สงคราม-โควิด-โลกร้อน ก่อวิกฤตความหิวโหย คร่าชีวิตประชากรโลก 11 คนต่อนาที

09 ก.ค. 2564 | 08:42 น.

Oxfam ชี้ 3 ปัจจัยหลัก “สงคราม-โควิด-โลกร้อน” ก่อวิกฤตความหิวโหย คร่าชีวิตประชากรโลก 11 คนต่อนาที โดย "สงคราม" ยังคงเป็นสาเหตุความหิวโหยอันดับ1 ขณะที่ "โควิด" เป็นปัจจัยซ้ำเติมปัญหาเดิมที่มีอยู่

อ็อกซ์แฟม (Oxfam) ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลของอังกฤษเปิดเผยวันนี้ (9 ก.ค.) ใน รายงาน "The Hunger Virus Multiplies" ว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากความหิวโหย ในปี 2563 เพิ่มขึ้น 6 เท่า และมีแนวโน้มว่าจะพุ่งสูงกว่ายอดผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 โดยรายงานระบุว่า ทุกๆ 1 นาทีจะมีผู้เสียชีวิต 11 คนจากความหิวโหยและภาวะทุพโภชนาการ เทียบกับผู้เสียชีวิต 7 คนจากโรคโควิด-19

 

อ็อกซ์แฟมระบุว่า สัดส่วนของผู้ที่เผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหารพุ่งสูงขึ้นอย่างมากหลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยขณะนี้มีประชาชน 155 ล้านคนทั่วโลกที่เผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหารระดับวิกฤต ซึ่งมากกว่าตัวเลขของปีก่อนหน้าถึง 20 ล้านคน จึงทำให้อ็อกซ์แฟมต้องประกาศเตือนถึงวิกฤตความหิวโหยที่รุนแรงขึ้นนี้

สงคราม-โควิด-โลกร้อน ก่อวิกฤตความหิวโหย คร่าชีวิตประชากรโลก 11 คนต่อนาที

แอ็บบี้ แม็กซ์แมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของอ็อกซ์แฟมในสหรัฐอเมริกากล่าวว่า "ตัวเลขสถิติที่ออกมานั้นดูน่าตกใจ แต่เราต้องไม่ลืมว่า ตัวเลขในสถิติประกอบด้วยผู้คนที่เผชิญกับความทุกข์ยากแสนสาหัส แม้จะมีเพียงคนเดียวก็ยังนับว่ามากเกินไป"

 

ขณะเดียวกัน ปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นใน พื้นที่ที่อ็อกซ์แฟมจัดให้เป็น "ศูนย์กลางความหิวโหยที่เกิดขึ้นใหม่" เช่น ในอินเดีย แอฟริกาใต้ และบราซิล ซึ่งเป็นประเทศในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 มากที่สุด

เด็กน้อยชาวอินเดียแบ่งปันอาหารกัน

แม้แต่ในสหรัฐซึ่งมีภาคอุตสาหกรรมอาหารที่รับมือกับผลกระทบได้ดีพอสมควร ก็ยังประสบปัญหาจากสถานการณ์โควิด-19 และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศอย่างฉับพลันในช่วงที่ผ่านมา

 

นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่า ราคาอาหารโลกได้ดีดตัวขึ้นถึง 40% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบกว่า 10 ปี

 

อย่างไรก็ตาม สาเหตุหลักของปัญหาความหิวโหย ซึ่งเป็นวิกฤตระดับโลกในขณะนี้นั้น

  • อันดับหนึ่ง ยังคงเป็น “สงคราม” และความขัดแย้งในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งคิดเป็น 2 ใน 3 ของสาเหตุการเสียชีวิตจากความหิวโหยทั่วโลก
  • อันดับสอง คือ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ตามมา
  • อันดับสาม คือภาวะโลกร้อนที่รุนแรงขึ้น ก็ได้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากความหิวโหยเป็นจำนวนหลายสิบล้านคน

 

อ็อกซ์แฟมเปิดเผยว่า ประเทศที่เผชิญกับภาวะสงครามอย่างอัฟกานิสถาน เอธิโอเปีย ซูดานใต้, ซีเรีย และเยเมน ล้วนเป็นประเทศที่ตกอยู่ในวิกฤตการณ์ความหิวโหยที่ร้ายแรงที่สุดในโลก

 

"ความอดอยากยังคงถูกใช้เป็นอาวุธสงครามต่อไป ทำให้พลเรือนไม่สามารถเข้าถึงอาหารและน้ำ รวมถึงมีการขัดขวางการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ประชาชนย่อมไม่สามารถใช้ชีวิตหรือหาอาหารได้อย่างปลอดภัย หากตลาดอาหารยังคงมีเหตุระเบิด และพืชผลและปศุสัตว์ต่างๆ ยังคงถูกทำลาย" แม็กซ์แมนกล่าวในที่สุด