ยุโรปร้อนระอุทุบสถิติ ฝรั่งเศสสั่งปิด 2 เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์

26 ก.ค. 2562 | 10:43 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

คลื่นความร้อนที่พาดผ่านยุโรป ทำให้หลายประเทศมีอุณหภูมิสูงขึ้นจนถึงระดับ ‘ร้อนทำลายสถิติ’ เช่นที่กรุงปารีส เมืองหลวงของฝรั่งเศส อุณหภูมิสูงสุดที่ต้องบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์คือ 108.6 องศาฟาเรนไฮท์ หรือ 42.5 องศาเซลเซียสเมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2562 ซึ่งถ้าหากเป็นอุณหภูมิของร่างกายก็เข้าขั้น ‘จับไข้’ เนื่องจากอุณหภูมิร่างกายปกติของมนุษย์นั้นอยู่ที่ราวๆ 37-38 องศาเซลเซียสเท่านั้น

ยุโรปร้อนระอุทุบสถิติ ฝรั่งเศสสั่งปิด 2 เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์

ด้านกรมอุตุนิยมวิทยาประเทศอังกฤษ รายงานว่า อุณหภูมิที่วัดได้ที่สนามบินฮีทโธรว์ในกรุงลอนดอน นั้นวัดได้ที่ 98.4 องศาฟาเรนไฮท์ หรือ 36.8 องศาเซลเซียส ถือเป็นสถิติใหม่ ทำให้กรกฎาคมปีนี้กลายเป็นเดือนที่ 'ร้อนที่สุด' ของอังกฤษเช่นกัน ขณะที่อุณหภูมิสูงสุดที่เมืองเคมบริดจ์ ไต่ขึ้นไปสูงถึง 100.5 องศาฟาเรนไฮท์ ( 38 องศาเซลเซียส) นับเป็นครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์ของอังกฤษที่เคยมีการตรวจวัดอุณหภูมิได้ถึงระดับตัวเลข 3 หลัก (เมื่อวัดเป็นองศาฟาเรนไฮท์)   


 

ยุโรปร้อนระอุทุบสถิติ ฝรั่งเศสสั่งปิด 2 เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์

ในช่วงสัปดาห์นี้ ประเทศอื่นๆของยุโรปต่างเผชิญอุณหภูมิความร้อนในระดับทำลายสถิติเช่นเดียวกัน เช่นประเทศเนเธอร์แลนด์ วัดอุณหภูมิสูงสุดได้ที่ 105.3 องศาฟาเรนไฮท์ (40.7 องศาเซลเซียส) เยอรมนี 106.7 องศาฟาเรนไฮท์ (41.5 องศาเซลเซียส) และเบลเยี่ยม 103.8 องศาฟาเรนไฮท์ (39.8 องศาเซลเซียส)

 

ผลพวงของคลื่นความร้อนทำให้สถิติการจมน้ำตายในช่วงนี้ที่ประเทศฝรั่งเศสทะยานสูงขึ้น 30% เมื่อเทียบกับสถิติของปี 2561 และมีรายงานจำนวนผู้เสียชีวิตจากสาเหตุที่เกี่ยวเนื่องทางอ้อมกับคลื่นความร้อนอย่างน้อย 60 คน ซึ่งในจำนวนนั้นหมายรวมถึงการลงไปเล่นน้ำคลายร้อนและจมน้ำ  ส่วนผู้ที่เสียชีวิตจากคลื่นความร้อนทางตรง จากการอยู่ในที่แจ้งและถูกแดดเป็นเวลานานเกินไปจนเกิดอาการลมแดด (heatstroke) อุณหภูมิร่างกายพุ่งสูงและไม่คลายลงจนกระทั่งเสียชีวิต มีรายงานแล้วจำนวน 5 คนเป็นอย่างน้อย นอกจากนี้ ที่เบลเยี่ยมยังมีการเตือนภัยระดับสูงสุดเกี่ยวกับคลื่นความร้อนที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพถึงชีวิต


ยุโรปร้อนระอุทุบสถิติ ฝรั่งเศสสั่งปิด 2 เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์

แม้ในเชิงเศรษฐกิจอาจยังไม่เห็นผลชัดนัก แต่ความร้อนที่ทำให้อุณหภูมิน้ำที่ใช้ในการหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์ปรมาณูในโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แห่งหนึ่งที่ประเทศฝรั่งเศส มีอุณหภูมิสูงจนเกินไป ทำให้ทางโรงงานต้องสั่งปิดการทำงานของ 2 เตาปฏิกรณ์จนกว่าอุณหภูมิจะลดลง  นอกจากนี้ การรถไฟในประเทศอังกฤษยังสั่งให้รถไฟวิ่งด้วยความเร็วที่ช้าลง เพื่อลดอุณหภูมิความร้อนของรางซึ่งหากสูงเกินจะทำให้รางเกิดการขยายตัวและอาจทำให้เกิดอันตรายได้  ข่าวระบุว่า อุณหภูมิความร้อนที่พุ่งสูงยังอาจเป็นสาเหตุทำให้รถไฟยูโรสตาร์ที่กำลังบรรทุกผู้โดยสารกว่า 600 คนเกิดเหตุขัดข้องและต้องหยุดวิ่งขณะอยู่ในอุโมงค์ที่ร้อนอบอ้าวเป็นเวลาถึง 2 ชั่วโมงเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (24 ก.ค.)

 

นักวิเคราะห์กล่าวว่า การที่อุณหภูมิความร้อนพุ่งขึ้นถึงระดับทะลุ 100 องศาฟาเรนไฮท์ในประเทศแถบยุโรปไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ ประชาชนจึงไม่ได้เตรียมพร้อมหรือไม่มีประสบการณ์ในการรับมือกับคลื่นความร้อน นอกจากนี้ อาคารส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการออกแบบให้เผชิญกับอากาศที่ร้อนอย่างรุนแรง ดังนั้น จึงเป็นเรื่องพบเห็นได้ทั่วไปว่ามีอาคารจำนวนมากที่ไม่ได้ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ  ยกตัวอย่างบ้านเรือนในประเทศเยอรมนี มีเพียง 2% เท่านั้นที่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ  สถิติยังพบว่า 72% ของประชาชนในยุโรปอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยอาคารคอนกรีตและถนนราดยางมะตอย ทำให้ตกอยู่ท่ามกลางภาวะที่เรียกว่า heat-trap หรืออยู่ภายในแอ่งกระทะความร้อนทั้งวันทั้งคืน ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเช่นผู้ป่วยความดันสูง จะได้รับผลกระทบมากที่สุด

 

ในปี 2546 เคยเกิดภาวะคลื่นความร้อนแผ่ไปทั่วภูมิภาคยุโรป และครั้งนั้น ได้รับการจดบันทึกไว้ว่าผลกระทบจากอุณหภูมิความร้อนรุนแรงซึ่งใกล้เคียงกับอุณหภูมิในเวลานี้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 70,000 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย