ฝ่ายสนับสนุน Catalexit ชนะการเลือกตั้งท้องถิ่นแคว้นคาตาโลเนีย

22 ธ.ค. 2560 | 11:31 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ฝ่ายสนับสนุน Catalexit ชนะการเลือกตั้งท้องถิ่นแคว้นคาตาโลเนียของสเปน

Event

ผลการนับคะแนนในคืนวันเลือกตั้งที่ 21 ธ.ค. (ตามเวลาสเปน) เผยว่าพรรค Republican Left of Catalonia (ERC), Junts per Catalunya (JuntsXCat) และ Popular Unity Candidacy (CUP) ซึ่งเป็นฝ่ายสนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราชของแคว้นคาตาโลเนียออกจากสเปน (Catalexit) มีคะแนนเสียงรวมกันอยู่ที่ 47.6% และได้ที่นั่งในสภาราว 70 ที่นั่งจากทั้งหมด 135 ที่นั่ง ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนการอยู่ร่วมกับสเปน อย่างพรรค Ciudadanos (Citizens, Cs), Socialists’ Party of Catalonia (PSC) และ People’s Party of Catalonia (PP) มีคะแนนเสียงรวมกันอยู่ที่ 49.3% แต่ได้ที่นั่งในสภาเพียง 57 ที่นั่ง ทั้งนี้ การที่พรรคการเมืองฝ่ายสนับสนุน Catalexit มีที่นั่งในสภาเกินครึ่งส่งผลให้มีความเป็นไปได้สูงที่จะได้เป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลที่ยังคงแนวคิดในการแยกตัวเป็นเอกราชจากสเปนต่อไป

เมื่อวันที่ 27 ต.ค. ที่ผ่านมา Mariano Rajoy นายกรัฐมนตรีของสเปนได้ประกาศใช้มาตรา 155 ตามรัฐธรรมนูญ เพื่อยึดอำนาจการปกครองตนเองจากแคว้นคาตาโลเนียสู่รัฐบาลกลาง โดยประกาศยุบสภาและให้มีการเลือกตั้งใหม่ ภายหลังจากที่ Carles Puigdemont อดีตผู้นำคาตาโลเนียประกาศชัยชนะในการแยกตัวเป็นเอกราชจากสเปน หลังได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในการลงประชามติอย่างผิดกฎหมายเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ทั้งนี้ ชาวคาตาลันส่วนหนึ่งต้องการให้แคว้นแยกตัวเป็นเอกราช เนื่องจาก ไม่พอใจที่ต้องส่งเงินภาษีสูงถึง 16% ให้รัฐบาลกลาง เพื่อนำไปช่วยภูมิภาคอื่นๆ ที่ยากจนกว่า อีกทั้งยังเป็นแคว้นที่มีอัตลักษณ์และภาษาถิ่นของตนเอง ทำให้ชาวคาตาลันจำนวนมากมองว่าตนเองเป็นประเทศที่แยกออกจากส่วนอื่นของสเปน

Analysis

ชัยชนะของฝ่ายสนับสนุน Catalexit เพิ่มความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจสเปน เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงว่ารัฐบาลชุดใหม่จะยังผลักดันให้มีการแยกตัวเป็นเอกราชต่อไป ทั้งนี้ หาก Catalexit เกิดขึ้นจริง จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสเปนอย่างมาก เนื่องจากคาตาโลเนียเป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญ โดยมีขนาดเศรษฐกิจคิดเป็นสัดส่วนราว 20% ของสเปน (ขณะที่เศรษฐกิจสเปนมีสัดส่วน 7.5% ต่อเศรษฐกิจยูโรโซนทั้งหมด) นอกจากนี้ หากคาตาโลเนียออกจากสเปนก็จำเป็นต้องออกจากสหภาพยุโรป (EU) ด้วย ซึ่งจะส่งผลเสียต่อคาตาโลเนียเองเช่นกัน

อย่างไรก็ดี อีไอซีมองว่าความวุ่นวายทางการเมืองครั้งนี้จะไม่นำไปสู่ Catalexit แต่จะสร้างความยืดเยื้อและความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจ (prolonged uncertainty) อีไอซีมองว่ารัฐบาลสเปนจะไม่ยอมให้เกิดการแบ่งแยกแคว้นคาตาโลเนียออกจากสเปน เพราะจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ของสเปนอย่างมาก โดยรัฐบาลสเปนสามารถประกาศใช้มาตรา 155 ตามรัฐธรรมนูญ เพื่อยึดอำนาจการปกครองตนเองจากแคว้นคาตาโลเนียคืนสู่รัฐบาลกลางได้ทุกเมื่อ อย่างไรก็ดี ความวุ่นวายทางการเมืองจากการชุมนุมประท้วงจะสร้างความยืดเยื้อและความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจคาตาโลเนีย ทั้งในด้าน (1) ภาคการผลิตที่ต้องปิดตัวชั่วคราวจากการประท้วง (2) ภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในเมืองบาเซโลนา (3) ความเสี่ยงที่สินค้าจากคาตาโลเนียจะถูกคว่ำบาตรจากสเปน

Implication

ผลกระทบจาก Catalexit จะจำกัดอยู่ในสเปนเท่านั้น อีกทั้งยังไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจยูโรโซนมากนัก แม้ว่าคาตาโลเนียจะแยกตัวออกจากสเปนและสหภาพยุโรปได้จริง ก็จะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจยูโรโซนโดยรวมมากนัก เนื่องจากคาตาโลเนียคิดเป็นเพียง 1.5% ของเศรษฐกิจยูโรโซนเท่านั้น นอกจากนี้ ธุรกิจที่อยู่ในแคว้นคาตาโลเนียยังมีแนวโน้มที่จะย้ายฐานไปอยู่ในเมืองอื่นๆ ของสเปนหากเกิด Catalexit ขึ้นจริง ดังนั้น อีไอซีจึงมองว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะไม่ถูกกระทบจาก Catalexit อย่างมีนัยสำคัญ โดยจะยังเติบโตได้ต่อเนื่องที่ 2.1% ในปี 2018 จาก 2.3% ในปี 2017 ในขณะที่ค่าเงินยูโรก็มีแนวโน้มจะแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยที่ราว 1.20 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อยูโรในปลายปี 2018 จากระดับ 1.18 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อยูโรในปัจจุบัน

ความเสี่ยงอันดับต่อไปของเศรษฐกิจยูโรโซนคือการเลือกตั้งผู้นำอิตาลีในวันที่ 4 มีนาคม 2018 ผลสำรวจ ณ เดือนธันวาคม ชี้ว่าพรรคที่ต่อต้าน EU อย่าง 5-Star Movement (M5S) กำลังมีคะแนนนิยมนำมาเป็นอันดับ 1 ที่ 27.5% ขณะที่พรรค PD ของอดีตนายกรัฐมนตรี Matteo Renzi มีคะแนนเสียงลดลงอยู่ที่ 24.6% ทั้งนี้ ปัญหาเศรษฐกิจที่เรื้อรังของอิตาลี โดยเฉพาะภาคธนาคาร ส่งผลให้คะแนนนิยมของพรรค M5S เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งหากพรรค M5S สามารถครองเสียงข้างมากและจัดตั้งรัฐบาลได้ ย่อมมีการผลักดันให้เกิดการลงประชามติเพื่อถอนตัวออกจาก EU ในระยะต่อไป

โดย : พิมพ์นิภา บัวแสง 
        Economic Intelligence Center (EIC)
        ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ภาพ : สำนักข่าวซินหัว โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6