สนธิญา-แกนนำพิราบขาว ชี้"พิธา" ขาดความชอบธรรมปมถือหุ้นไอทีวี

29 พ.ค. 2566 | 07:53 น.

สนธิญา-แกนนำพิราบขาว ชี้"พิธา" ขาดความชอบธรรมปมถือหุ้นไอทีวี จี้เคลียร์ตัวเองก่อนนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี โต้พระพยอมปัญหาอยู่ที่รัฐธรรมนูญกำหนดที่มาส.ส. ใครที่มีลักษณะต้องห้ามจะลงสมัครเลือกตั้งไม่ได้ 

นายสนธิญา สวัสดี เปิดเผยถึงการให้ถ้อยคำกรณีต่อขอให้ตรวจสอบการถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่า ไม่ได้เป็นผู้ร้องหลัก แต่ยื่นขอให้ กกต.ระบุระยะเวลาในการตรวจสอบเรื่องนี้ว่าจะใช้เวลาเท่าใด 

โดยได้คำตอบว่าจะทำคดีให้เสร็จหลังรับรองส.ส.แล้ว และจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ตนต้องการให้ กกต.ดำเนินการในเรื่องนี้ให้เสร็จก่อนการประกาศรับรองผล เพราะเชื่อว่ากระบวนการตรวจสอบคุณสมบัตินายพิธา จะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน

นายสนธิญา บอกด้วยว่า ขอชี้แจงไปถึงประชาชน และกราบนมัสการไปถึงพระพยอม กัลยาโณ ว่าการที่ออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องดังกล่าวนี้ ปัญหาอยู่ที่รัฐธรรมนูญกำหนดที่มาของส.ส.ไว้ในมาตรา 98 รวม 18 วงเล็บ ใครที่มีลักษณะต้องห้ามดังกล่าวจะไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ 

ซึ่งการห้ามถือหุ้นอยู่ใน (3) โดยนายพิธา มีปัญหาเรื่องการถือหุ้น และกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าให้ถือได้มากน้อยแค่ไหน แต่ระบุห้ามถือหุ้น ซึ่งต้องการจะเรียกร้องไปยังพรรคก้าวไกลและนายพิธา ที่วันนี้ขาดความชอบธรรมที่จะถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะกกต.อยู่ระหว่างการตรวจสอบผู้ที่ได้รับเลือกตั้ง 

หากมีการประกาศรับรองครบ 95 % เปิดประชุมสภา เลือกประธานสภา และนายกรัฐมนตรี เชื่อว่ากระบวนการนี้จะคู่ขนานกับการที่กกต.จะส่งเรื่องของนายพิธา ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย 

"ตนเชื่อว่าถึงเวลานั้นหากนายพิธา เป็นผู้ที่ประชุมรัฐสภามีมติเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ถามว่าประธานสภาไม่ว่าจะมาจากพรรคการเมืองไหนจะกล้าทูลเกล้า ชื่อนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีหรือ ถึงเวลานั้นประเทศไทยจะอยู่ในช่องว่างของอำนาจ เพราะข้อเท็จจริงการจะทูลเกล้า ควรต้องอยู่หลังจากศาลธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องนี้เสร็จสิ้นไปแล้ว"

นายสนธิญา ยืนยันว่า ไม่ใช่เรื่องของการกลั่นแกล้ง ชอบไม่ชอบ เกลียดไม่เกลียด หรือไม่มีเมตตาธรรม แต่เป็นเพราะนายพิธา และพรรคก้าวไกล ไม่ดำเนินการจัดการตัวเองให้มีคุณสมบัติถูกต้องตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดจึงไม่มีสิทธิที่จะลงสมัครเป็นส.ส.เรื่องมีอยู่เท่านี้เป็นการไม่ทำตามบทบัญญัติที่หมายกำหนด

ส่วนประเด็นที่ว่ามีการมองว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้บิดเบี้ยวหรือไม่นั้น มองว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติของประชาชน 17 ล้านเสียง เพราะฉะนั้นถ้าบอกว่าบิดเบี้ยวก็ไม่รู้ว่าเป็นใครฝ่ายไหนที่คิดเช่นนั้น และรัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้ตั้งแต่ปี 2560 รวมระยะเวลา 4 ปี พรรคก้าวไกลก็อยู่ในสภาทำไมไม่แก้ไข

รวมทั้งมองว่ากรณีดังกล่าวจะทำให้ทั้งฝ่ายที่สนับสนุน และฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการที่ให้นายพิธา จะเป็นนายกรัฐมนตรีก่อนการตรวจสอบคุณสมบัติเสร็จสิ้นออกมาชุมนุม แต่อยากให้ทั้งสองฝ่ายมองว่าบ้านเมืองต้องอยู่ด้วยกฎหมาย
 

นายนพรุจ วรชิตวุฒิ อดีตแกนนำพิราบขาว2006 เข้าให้ถ้อยคำต่อกกต.ในกรณีเดียวกัน ระบุว่า นายพิธา หมดสิทธิสมัครส.ส. ตั้งแต่ปี 2562 เพราะขณะนั้นก็ถือหุ้นไอทีวีแล้ว และต่อมานายพิธา ยังมาเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกลมาสมัครส.ส. ครั้งนี้ รวมถึงเซ็นรับรองส่งสมาชิกพรรคลงสมัคร แสดงให้เห็นถึงเจตนา ซึ่งถือว่าเสี่ยงที่ถูกจำคุกมาก เพราะถือว่ามีเจตนาที่จะกระทำความผิด 

ซึ่งทั้งในพิธา และบรรดาผู้สมัครของพรรคจะต้องถูกดำเนินคดีอาญาตามมาตรา 151 คือ รู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิสมัครแต่ยังคงลงสมัคร มีโทษ 1-10 ปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และถูกตัดสิทธิทางการเมือง 20 ปี

"รัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) ห้ามผู้สมัครส.ส.ถือหุ้น การถือหุ้นแม้แต่หุ้นเดียวก็ซวยแล้ว มีตัวอย่างผู้สมัครส.ท.ลงสมัครแต่ถูกตัดสิทธิเพราะถือหุ้นเพียงหุ้นเดียว ทั้งที่ไม่ได้มีเจตนาแต่คำว่าเผลอเรอหรือลืม ใช้ไม่ได้ในทางกฎหมายดังนั้นพิธาถือหุ้นไอทีวีมาตั้งแต่ปี 2551 ในทางกฎหมายถือว่าความผิดของนายพิธาสมบูรณ์แล้ว" 

อย่างไรก็ดี ส่วนที่มีการพูดว่าให้นายพิธา ทำงานไปก่อน ส่วนตัวเห็นว่าถ้าเรายึดตามกฎหมู่ก็ให้ทำงานไปก่อนได้ และถ้ายึดกฎหมายก็ต้องเอากฎหมายมาก่อน หรือการบอกว่าการที่นายพิธา ถูกเล่นงานในเรื่องนี้เพราะกฎหมายบิดเบี้ยว ก็ต้องไปแก้กันในขั้นตอนของสภา แต่ไม่ใช่เอากฎหมู่มาบังคับ