั้ง ภายใต้ชื่อประเทศ “เอมิเรตอิสลามแห่งอัฟกานิสถาน”

กลุ่มตาลีบัน ซึ่งปัจจุบันได้เข้ายึดครองกรุงคาบูลของอัฟกานิสถาน สั่งการให้นักรบของกลุ่มรักษาวินัยอย่างเคร่งครัด และไม่เข้าไปในอาคารทางการทูตหรือเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยานพาหนะของสถานทูต เพื่อให้คนทั่วไปสามารถทำกิจธุระได้ตามปกติ

 

เจ้าหน้าที่อาวุโสของกลุ่มตาลีบันกล่าวว่า "สมาชิกตาลีบันทุกระดับชั้นได้รับคำสั่งดังกล่าว เพื่อสร้างหลักประกันว่าเราจะไม่ดูหมิ่นประเทศใดๆ ในอัฟกานิสถาน"

 

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้น หลังกลุ่มตาลีบันได้เข้าควบคุมอำนาจในอัฟกานิสถานอีกครั้งในรอบ 20 ปี หลังถูกกองทัพสหรัฐขับไล่ออกไป ด้านนายอัชราฟ กานี ประธานาธิบดีอัฟกานิสถาน ได้เดินทางออกนอกประเทศไปเมื่อคืนวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา


มุลเลาะห์ อับดุล กานี บาราดาร์ ผู้นำกลุ่มตาลีบัน ที่คาดว่าจะขึ้นเป็นประธานาธิบดี

และเพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจเพิ่มมากขึ้น กลุ่มตาลีบันได้ประกาศนิรโทษกรรมทั่วอัฟกานิสถานเมื่อวานนี้ (17 ส.ค.) ทั้งยังระบุว่า จะเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้เข้าร่วมรัฐบาล นับเป็นความเคลื่อนไหวที่เหนือคาดหมาย แต่ก็เข้าใจได้ว่าผู้นำกลุ่มตาลีบันต้องการคลายความกังวลที่เกิดขึ้นทั่วกรุงคาบูล หลังเกิดความโกลาหลที่ประชาชนกรูกันเข้าไปที่ท่าอากาศยานนานาชาติฮามิด คาร์ไซ ในกรุงคาบูล เพื่อหนีออกนอกประเทศเมื่อวันจันทร์ (16 ส.ค.)

 

ทั้งนี้ เอนามุลเลาะห์ ซามันกานี หนึ่งในคณะกรรมการวัฒนธรรมของกลุ่มตาลีบัน ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปกครองเป็นครั้งแรก หลังกลุ่มเข้าควบคุมพื้นที่ทั่วอัฟกานิสถานเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (15 ส.ค.) โดยเขาระบุว่า "เอมิเรตอิสลามไม่ต้องการให้ผู้หญิงตกเป็นเหยื่อ" ซามันกานีกล่าวโดยใช้ชื่อเรียกประเทศอัฟกานิสถานตามที่ใช้กันในกองกำลังตาลีบันว่า “เอมิเรตอิสลามแห่งอัฟกานิสถาน” (Islamic Emirate of Afghanistan) โดยกล่าวเสริมในช่วงหนึ่งว่า ผู้หญิงควรเข้ามาอยู่ในระบบรัฐบาลด้วยตามกฎหมายชารีอะห์

 

"ตอนนี้โครงสร้างรัฐบาลยังไม่ชัดเจน แต่จากประสบการณ์นั้นคาดว่าควรจะมีคณะรัฐบาลที่เป็นอิสลามเต็มตัว แต่จะให้ทุกฝ่ายเข้าร่วมได้" ซามันกานีกล่าว

“ตาลีบัน” ภาพลักษณ์ใหม่ คำมั่นสัญญาที่รอวันพิสูจน์ 

แม้จะยังไม่มีรายงานถึงเหตุคุกคามที่รุนแรงหรือการปะทะกันในกรุงคาบูล แต่ประชาชนจำนวนมากยังคงอยู่ในบ้านด้วยความหวาดกลัว ขณะที่คนรุ่นเก่ายังคงมีภาพจำของกลุ่มอิสลามที่อนุรักษ์นิยมแบบสุดขั้วตลอดช่วงเวลาที่กลุ่มตาลีบันยึดครองประเทศ ก่อนที่สหรัฐจะส่งกองทัพลงมาหลังเหตุวินาศกรรมเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2544