ไทย-ญี่ปุ่นยกระดับ "หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ" สานสัมพันธ์ 135 ปี

21 ก.ค. 2564 | 11:11 น.

เวทีสัมมนาเชิงวิชาการออนไลน์ “Envisioning the Future : Thailand-Japan Strategic Economic Partnership” จัดโดยกระทรวงการต่างประเทศ และสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย วันนี้ (21 ก.ค.) ฉายภาพความสัมพันธ์ในระดับ “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์” ที่จะพัฒนาต่อไปบนพื้นฐานอันแข็งแกร่ง

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวเปิดประเด็นการพัฒนา ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและญี่ปุ่น ว่า บนความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นในทุกระดับมาเป็นกว่า 134 ปี และกำลังจะครบรอบ 135 ปีในปีหน้า (2565) นั้น ทั้งสองประเทศผ่านบททดสอบและวิกฤตต่าง ๆมาได้โดยไม่เคยทอดทิ้งกัน วิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบกับทุก ๆ ประเทศอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน แต่ขณะเดียวกันก็เปิดไปสู่ศักราชใหม่ที่รัฐบาลประเทศต่าง ๆจะต้องสร้างระบบเศรษฐกิจที่ “แข็งแรงและยืดหยุ่น” มากพอที่จะก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง

ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กระทรวงการต่างประเทศ

สำหรับไทยและญี่ปุ่นนั้น ตระหนักถึงคุณค่าการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่มีในหลายมิติรอบด้าน ทั้งสองฝ่ายมีความร่วมมือทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี เช่นในเวทีเอเปค ที่ไทยกำลังจะเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปคซัมมิทในปีหน้า (2565) และความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่ญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ วันที่ 11 ส.ค.ปีนี้ จะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-ญี่ปุ่นสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาส่งเสริมแนวคิด Green Growth Strategy หรือ ยุทธศาสตร์การเติบโตสีเขียว ที่เน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนและญี่ปุ่นให้ความสำคัญ

 

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของไทยยังกล่าวด้วยว่า ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ไทยมีไทยแลนด์ 4.0 และพัฒนาการของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) แต่ขณะเดียวกัน ไทยก็ให้ความสำคัญกับนโยบายที่ตั้งอยู่บนหลักการของความสมดุลและยั่งยืน ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ บีซีจี (Bio-Circular-Green Economy Model: BCG) แนวคิดดังกล่าวมีจุดร่วมที่คล้ายคลึงกับยุทธศาสตร์การเติบโตสีเขียวของญี่ปุ่น จึงสามารถผสานความร่วมมือและเป็นบรรทัดฐานของโครงการความร่วมมือใหม่ๆระหว่างไทยและญี่ปุ่น    

คาสุยะ นะชิดะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่น

ด้านนายคาสุยะ นะชิดะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย ให้ความเห็นสอดคล้องกันว่า ไม่ว่าจะพบกับความท้าทายใดๆ ไทยยังจะเป็นฐานผลิตที่สำคัญของบริษัทญี่ปุ่นเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง 10ปีก่อนญี่ปุ่นประสบภัยแผ่นดินไหวและสึนามิ ไทยได้แสดงไมตรียื่นมือเข้าช่วยเหลือญี่ปุ่น มาวันนี้ไทยเผชิญการแพร่ระบาดของโควิด-19 ญี่ปุ่นมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1,050,000 โดสให้แก่ประเทศไทย เป็นบทพิสูจน์ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดแน่นแฟ้นไม่เคยคลอนแคลน   

 

ส่วนในอนาคตนั้น สิ่งที่คาดหวังจะได้เห็น ประการแรก คือ การเป็นพันธมิตรกันต่อไปในการสร้างสรรค์ความสัมพันธ์แบบใหม่ (co-creation) ระหว่างญี่ปุ่นกับไทยและประเทศอื่น ๆในอาเซียน  ปีที่แล้วญี่ปุนให้ความสนับสนุนทางเทคโนโลยีในรูปโครงการสาธิตหลายโครงการในอาเซียน แต่ก็มีจำนวนโครงการในไทยมากที่สุด (จาก 11 โครงการ มีอยู่ในไทย 7 โครงการ) เช่นโครงการนำระบบเอไอ (ปัญญาประดิษฐ์) มาใช้ในฟาร์มเลี้ยงกุ้งของไทย เป็นต้น  

