ส่องที่มา-ที่ไป นโยบาย “ลูก 3 คน”ของจีนยุคใหม่

02 มิ.ย. 2564 | 08:57 น.

รัฐบาลจีนปรับนโยบายใหม่ อนุญาตให้ครอบครัว "มีบุตร 3 คน" หลังอัตราการเกิดร่วงต่ำสุดในรอบ 40 กว่าปี

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (31 พ.ค.) ที่ประชุม คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้มีการ ประกาศเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งใหม่ ด้วยการอนุญาตให้คู่สามีภรรยาสามารถ มีบุตรได้ 3 คน โดยเป็นการเปลี่ยนนโยบายเรื่องการมีบุตรอีกครั้งในรอบ 6 ปี เรื่องนี้มีความเป็นมาและเป้าหมายอย่างไร 

 ประเทศจีนกับนโยบายควบคุมประชากร

 ที่ผ่านมา ประเทศจีนมีการกำหนด นโยบายจำกัดการมีบุตร มาตั้งแต่ปี 2522 ซึ่งนโยบายในขณะนั้นกำหนดให้คู่สามีภรรยาสามารถมีบุตรได้คนเดียว นโยบายดังกล่าวทำให้คู่สามีภรรยาเลือกที่จะมีบุตรชายเพียงคนเดียวเสียมากกว่า ทำให้อัตราส่วนประชากรเพศชายต่อเพศหญิงของจีนนั้นไม่สมดุลกัน โดยในปัจจุบันจีนมีประชากรเพศชายประมาณ 723 ล้านคน และประชากรเพศหญิงประมาณ 688 ล้านคน

ส่องที่มา-ที่ไป นโยบาย “ลูก 3 คน”ของจีนยุคใหม่

นอกจากนี้ นโยบายดังกล่าวยังทำให้อัตราการเกิดค่อยๆ ลดต่ำลง ก่อนที่ในปี 2556 รัฐบาลจีนจะอนุญาตให้สามีภรรยาสามารถมีบุตรได้ 2 คนหากสามีหรือภรรยาเป็นลูกคนเดียว ต่อมาในปี 2558 รัฐบาลจีนอนุญาตให้สามีภรรยาสามารถมีบุตรได้ 2 คนโดยไม่มีเงื่อนไข ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งนั้น ส่งผลให้อัตราการเกิดของจีนเพิ่มขึ้น แม้จะเป็นเพียงระยะเวลาสั้น ๆ ไม่กี่ปีเท่านั้น

ข้อมูลจากสำมะโนประชากรล่าสุดของจีนแสดงให้เห็นว่า มีเด็กเกิดใหม่ประมาณ 12 ล้านคนในปี 2563 ซึ่งลดลงอย่างมาก จากระดับ 17.86 ล้านคนในปี 2559 โดยเป็นการลดลงต่อเนื่อง 4 ปีและเป็นตัวเลขที่น้อยที่สุดนับตั้งแต่ปี 2521

นายหนิง จือเจ๋อ ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) ระบุว่า อัตราการเกิดที่ลดต่ำลงนี้ เป็นผลมาจากการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของจีน ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาทั่วไปของประเทศที่พัฒนาแล้ว เนื่องจากการศึกษาที่พัฒนาขึ้น และการที่ประชาชนต้องให้ความสำคัญกับเรื่องอื่น ๆมากกว่าการมีครอบครัว เช่น อาชีพการงาน ต่างเป็นสาเหตุให้อัตราการเกิดลดน้อยลง โดยประเทศเพื่อนบ้านอย่างญี่ปุ่น ก็มีอัตราการเกิดลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงหลายปีมานี้ ขณะที่ในปีที่แล้ว เกาหลีใต้รายงานจำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่าจำนวนเด็กเกิดใหม่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

