เนชั่นโพล : เลือกตั้ง66 คนไทยอยากให้รัฐบาลใหม่ “ลดค่าครองชีพ” มากที่สุด

05 พ.ค. 2566 | 07:59 น.

“เนชั่นโพล” ชี้ ปัญหาปากท้องสำคัญที่สุด ถามคนไทยอยากให้ “รัฐบาลใหม่” แก้ปัญหา/พัฒนาเรื่องใดมากที่สุด อันดับ1 นำลิ่วคือ “ลดค่าครองชีพ” ตามด้วย “สร้างงาน/เพิ่มรายได้”

 

ในการจัดทำ “เนชั่นโพลเลือกตั้ง 66” ครั้งที่ 2 เกี่ยวกับ สิ่งที่คนไทยอยากให้รัฐบาลใหม่แก้ปัญหา/พัฒนาเรื่องใดมากที่สุด ซึ่งเป็นการสำรวจห่างจากเนชั่นโพลรอบแรกสองสัปดาห์ ผลการสำรวจทั้งสองครั้งออกมาใกล้เคียงกัน โดยคนไทยผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งแสดงความเห็นว่า พวกเขาต้องการให้รัฐบาลใหม่ “ลดค่าครองชีพ” ไม่ว่าจะเป็นราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ค่าเดินทาง ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าแก๊ส ฯลฯ เป็นอันดับหนึ่ง

  • โดยในการสำรวจครั้งแรกและครั้งที่สองมีผู้ตอบเรื่อง ลดค่าครองชีพ เป็น อันดับหนึ่ง ที่ 46.23% และ 35.8% ตามลำดับ แม้สัดส่วนจะลดลงมา แต่ก็ยังครองอันดับหนึ่ง
  • รองลงมาเป็น อันดับสอง ประชาชนอยากเห็นรัฐบาลใหม่ “สร้างงาน/เพิ่มรายได้/ฝึกอาชีพ” ให้พวกเขามากที่สุด (ครั้งที่หนึ่ง 20.92% / ครั้งที่สอง 20.06%)
  • อันดับสาม “แก้ปัญหาหนี้สิน” (12.75% / 12.27%)
  • อันดับสี่ “พัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน ประปา/ไฟฟ้า/ถนน,ขนส่ง/ระบบสื่อสาร/สวนสาธารณะ ฯลฯ” (5.03% / 6.75%)
  • อันดับห้า “แก้ปัญหาสิ่งเสพติด” (3.97% / 5.99%)
  • อันดับหก “พัฒนาด้านการศึกษา” (2.81% / 5.15%)
  • อันดับเจ็ด เป็นต้นไป มีความแตกต่างระหว่างการสำรวจครั้งที่หนึ่งและสอง โดยในการสำรวจครั้งที่หนึ่ง สิ่งที่คนไทยอยากให้รัฐบาลใหม่แก้ปัญหา/พัฒนา เป็นอันดับเจ็ด คือ “จัดสรรที่ดินทำกิน/ที่ค้าขาย” (2.53%) ขณะการสำรวจครั้งที่สอง อันดับเจ็ด คือ “พัฒนาบริการสาธารณสุขและดูแลสุขภาพประชาชน (4.55%)
  • อันดับแปด การสำรวจครั้งที่หนึ่งและครั้งที่สองตอบเหมือนกัน คือ “ดูแลผู้สูงอายุ คนด้อยโอกาส ฯลฯ” (2.09% / 3.75%)
  • อันดับเก้า การสำรวจครั้งที่หนึ่งและครั้งที่สองตอบเหมือนกัน คือ “พัฒนาที่อยู่อาศัย มีที่อยู่อาศัย/ปลอดภัย” (1.97% / 2.93%)
  • อันดับสิบ การสำรวจครั้งที่หนึ่ง “พัฒนาบริการสาธารณสุขและดูแลสุขภาพประชาชน (1.71%) การสำรวครั้งที่สอง “จัดสรรที่ดินทำกิน/ที่ค้าขาย” (2.74%)

เนชั่นโพล: สิ่งที่คนไทยอยากให้รัฐบาลใหม่แก้ปัญหา/พัฒนามากที่สุด

ทั้งนี้ การจัดทำเนชั่นโพลครั้งที่ 2 ประกาศผลสำรวจ ณ วันที่ 5 พ.ค.2566 สำรวจโดยใช้ตัวอย่างทั้งสิ้น จำนวน 115,399 ตัวอย่าง แบ่งเป็น กทม.จำนวน 35,969 ตัวอย่าง และภูมิภาค 79,430 ตัวอย่าง (การสำรวจในต่างจังหวัด 367 เขต ทีมลงพื้นที่สำรวจระหว่าง 24 เม.ย. - 3 พ.ค. และการสำรวจใน กทม. 33 เขต ทีมลงพื้นที่สำรวจระหว่าง 28 เม.ย. - 3 พ.ค. มีค่าความคลาดเคลื่อน (error) ดังนี้ กทม.33 เขต = 3% , เขตเมืองสำคัญต่างจังหวัด 8 เขต = 5% , เขตเลือกตั้ง 359 เขต = 7%)