บัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรมาถึงแล้วทั้งหมด มีผู้ใช้สิทธิกว่า 83%

13 พ.ค. 2566 | 12:17 น.

บัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรทั้งหมดเดินทางถึงมือคณะกรรมการ 3 ฝ่ายแล้ว มีผู้ใช้สิทธิ 83.37% จากที่ลงทะเบียนขอใช้สิทธิไว้ 115,196 คน

 

นายณรงค์ บุญเสถียรวงศ์ รองอธิบดีกรมการกงสุล เปิดเผยในการแถลงข่าวที่กระทรวงการต่างประเทศเมื่อวันที่ 12 พ.ค.2566 เกี่ยวกับการจัด การเลือกตั้งทั่วไปนอกราชอาณาจักรปี 2566 ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เปิดให้ ประชาชนที่อาศัยอยู่นอกราชอาณาจักรไทย สามารถรักษาสิทธิของตนเองในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) โดยการยื่นเอกสารขอลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าไปยังสถานทูตไทยประจำประเทศที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งพำนักอยู่

ซึ่งการจัดเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในครั้งนี้สำเร็จลุล่วงด้วยดี โดยในช่วงเช้าของวันศุกร์ (12 พ.ค.) ถุงเมล์ทางการทูตที่นำส่งบัตรเลือกตั้งถุงสุดท้ายจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโก ได้เดินทางมาถึงประเทศไทยแล้ว

ในขั้นตอนต่อไป จะมีการตรวจรับบัตรเลือกตั้งโดยเจ้าหน้าที่ของ คณะกรรมการ 3 ฝ่าย ได้แก่

  • กระทรวงการต่างประเทศ
  • สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
  • และบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท.)

ก่อนที่จะส่งไปยังหน่วยเลือกตั้งของบัตรต่อไป

มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร 83.37%

ในปีนี้ (2566) มีผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรจำนวนทั้งสิ้น 115,196 คน แต่มีผู้มาลงคะแนนเสียงจำนวน 96,043 คน คิดเป็นร้อยละ 83.37 ของยอดผู้ลงทะเบียนทั้งหมด ถือเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิที่ลดน้อยลงเมื่อเทียบกับการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ซึ่งครั้งนั้นมีผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งสิ้น 119,332 คน และมีผู้ใช้สิทธิ 110,003 คน คิดเป็นร้อยละ 92.18

สำหรับ ประเทศที่มีผู้ใช้สิทธิมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่

  1. ออสเตรเลีย (15,204 คน)
  2. สหรัฐอเมริกา (13,061 คน)
  3. สหราชอาณาจักร (6,650 คน)
  4. ญี่ปุ่น  (6,953 คน)
  5. และเยอรมนี (5,638 คน)

ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศให้ความสำคัญกับการจัดเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร และยินดีที่ตอนนี้บัตรเลือกตั้งทั้งหมดจากนอกราชอาณาจักรถึงมือของคณะกรรมการ 3 ฝ่ายแล้ว นับตั้งแต่ถุงเมล์การทูตถุงแรกมาถึงเมื่อวันที่ 28 เม.ย.2566 และถุงสุดท้ายมาถึงเมื่อวันที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยในโอกาสนี้ ทางกระทรวงได้ขอบคุณหน่วยงานในคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ซึ่งมีการประสานงานอย่างใกล้ชิดในระดับปฏิบัติ ทั้งยังขอบคุณประชาชนทุกคนที่ให้ความสำคัญและติดตามการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรอย่างใกล้ชิด ตลอดจนขอขอบคุณหน่วยงานภายในกระทรวงโดยเฉพาะสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ของไทยทุกแห่งที่ได้ร่วมแรงร่วมใจจนประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ซึ่งมีถึง 15 แห่งที่ต้องส่งเจ้าหน้าที่เดินทางมาส่งบัตรเลือกตั้งถึงประเทศไทยด้วยตนเอง

เตรียมนำระบบ i-Vote มาใช้ในอนาคต

รองอธิบดีกรมการกงสุล ยังกล่าวถึงโครงการในอนาคตด้วยว่า ในการจัดเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรครั้งถัดไป ทางกระทรวงจะพิจารณาเสนอแนะให้มีการนำ ระบบ i-Vote (ไอ-โหวต) มาใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน และให้สอดคล้องกับการก้าวไปสู่การเป็น e-Government ของรัฐบาล

โดย i-Vote สามารถใช้ระบบ blockchain เข้ามาช่วยในการบันทึกขั้นตอนการลงทะเบียนและการออกเสียงลงคะแนนตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ระบบการยืนยันตัวตนและการรักษาความปลอดภัย ซึ่งกรมการกงสุลก็หารือกับ กกต. อยู่ด้วยแล้ว

ทั้งนี้ ระบบเฝ้าติดตามการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร (Overseas Voting Monitoring System: OVMS) มีประโยชน์อย่างยิ่งในการสนับสนุนและกำกับดูแลกระบวนการจัดเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร เนื่องจากสามารถลดปัญหาข้อผิดพลาดจากผู้ปฏิบัติ และอำนวยประโยชน์ให้ส่วนกลางกำกับได้ โดยเฉพาะการติดตามสถานะของบัตรเลือกตั้ง รวมถึงการตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ และการจัดระบบงานให้ทีมงานทั่วโลกสามารถรายงานผลการดำเนินงานได้โดยเร็ว