เอกชนไม่ขัด “เศรษฐา” นั่งนายกฯ หวังแก้หนี้ครัวเรือน-รับมือความท้าทายโลก

06 ส.ค. 2566 | 06:28 น.

ประธานสภาอุตฯ ไม่ขัด “เศรษฐา”นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี มั่นใจใช้ประสบการณ์และสไตล์การทำงานแบบภาคเอกชนขับเคลื่อนประเทศ ฝ่าเศรษฐกิจโลกที่มีความเปราะบางและท้าทายได้ ห่วงหนี้ครัวเรือนพ่วงหนี้นอกระบบพุ่ง 120% ต่อจีดีพี โจทย์ท้าทายฟื้นกำลังซื้อประชาชน

ในการโหวตนายกรัฐมนตรีคนใหม่ หากไม่มีอะไรผิดพลาด พรรคเพื่อไทยเตรียมเสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ต่อที่ประชุมรัฐสภา ขณะที่ยังมีข้อสงสัยจาก สว. และจากหลายฝ่าย หลังนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ออกมาระบุเรื่องมีการหลีกเลี่ยงภาษีจากการประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซึ่งอาจกระทบภาพลักษณ์ในเรื่องจริยธรรมและความซื่อสัตย์ของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

นายเกรียงไกร  เธียรนุกุล  ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้ความเห็นหากพรรคเพื่อไทยจะเสนอชื่อนายเศรษฐา  ทวีสิน เพื่อโหวตเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ต่อที่ประชุมรัฐสภา ว่า นายเศรษฐาเป็นหนึ่งในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่พรรคเพื่อไทยได้เสนอชื่อไว้ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ทั้งนี้นายเศรษฐาถือเป็นนักธุรกิจที่อยู่ในแวดวงอสังหาริมทรัพย์มาเป็นเวลานาน และประสบความสำเร็จ สามารถนำพา บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ที่ตัวเองบริหารอยู่ก่อนหน้านี้ติดอยู่ในท็อป 3 ของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ไทย

ด้วยวิสัยทัศน์ และการทำงานสไตล์เป็นเอกชน มองว่าเหมาะสำหรับการที่จะมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยามที่โลกมีความเปราะบางและมีความท้าทายมากมาย รวมถึงไทยมีปัญหาเศรษฐกิจที่จะต้องขับเคลื่อนประเทศอีกมากที่รอการแก้ไข

สำหรับเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลใหม่ต้องขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหา ได้แก่ การหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทั่วโลกมีปัญหา ส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกไทยติดลบตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว จนถึง ณ ปัจจุบัน 9 เดือนติดต่อกัน (ต.ค.2565-มิ.ย.2566) และคาดส่งออกไทยปีนี้จะมีปัญหาตัวเลขติดลบ -2.0% ถึง 0.0%

ดังนั้นสิ่งที่ต้องเร่งคือ การหาตลาดใหม่ ๆ  เร่งเจรจาในเรื่องการจัดทำความตกลงการค้าเสรี(FTA) ระหว่างไทย-สหภาพยุโรป (อียู) และ FTA ระหว่างไทยกับอีกหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงการช่วยเหลือเอสเอ็มอีทั้งหลาย ที่ขณะนี้ขาดสภาพคล่อง และได้รับผลกระทบจากโควิดมาก่อนหน้านี้และยังไม่ฟื้นตัว

ส่วนเรื่องที่ต้องทำระยะกลางกลางคือ เรื่องโครงสร้างต้นทุนของภาคการผลิต ที่ขณะนี้ต้นทุนของภาคการผลิตทุกอย่างค่อนข้างสูง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่เอกชนพูดมาตลอดว่า ค่าไฟฟ้าของไทยเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคนี้เราแพงกว่า ส่งผลให้สินค้าอุปโภค-บริโภคดาหน้ากันขึ้นราคาจากต้นทุนที่สูงขึ้น กระทบค่าครองชีพของประชาชนสูง ตาม ขณะที่รายได้ยังไม่เพิ่มขึ้น เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข

นอกจากนี้คือการปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก และระยะยาวคือวางโจทย์ของประเทศว่าจะเดินไปในทิศทางอย่างไรที่จะสามารถผ่านพ้นและปรับตัวจากประเทศที่ใช้แรงงานเข้มข้นในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งวันนี้ต้องปรับเปลี่ยนไปสู่อุตสาหกรรมที่มีความยั่งยืน เป็นอุตสาหกรรมสีเขียว และใช้พลังงานสะอาดที่ถือเป็นเทรนด์ของโลก เหล่านี้เป็นภารกิจที่รัฐบาลใหม่ต้องผลักดัน

“เรื่องเร่งด่วนคือการแก้ไขปัญหาปากท้อง เรื่องความเดือดร้อน เรื่องต้นทุน เรื่องค่าครองชีพ และอีกปัญหาใหญ่ คือปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ล่าสุดแบงก์ชาติ(ธปท.)ได้นำหนี้ของสหกรณ์ที่ไม่ใช่สหกรณ์ออมทรัพย์ และหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(หนี้ กยศ.)มารวมด้วย ทำให้หนี้ครัวเรือนของไทย ณ ปัจจุบันพุ่งขึ้นไป 90.6% ต่อจีดีพี แต่ที่น่าเป็นห่วงกว่านั้น ตัวเลขสมาคมธนาคารไทยระบุ คนไทยมีหนี้นอกระบบที่ประชาชนต้องจ่ายดอกเบี้ยแพง และต้องจ่ายดอกเบี้ยทุกวันมีอยู่ในระบบประมาณ 20% เมื่อรวมหนี้ครัวเรือนและหนี้นอกระบบแล้วจะกระโดดขึ้นไปถึง 120% ของจีดีพี เป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ ไม่เช่นนั้นจะกดทับกำลังซื้อ และทำให้คนที่เป็นหนี้สินไม่สามารถจะจ่ายหนี้ได้ในระยะยาว”

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายเรื่องเร่งด่วนที่ทาง ส.อ.ท. และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)ได้ทำเป็นสมุดปกขาวนำเสนอพรรคการเมืองเป็นแนวทางในการดำเนินการหากได้เป็นรัฐบาลไปก่อนหน้านี้ เช่น การช่วยเหลือเอสเอ็มอี การขับเคลื่อน Net Zero เรื่องของ Climate Change  เรื่องคาร์บอนเครดิต การอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ การกิโยตินหรือยกเลิกกฎหมายที่ล้าสมัย การสร้างความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน

การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศด้วยอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็น S-Curve เพื่อทำให้เรา “ทำน้อย ได้มาก” และแข่งขันได้ เรื่องการป้องกัน และหาทางรับมือเอลนีโญที่จะทำให้เกิดภัยแล้งยาวนาน โดยต้องหาแหล่งน้ำสำรอง และการกักเก็บน้ำ เหล่านี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลใหม่เข้ามาแล้วต้องทำทันที ซึ่งภาคเอกชนคงมีโอกาสได้หารือกับรัฐบาลใหม่ในเร็ววัน