 

ประการที่สอง คือ ภายใต้นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ญี่ปุ่นได้จัดตั้งกองทุน 2 ล้านล้านเยน ให้เอกชนพัฒนาเทคโนโลยีปลอดคาร์บอน (carbon neutral) เพื่อมุ่งสู่การเป็นประเทศคาร์บอนต่ำและกระตุ้นให้มีการลงทุนใหม่ในด้านนี้ ซึ่งญี่ปุ่นเองพร้อมช่วยเหลือและผลักดันไทยในเรื่องนี้เช่นกัน

 

ต่อจากนั้นเวทีเสวนาออนไลน์ได้นำเสนอแนวคิดการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและญี่ปุ่นผ่านมุมมองของวิทยากรทั้งฝั่งไทยและญี่ปุ่น ในหัวข้อการบรรยายพิเศษ What now & What Next : Thailand-Japan Strategic Economic Partnership in Challenging Time

 

ไทย-ญี่ปุ่นยกระดับ "หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ"  สานสัมพันธ์ 135 ปี

บทบาทของญี่ปุ่นที่ไทยอยากเห็น

นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ที่ปรึกษาพิเศษที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ระบุว่า ไทยและญี่ปุ่นร่วมมือกันมานาน การมองย้อนภาพอดีตอาจทำให้เรามองเห็นอนาคตและเข้าใจได้มากขึ้น ในอดีตนั้นไทยมีโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดที่ได้บริษัทผู้ลงทุนจากญี่ปุ่นเข้ามาร่วมเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ หรือ strategic partner จนประสบความสำเร็จ ทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางผลิตยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ส่งออกไปยังตลาดโลก มีห่วงโซ่การผลิตที่แข็งแกร่ง ส่วนปัจจุบันไทยกำลังใช้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 และปลุกปั้นโครงการอีอีซี แม้จะอยู่ในบริบทของการเปลี่ยนผ่านและความท้าทาย แต่ก็เชื่อว่าด้วยความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่น จะสามารถขับเคลื่อนอีอีซีให้สามารถประสบความสำเร็จได้เช่นกัน โดยมีอีกหลายประเทศเข้าร่วมมีบทบาท เป็นเวทีของความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือ ไม่ใช่การเป็นคู่แข่งที่ต้องมีใครได้ใครเสีย  นอกจากญี่ปุ่นแล้วยังมีสหรัฐอเมริกา จีน และเกาหลีใต้ เข้าลงทุนในพื้นที่ และมองว่าเป็นการร่วมกันสร้างอนาคตของเอเชีย

 

“ไทยและญี่ปุ่นเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กันอยู่แล้ว มีวิสัยทัศน์ที่ตรงกันหลายเรื่อง ทั้งเรื่องความร่วมมือในภูมิภาคอินโดแปฟิกที่ต้องเสรีและเปิดกว้าง และการพัฒนาภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ที่เราอยากให้เป็นเวทีของความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน” ที่ปรึกษาพิเศษของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายอีอีซีกล่าว และมองต่อไปในอนาคตว่า ขณะที่ไทยมีนโยบายบีซีจี (BCG) ญี่ปุ่นมียุทธศาสตร์เศรษฐกิจสีเขียว เป็นสิ่งที่สามารถต่อยอดสร้างความร่วมมือกันได้  และมองว่า อีอีซีสามารถเป็นฐานรองรับการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและญี่ปุ่นได้ เหมือนที่เคยเป็นมากับโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดในอดีต

 

ด้านนายจิระพันธ์ อุลปาทร ประธานสถาบันความร่วมมืออุตสาหกรรมไทย-ญี่ปุ่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เห็นด้วยว่า บริษัทญี่ปุ่นสามารถเข้ามาลงทุนและร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต หรือที่เรียกว่าอุตสาหกรรม S-curve โดยเฉพาะในส่วน อุตสาหกรรมใหม่ 5 ประเภท ที่ประกอบด้วย

  • หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม (ROBOTICS)
  • อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (AVIATION AND LOGISTICS)
  • อุตสาหกรรมดิจิทัล (DIGITAL)
  • อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (BIOFUELS AND BIOCHEMICALS)
  • อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร(MEDICAL HUB)

ในขณะเดียวกันก็อยากเชิญชวนให้นักลงทุนของญี่ปุ่นเข้ามาให้ความสนับสนุนในการบ่มเพาะแรงงานที่มีทักษะแก่บุคลากรชาวไทยผ่านทางโครงการต่าง ๆด้วย ซึ่งในปัจจุบัน ญี่ปุ่นก็ได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือในเรื่องนี้อยู่แล้ว เช่นที่สถาบันเทคโนโลยีการผลิตสุมิพล (SIMTec)

 

ทางด้านนายอารีย์ ชวลิตชีวินกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซิเมนต์ไทยโฮลดิ้ง จำกัด (เอสซีจี) เปิดมุมมองให้เห็นว่า ในฐานะที่เอสซีจีเป็นบริษัทเอกชนที่มีความร่วมมือกับญี่ปุ่นมายาวนานหลายปี และมีบริษัทในเครือที่ร่วมทุนกับญี่ปุ่น 27 บริษัท พบว่าบทบาทของบริษัทญี่ปุ่นนั้นไม่เพียงเป็นผู้เสริมสร้างเขี้ยวเล็บทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้ไทย แต่ยังเป็นพันธมิตรที่ดีที่ช่วยบริษัทไทยเจาะตลาดประเทศต่าง ๆในอาเซียนด้วย เช่นบริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง ที่จับมือบริษัทเร็งโก แพคเกจจิ้ง จากญี่ปุ่น บุกตลาดประเทศเวียดนาม และบริษัท สยาม คูโบต้า คอร์ปอเรชั่น ที่เป็นการร่วมทุนระหว่างไทยและญี่ปุ่น ก็สามารถเข้าไปจัดตั้งคูโบต้า กัมพูชา และคูโบต้า ลาว เป็นการเปิดตลาดประเทศเพื่อนบ้าน และมีการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาคูโบต้าที่ประเทศไทยเพื่อดูแลครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ ยังมีบริษัทร่วมทุน สยาม ยามาโตะ สตีล ที่เข้าไปเปิดตลาดเวียดนาม เป็นต้น 

 

“ บริษัทญี่ปุ่นไม่เพียงเข้ามาช่วยส่งเสริมการส่งออกของไทย แต่ยังช่วยพัฒนาเทคโนโลยี เสริมเขี้ยวเล็บนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ให้แก่ไทยด้วย”  ยกตัวอย่างการช่วยให้ไทยมีเกษตรกรรุ่นใหม่ที่นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มผลผลิต มีเทคโนโลยีโมดูลาร์เฮาส์ สำหรับสร้างบ้านประหยัดพลังงาน ป้องกันฝุ่นละออง และใช้วัสดุก่อสร้างที่คงทนซึ่งผลิตมาจากโรงงานที่ใช้หุ่นยนต์ เป็นต้น ล่าสุด คือการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อเป็นประโยชน์แก่สังคมในยุคโควิด เช่นเทคโนโลยีของบริษัทเร็งโก ทำเตียงจากกระดาษรีไซเคิลสำหรับใช้ในโรงพยาบาลสนาม ซึ่งทางเอสซีจีได้นำมาบริจาคแล้ว 50,000 เตียง  และนำเทคโนโลยีของบริษัทเซคิซุยไฮม์มาทำห้องไอซียูประกอบไว รวมทั้งห้องตรวจเชื้อ ซึ่งบริจาคไปแล้วในหลายจังหวัด

 

 