จีนมีอัตราการเกิดต่ำมากเป็นประวัติการณ์

อัตราการเกิดที่น้อยลงนำมาซึ่งการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนผู้สูงอายุต่อประชากรวัยทำงาน ซึ่งจากข้อมูลปัจจุบันทำให้คาดได้ว่า ภายในปี 2578 จีนจะมีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มเป็นกว่า 30% ของจำนวนประชากรในประเทศ ซึ่งจะเป็นปัญหาในด้านการจัดสรรสวัสดิการและคนดูแลให้กับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอายุเกษียณต่ำที่สุดในโลก โดยอายุเกษียณของชายชาวจีนส่วนใหญ่อยู่ที่ 60 ปี และ 50 ปีสำหรับผู้หญิง

นโยบายบุตร 3 คนแก้ปัญหาได้จริงไหม

ปัญหาอัตราการเกิดที่ลดต่ำลงนั้นใช่ว่ารัฐบาลจีนจะไม่พยายามแก้ปัญหามาก่อน สังเกตได้จากการเปลี่ยนนโยบายให้คู่สามีภรรยาสามารถมีบุตรได้ 2 คน แต่นโยบายดังกล่าวไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน

แม้ว่านโยบายบุตร 3 คนจะมาพร้อมมาตรการสนับสนุนต่างๆ เช่น ยกระดับบริการดูแลก่อนการคลอดและหลังคลอด พัฒนาระบบดูแลเด็กครบวงจร ลดค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของแต่ละครอบครัว เพิ่มการสนับสนุนด้านภาษีและบ้าน และรักษาสิทธิและผลประโยชน์ของแรงงานหญิง แต่ความพยายามทั้งหมดนี้ก็อาจไม่ใช่คำตอบของปัญหาอยู่ดี

ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน ที่เพศหญิงมีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้นไม่ใช่เพียงแค่เป็นแม่บ้านคอยดูแลลูกเหมือนเช่นในอดีต ทำให้การมีบุตรเพิ่มเป็นปัญหาที่น่าปวดหัวของคู่สามีภรรยาเช่นกัน

ขณะเดียวกัน ผลสำรวจทั่วประเทศในปี 2562 ของจีนในตอนที่ยังเป็นนโยบายบุตร 2 คนอยู่นั้นแสดงให้เห็นว่า สาเหตุหลักที่คู่สามีภรรยาลังเลที่จะมีบุตรคนที่ 2 ได้แก่ ภาระทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น (75%) การขาดแคลนมาตรการดูแลทารก (51%) และผลกระทบต่ออาชีพการงานของตนเอง (34%)

ข้อมูลล่าสุดในปี 2563 แสดงให้เห็นว่า จีนมีอัตราการเจริญพันธุ์อยู่ที่ผู้หญิง 1 คนต่อเด็ก 1.3 คนเท่านั้น ซึ่งเทียบเท่ากับประเทศที่อยู่ในสังคมสูงอายุอย่างญี่ปุ่นและอิตาลี และห่างไกลจากระดับผู้หญิง 1 คน ต่อเด็ก 2.1 คนซึ่งเป็นระดับที่ทำให้ประชากรคงที่

จาง จือเว่ย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของพินพอยต์ แอสเซท แมนเนจเมนท์กล่าวว่า "หลักฐานในประเทศอื่นๆ ชี้ให้เห็นแล้วว่า เมื่ออัตราการเกิดมีแนวโน้มลดลง มันก็เป็นเรื่องยากที่จะแก้ไข และผมคิดว่ารัฐบาลน่าจะเริ่มใช้นโยบายชะลอการเกษียณอายุเพื่อแก้ปัญหาไปก่อน"

ความเห็นจากสังคม

จูเลียน อีแวนส์-พริทชาร์ด นักเศรษศาสตร์จากแคปิตอล อีโคโนมิกส์กล่าวว่า ครอบครัวขนาดเล็กหลอมรวมเป็นหนึ่งกับสังคมจีนแล้ว และผู้กำหนดนโยบายก็ทำอะไรกับเรื่องนี้ไม่ได้มากนัก

