ส่องขั้นตอนแก้รัฐธรรมนูญ "นโยบายเพื่อไทย" ลุยตั้ง สสร. หลังแยกทางก้าวไกล

03 ส.ค. 2566 | 02:00 น.

เปิดขั้นตอนแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน หลัง "พรรคเพื่อไทย" ปักธงเป็นนโยบายหลัก หลังฉีก MOU 8 พรรคร่วม ผลักพรรคก้าวไกลพ้นขั้วรัฐบาลเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล ประกาศดันเป็นวาระแห่งชาติ ชงตั้ง สสร.

หลังประกาศแยกทางกับพรรคก้าวไกล ล่าสุดภายใต้การจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยประกาศเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 โดยในแถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทย ระบุไว้ว่า มติแรกของคณะรัฐมนตรี (ครม.) คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้เป็นวาระแห่งชาติโดยจะมีการทำประชามติ และตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร.

หากเปิดรัฐธรรมนูญ 2560 พบว่า มีเงื่อนไขที่น่าสนใจหลายประการ โดยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ระบุ ไว้ในหมวด 15 มาตรา 255 และมาตรา 256 ดังนี้  

มาตรา 255 บัญญัติว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐจะกระทํามิได้

ขณะที่มาตรา 256 บัญญัติว่า ภายใต้บังคับมาตรา 255 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้กระทําได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้

(1) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจาก

  • คณะรัฐมนตรี หรือ
  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จํานวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือ
  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) และสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จํานวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือ
  • ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจํานวนไม่น้อยกว่า 50,000 คนตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย

(2) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภาและให้รัฐสภาพิจารณาเป็น 3 วาระ

(3) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ 

-ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย

-ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาซึ่งในจํานวนนี้ต้องมีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา

(4) การพิจารณาในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลําดับมาตรา 
โดยการออกเสียงในวาระที่สองนี้ ให้ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ แต่ในกรณีที่เป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ประชาชนเป็นผู้เสนอ ต้องเปิดโอกาสให้ผู้แทนของประชาชนที่เข้าชื่อกันได้แสดงความคิดเห็นด้วย

(5) เมื่อการพิจารณาวาระที่สองเสร็จสิ้นแล้ว ให้รอไว้ 15 วัน เมื่อพ้นกําหนดนี้แล้วให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่ 3 ต่อไป

(6) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่ 3 ขั้นสุดท้าย 

-ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย

-ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิก ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา โดยในจํานวนนี้ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จากพรรคการเมืองที่สมาชิกมิได้ดํารงตําแหน่ง รัฐมนตรีประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร

เห็นชอบด้วย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน และมีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา

(7) เมื่อมีการลงมติเห็นชอบตาม (6) แล้ว ให้รอไว้ 15 วัน แล้วจึงนําร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และให้นําความในมาตรา 81 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

(8) ในกรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดํารงตําแหน่งต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออํานาจของศาล หรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทําให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออํานาจได้

ก่อนดําเนินการ ตาม (7) ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จึงให้ดําเนินการตาม (7) ต่อไป

สรุปได้ว่า ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องมาจาก 

1.คณะรัฐมนตรี 

2.สส.จํานวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ หากสภามี สส.ครบ 500 คน จะต้องใช้เสียง สส.100 เสียงในการเสนอญัตติ 

3.สส.และ สว.จํานวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หากรัฐสภามี สส.และ สว.ครบจำนวน 750 คน จะต้องใช้เสียง 150 เสียงในการเสนอญัตติ
4.ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจํานวนไม่น้อยกว่า 50,000 คน

ขั้นตอนในรัฐสภา 

วาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ

ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบ ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หากรัฐสภามี สส.และสว.ครบจำนวน 750 คน จะต้องใช้เสียง 376 เสียง และในจํานวนนี้ต้องมี สว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่  หากมี สว.ครบ 250 คน จะต้องได้เสียงเห็นชอบจาก สว.จำนวน 84 เสียงขึ้นไป  

วาระที่ 2 ขั้นพิจารณา

ให้ถือเสียงข้างมากเป็นหลัก โดยเมื่อพิจารณาวาระที่ 2 เสร็จแล้ว ให้รอ 15 วัน ก่อนให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่ 3 

วาระที่ 3 ขั้นพิจารณา

ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิก ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หากรัฐสภามี สส.และสว.ครบจำนวน 750 คน จะต้องใช้เสียง 376 เสียง

ในจํานวนนี้ต้องมี สส.จากพรรคการเมืองที่สมาชิกมิได้ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรี (รมต.) ประธานสภาฯ หรือรองประธานสภาฯ  เห็นชอบด้วย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน และมี สว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ หากมี สว.ครบ 250 คน จะต้องได้เสียงเห็นชอบจาก สว.จำนวน 84 เสียงขึ้นไป