เสียงสะท้อนจากญี่ปุ่นตอกย้ำความสัมพันธ์ที่ยังพัฒนาได้อีก

นางสาวยูกูริ โยชิโกะ หัวหน้าสำนักงานองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือ NEDO (New Energy and Industrial Technology Development Organization) ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า ญี่ปุ่นเองตั้งเป้าจะเป็นประเทศปลอดคาร์บอน หรือ carbon neutral ภายในปีค.ศ.2050 นับเป็นโครงการที่ต้องกล้าตัดสินใจ กล้าได้กล้าเสีย ปัญหาคือถูกมองว่าเป็นโครงการที่ต้องใช้เงินลงทุนมากเกินไป จึงต้องมีการทำรายละเอียดโครงการออกมาอย่างรัดกุมรอบคอบ มีการตั้งกองทุน Green Innovation Fund ขึ้นมา 2 ล้านล้านเยน เพื่อให้ NEDO นำไปใช้ในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมพลังงานสีเขียว ซึ่งมีการเข้ามาทำโครงการในไทยด้วย ยกตัวอย่างเช่น โครงการนำชานอ้อยมาทำเชื้อเพลิงชีวมวล มีการตั้งโรงงานต้นแบบผลิตน้ำตาลเซลลูโลสจากชานอ้อย เพื่อสามารถนำไปผลิตเป็นเอทานอล เป็นต้น

 

สำหรับมุมมองเกี่ยวกับนโยบายบีซีจีของไทย เห็นว่า แนวคิดบีซีจีของไทย ซึ่งเป็นการผสานเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว นับว่าสมเหตุสมผล เพราะจะช่วยส่งเสริมจุดแข็งของไทยที่มีจุดเด่นด้านเกษตรกรรมและทรัพยากรทางการเกษตร เหมาะกับการพัฒนาเชื้อเพลิงชีวมวล และการนำไอทีมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการเกษตร นวัตกรรมเหล่านี้จะทำให้ไทยสามารถเปิดตลาดใหม่ๆ แต่ไทยก็จำเป็นต้องมีกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องมารองรับด้วย เช่น กฎหมายเกี่ยวกับพลังงานเชื้อเพลิงรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งเรื่องนี้ญี่ปุ่นมีประสบการณ์ เชื่อว่าสามารถช่วยเหลือไทยได้

 

ด้านศาสตราจารย์  โออิสุมิ เคอิชิโร จากสถาบันเอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยเอเชีย (Asia University) ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์เอเชีย เปิดเผยว่า มูลค่าสะสมของการลงทุนโดยตรงของญี่ปุ่นมีในอาเซียนมากกว่าจีน และในอาเซียนนั้น การลงทุนของญี่ปุ่นก็มาลงที่ประเทศไทยมากที่สุด คือกว่า 30% ของทั้งหมดที่ลงทุนในอาเซียน และส่วนใหญ่กระจุกตัวในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล แม้ว่าในปี 2019 (พ.ศ. 2562) ญี่ปุ่นลงทุนในเวียดนามเพิ่มมากขึ้นแซงหน้าไทย แต่ถ้าดูมูลค่าการลงทุนสะสมในเวียดนาม ก็ยังไม่ถึงเสี้ยวของไทย

 

อย่างไรก็ตาม ในอนาคต เขามองว่า ไทยและญี่ปุ่นในฐานะหุ้นส่วนเศรษฐกิจ สามารถจับมือกันเข้าไปบุกตลาดจีนที่ยังคงมีการขยายตัว (ขณะที่ประเทศอื่น ๆเศรษฐกิจชะลอไปมาก ผลพวงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19) บริษัทญี่ปุ่นอาจใช้สำนักงานหรือบริษัทลูกในไทย เป็นสำนักงานสำหรับใช้บุกตลาดจีน โดยต้องเตรียมทีมงานที่สามารถสื่อสารด้วยภาษาจีนเอาไว้ที่นี่ด้วย

 

ส่วนนายชอกกิ โมริคะสุ ประธานบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งที่สะท้อนความร่วมมือที่แข็งแกร่งและประสบความสำเร็จมากที่สุดระหว่างไทยกับญี่ปุ่น โดยปัจจุบันไทยเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับที่ 11 ของโลก และเป็นอันดับหนึ่งในแถบอาเซียน สำหรับมิตซูบิชิมีการสร้างบุคลากรในไทยมา 50-60 ปี และโรงงานของมิตซูบิชิในไทยก็เป็นโรงงานที่ใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับโรงงานของบริษัทที่มีอยู่ทั่วโลก