ยี่เฟย หลี่ นักสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กเซี่ยงไฮ้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า "การที่ผู้คนมีลูกน้อยไม่ได้เป็นเพราะนโยบาย แต่เป็นเพราะค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูกในปัจจุบันของจีนนั้นสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นค่าบ้าน ค่ากิจกรรมพิเศษ ค่าอาหาร ท่องเที่ยว และจะมีค่าใช้จ่ายต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ส่องที่มา-ที่ไป นโยบาย “ลูก 3 คน”ของจีนยุคใหม่

ทั้งนี้ ความเห็นจากประชาชนจะแตกต่างกันออกไปในเขตเมืองกับเขตชนบท โดยคู่สามีภรรยาที่ทำงานในเมืองนั้นมักจะมีความเห็นไปในทางที่ไม่พร้อมจะมีลูกมากกว่า 1 คน เนื่องด้วยปัญหาค่าใช้จ่ายและเวลาที่ต้องใช้ในการเลี้ยงลูก รวมถึงโอกาสก้าวหน้าในอาชีพการงานที่อาจเสียไปด้วย โดยบางครอบครัวระบุว่ามีลูกเพียงเพื่อให้พ่อแม่สบายใจเท่านั้น

แต่ในทางกลับกัน ประชาชนในแถบชนบทจะเห็นด้วยกับนโยบายนี้มากกว่า เนื่องจากในนโยบายเดิมที่อนุญาตให้มีบุตรได้แค่ 2 คนนั้นจะเรียกเก็บค่าปรับจากครอบครัวที่มีบุตรมากกว่า 2 คน ซึ่งทำให้เกิดคดีฟ้องร้องมาแล้ว และในครั้งนั้นผู้ฟ้องเป็นฝ่ายแพ้ โดยคณะกรรมการอนุญาโตตุลาการระบุว่าผู้ฟ้องละเมิดนโยบายของจีนเอง

ขณะเดียวกัน หลายฝ่ายยังมีการตั้งข้อสงสัยด้วยว่า นโยบายบุตร 3 คนนี้ออกมาเพราะตัวเลขในข้อมูลสำมะโนประชากรล่าสุดนี้ดูน่ากลัวเกินไป ทำให้ต้องรีบผลักดันนโยบายดังกล่าวออกมาหรือไม่

ที่ผ่านมา ปัญหาที่เกิดจากนโยบายบุตร 1 คนของจีนเริ่มจะส่งผลให้เห็นในจีนบ้างแล้ว เช่น เขตรูตงของมณฑลเจียงซู ซึ่งเป็นหนึ่งในรัฐบาลท้องถิ่นแรกๆ ที่บังคับใช้นโยบายบุตร 1 คน ซึ่งส่งผลให้ปัจจุบันประชากรเกือบ 40% ของมณฑลมีอายุไม่ต่ำกว่า 60 ปี และเกือบ 30% มีอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปี

ขณะเดียวกันการที่เด็กเกิดใหม่มีจำนวนลดลง ทำให้หลายโรงเรียนไม่มีนักเรียนเข้าใหม่ แต่ขณะเดียวกันก็มีความต้องการบ้านพักคนชราเพิ่มขึ้น และรัฐบาลท้องถิ่นต้องหานักลงทุนเอกชนมาช่วยเหลือผู้สูงอายุประมาณ 7,000 คนที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้

ดร.ยี่ ฟู่เซียน นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน ให้ความเห็นว่า เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างรวดเร็วและอุตสาหกรรมมากมายทั่วโลกก็ต้องพึ่งพาจีน ถ้าหากประชากรจีนลดลง มันจะเกิดผลกระทบเป็นวงกว้างต่อส่วนอื่น ๆของโลกด้วย

 และปัญหาอัตราการเกิดของจีนอาจส่งผลในวงกว้างกว่าที่คาด หากรัฐบาลจีนหรือรัฐบาลทั่วโลกไม่มีวิธีแก้ปัญหาสังคมผู้สูงอายุที่ยั่งยืนได้

 

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักข่าวอินโฟเควสท์ /รายงาน In Focus

ข่าวที่เกี่ยวข้อง