เลือกตั้ง 2566  ใบเหลือง-ใบส้ม-ใบแดง-ใบดำ กกต.แจกเมื่อไหร่  กรณีใด

15 พ.ค. 2566 | 20:11 น.

ใบเหลือง-ใบส้ม-ใบแดง-ใบดำ คืออาวุธปราบทุจริตเลือกตั้งของกกต. ชักออกมาแจกเมื่อไหร่ ใครทำทุจริตไว้มีหนาว แต่ละใบมีความหมายและการใช้แตกต่างกัน

 

ใน การเลือกตั้ง ทุกครั้งไม่ว่าจะเป็นระดับท้องถิ่น หรือระดับประเทศ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะตรวจสอบผลคะแนนก่อนประกาศผลรับรองการเลือกตั้งให้ผู้สมัครแต่ละราย ซึ่งระหว่างนั้น หากพบ การทุจริต ทั้งก่อนการเลือกตั้งหรือระหว่างการเลือกตั้ง กกต. ก็สามารถดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อระงับยับยั้งการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตนั้น โดย การแจกใบเหลือง ใบส้ม หรือยื่นให้ศาลดำเนินการแจก ใบแดง  ใบดำ แก่ผู้กระทำการทุจริตได้

เรามาทำความรู้จักความหมายและกติกาการแจก “อาวุธปราบทุจริตเลือกตั้ง” ว่าแต่ละใบ แต่ละสี ใช้ในกรณีไหน และมีโทษที่รุนแรงแตกต่างกันอย่างไร ดังนี้

ใบเหลือง

หากแจกก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง หมายความว่า กกต.พบเหตุต้องสงสัย หรือพบการทุจริตก่อนหรือระหว่างการเลือกตั้ง กกต.มีอำนาจสั่งระงับยับยั้ง แก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกการเลือกตั้ง แล้วสั่งให้ดำเนินการเลือกตั้งใหม่ หรือนับคะแนนใหม่ในหน่วยเลือกตั้งบางหน่วยหรือทุกหน่วยเลือกตั้งได้

หากแจกหลังประกาศผลการเลือกตั้ง หมายความว่า กกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งมีการทุจริต และไม่ชัดว่าเป็นการกระทำของผู้ได้รับเลือกตั้งหรือไม่ กรณีนี้ กกต.จะยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อพิจารณาสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่สำหรับเขตเลือกตั้งนั้น

ใบส้ม

แจกก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง เมื่อกกต.มีหลักฐานว่า มีผู้สมัครกระทำการทุจริตการเลือกตั้ง กกต.จะระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครที่ทำผิดนั้น ไม่เกิน 1 ปี และสั่งให้เลือกตั้งใหม่เฉพาะกรณีผู้กระทำผิดนั้น เป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง

ใบแดง

แจกหลังประกาศผลการเลือกตั้ง เมื่อกกต.มีหลักฐานควรเชื่อได้ว่า ผู้สมัครมีส่วนร่วมหรือกระทำทุจริตการเลือกตั้ง ให้กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อพิจารณา เพิกถอนสิทธิการสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครที่ทำผิด แล้วสั่งให้เลือกตั้งใหม่ได้

ใบดำ

แจกหลังประกาศผลการเลือกตั้ง กกต.จะยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อพิจารณา ผู้ใดที่ถูกศาลสั่งตัดสิทธิ จะไม่สามารถสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต

ใบเหลือง-ใบส้ม-ใบแดง-ใบดำ คืออาวุธปราบทุจริตเลือกตั้งของกกต.

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. แถลงข่าวเมื่อวันจันทร์ (15 พ.ค.) อธิบายเกี่ยวกับการเตรียมประกาศผลการเลือกตั้ง 2566 และการรับแจ้งเรื่องร้องเรียนการเลือกตั้ง ว่า

กกต.มีหน้าที่ต้องประกาศผลการเลือกตั้งผ่านระบบ 10 วันนับตั้งแต่วันเลือกตั้ง กระบวนการนี้ใช้เวลามากน้อยเพียงใด ประการแรกขึ้นอยู่กับตรวจสอบผลการลงคะแนนก่อน หลังจากนั้นดูว่ามีข้อร้องเรียนอะไรที่จะทำให้ กกต.ต้องมาพิจารณาว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมาสุจริตและเที่ยงธรรม หรือต้องให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือไม่

ส่วนการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ต้องทำภายใน 60 วัน หาก กกต.นับคะแนนอย่างเป็นทางการแล้วเสร็จ ก็ต้องดูว่า การเลือกตั้งเมื่อ 14 พ.ค.มีสิ่งไหนไม่สุจริต ไม่เที่ยงธรรม ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และให้ กกต.พิจารณาว่าควรจัดเลือกตั้งใหม่ในหน่วยนั้น หรือเขตนั้นหรือไม่

ในส่วน คำร้องเรียนการกระทำผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา (จนถึงเวลา 09.00 น.ของวันที่ 15 พ.ค.2566) ได้รับรายงานทั้งหมด 168 เรื่อง แบ่งเป็น

  • เรื่องซื้อเสียง 59 เรื่อง
  • หลอกลวงใส่ร้าย 58 เรื่อง
  • เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ 18 เรื่อง
  • นอกนั้น อื่น ๆ 33 เรื่อง เช่น การฝ่าฝืนกฎหมายการเลือกตั้งและพรรคการเมืองหลายมาตรา

อย่างไรก็ดีหากเทียบกับการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ที่มียื่นร้องเรียนทั้งหมด 552 เรื่อง ก็หวังว่า จะได้เห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ ของการมีส่วนร่วมทางการเมือง

ส่วนการรายงานเหตุการณ์ในวันเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 พบมีการฉีกบัตรเลือกตั้ง 24 ราย จำหน่ายสุราช่วงกฎหมายห้าม 7 ราย และการถ่ายรูปบัตรที่ให้เห็นเครื่องหมายลงคะแนน 4 ราย