 

เมื่อรัฐบาลไทยมีเป้าหมายผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า บริษัทก็พร้อมให้การสนับสนุนเพราะในญี่ปุ่นเองรัฐบาลก็มีนโยบายมุ่งหน้าสู่การเป็นประเทศปลอดคาร์บอนอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี เขามองว่าปัญหาบางอย่างที่มีอยู่เป็นเรื่องที่ต้องตระหนัก คือ ค่าแรงในไทยปรับขึ้นทุกปี และเริ่มเป็นสังคมสูงวัย อัตราการเกิดก็น้อย ทำให้ไทยมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งเขาเห็นว่าอาจแก้ได้ด้วยการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์เข้ามาช่วยทดแทนแรงงานมนุษย์ในกระบวนการผลิต นอกจากนี้ ยังต้องมีมาตรการส่งเสริมเป็นแรงดึงดูดให้เอกชนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น เช่น ให้สิทธิประโยชน์จูงใจในเรื่องของภาษี และการสนับสนุนเชิงนโยบายเรื่องค่าเงินบาท “ไทยต้องพยายามรักษาฐานการผลิตให้เข้มแข็งต่อไป เพราะมีคู่แข่งอย่างเช่นอินโดนีเซีย ในฐานะนักลงทุน เราขอนโยบายที่มีความสมดุลและมีความเป็นไปได้สูงสุด” ผู้บริหารของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส กล่าว

  

เสียงสะท้อนจากวิทยากรญี่ปุ่นอีกคนหนึ่งคือ นายโมริตะ เคสุเกะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สไปเบอร์ ไทยแลนด์ (Spiber Thailand) บริษัทสตาร์ทอัพอนาคตไกลจากญี่ปุ่น ที่พัฒนาโปรตีน (brewed protein) จากการหมักเชื้อจุลินทรีย์ โดยบริษัทใช้เชื้อจุลินทรีย์ในการสร้างโปรตีนขึ้นมา มีการออกแบบโครงสร้างดีเอ็นเอของโปรตีนเพื่อนำโปรตีนไปขึ้นรูปเป็นเส้นใยต่อไป ใช้ในการทอเสื้อผ้า เช่นเสื้อกันลม-กันหนาวแบรนด์  NorthFace นวัตกรรมดังกล่าวถูกนำไปจัดแสดงที่งานปารีสแฟชั่นวีคมาแล้ว

 

สไปเบอร์เข้ามาตั้งโรงงานเพื่อผลิตโปรตีนในเชิงพาณิชย์ในประเทศไทย โดยได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอ เป็นโรงงานที่คนวัยหนุ่มสาวมารวมตัวกัน “บริษัทเราเลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิต เพราะต้องใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบหลัก ซึ่งไทยมีทรัพยากรตรงนี้ตอบโจทย์เราได้มาก นอกจากนี้ ไทยยังมีชุมชนบริษัทญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนอยู่แล้วเป็นจำนวนมาก ทำให้บริษัทสตาร์ทอัพหน้าใหม่อย่างสไปเบอร์รู้สึกว่าอยู่ท่ามกลางบรรยากาศแวดล้อมที่สะดวกสบายเพียบพร้อมองค์ประกอบในการทำธุรกิจ อีกทั้งไทยยังมีระบบสนับสนุนการลงทุนโดยบีโอไอ ที่นับว่าจูงใจมากๆ” โมริตะกล่าวในที่สุด เขายังทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า อยากให้คนหนุ่มสาวของทั้งสองประเทศ ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของกันและกันให้มากขึ้น จะได้รู้จักกันอย่างลึกซึ้ง สอง คือเรื่องการพัฒนาใด ๆก็ตาม ต้องคำนึงถึงบริบทของท้องถิ่น นำความเป็นท้องถิ่น (localization) เข้ามาประยุกต์ด้วย เช่นในโครงการอาจมีการร่วมมือกันกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ก็จะเป็นเรื่องที่ดี